เปิดกฎหมายความผิดฐานไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ปรับ 100 บาท หรือจำคุก 1 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ

การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 มาตรา 6 และมาตรา 15 ประกอบพระราชกฤษฎีกาวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 มาตรา 6 (3)

 

ทั้งนี้รองศาสตราจารย์ประสิทธิ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว หากไม่มีกฎหมายอื่นใดมาลบล้างกฎหมายที่บัญญัติไว้ แม้จะเก่าเพียงใดก็ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ อย่างไรก็ตาม ต้องศึกษาโดยละเอียดอีกครั้งว่า กฎหมายดังกล่าวมีการบัญญัติเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงหรือลบล้างภายหลังหรือไม่

 

สำหรับกฎหมายที่ระบุวิธีปฏิบัติเพื่อเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีและฐานความผิด มีรายละเอียดดังนี้

 

พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485

 

มาตรา 6 วัฒนธรรมซึ่งบุคคลจักต้องปฏิบัติตาม นอกจากจะได้กำหนด ไว้โดยพระราชบัญญัติแล้ว ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาได้ในกรณีดังต่อไปนี้

1. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการแต่งกาย จรรยาและมารยาท ในที่สาธารณสถานหรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน

2. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติตนและการปฏิบัติต่อ บ้านเรือน

3. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการประพฤติตนอันเป็นทางนำมา ซึ่งเกียรติของชาติไทย และพระพุทธศาสนา

4. ความมีสมรรถภาพและมารยาทเกี่ยวกับวิธีดำเนินงานอาชีพ

 

มาตรา 15* ผู้ใดฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 6 มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

*[มาตรา 15 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2486]

 

พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 

 

มาตรา 6 บุคคลทุกคนจักต้องเคารพตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณี คือ

 

(1)  เคารพธงชาติเวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา ทุกวันพร้อมกัน

 

(2)  เคารพธงชาติ ธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ เมื่อชักขึ้นหรือลงประจำสถานที่ราชการ เมื่อเชิญมาตามทางราชการ หรืออยู่กับที่ประจำแถวหรือหน่วยทหาร ยุวชนทหาร หรือลูกเสือ

 

(3) เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการ ในงานสังคม หรือในโรงมหรสพ

 

 

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวออกมาในยุครัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีกฎหมายกำหนดการปฏิบัติตัวของประชาชนและการธำรงรักษาวัฒนธรรมอันดีของชาติเป็นจำนวนหลายฉบับได้แก่

 

 ประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่องวัฒนธรรมของผัวเมีย    

 ประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติว่าด้วยระเบียบการเคารพของคนไทย    

 ประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่องระเบียบการใช้บัตรชื่อ    

 เรื่อง การแต่งกายและมารยาทเกี่ยวกับวิธีดำเนินงานอาชีพ    

 ประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่องเครื่องแต่งกายของผู้ประกอบงานอาชีพบางจำพวก    

 ประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่องระเบียบการบริโภคอาหาร    

 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดการพิธีสมรสของคนไทย    

 ประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดการพิธีสมรสของคนไทย    

 เรื่องการโดยสารรถประจำทาง    

 ประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ว่าด้วยพิธีศพ    

 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการปฎิบัติของผัวเมีย   

 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๑๒ เรื่อง การช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชราหรือทุพพลภาพ    

 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๑๑ เรื่องกิจประจำวันของคนไทย    

 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๑๐ เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย        

 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๙ เรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี    

 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ ๘ เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี 

   

 พระราชกฤษฎีกา

 พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๙๕    

 พระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมเกี่ยวกับการแสดงละคร พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ.๒๔๘๙    

 พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗     

 พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๘๖     

 พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๘๕     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท