Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากกรณีที่นายนวมินทร์ วิทยกุล อายุ 40 ปี ฟ้องนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง และนางสาวชุติมา เพ็ญภาค เนื่องจากทั้งคู่ไม่ได้ยืนขึ้น เมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ("ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี") ซึ่ง นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง และเพื่อน มีกำหนดจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ที่ สน.ปทุมวันในเวลา 13.30น. วันนี้ (22 เม.ย.51)

ล่าสุด (22 เม.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 13.15น. ที่หน้า สน.ปทุมวัน นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรศัพท์ติดต่อมายังทนายของเขา เพื่อขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาจากเวลา 13.30น. เป็นเวลา 16.30น. วันเดียวกัน

จากนั้น นายโชติศักดิ์ ได้อ่านแถลงการณ์ (อ่านฉบับเต็มที่ด้านล่าง) โดยยืนยันว่า การที่ไม่ยืนนั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด

"การกระทำที่แตกต่างกัน เช่น การยืนและไม่ยืนเมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้เป็นปัญหา แต่การไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น การไม่เคารพความแตกต่างด้วยการทำร้ายร่างกายหรือฟ้องร้องด้วยกฎหมายครอบจักรวาลต่างหากที่เป็นปัญหา" นายโชติศักดิ์ กล่าว

เขากล่าวว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีธรรมดา ข้อกล่าวหาลักษณะนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจำนวนมาก กลุ่มการเมืองทุกกลุ่มก็ล้วนแต่หยิบกฎหมายนี้มาใช้เพื่อโจมตีกัน บางครั้งคนธรรมดาอย่างเขาก็โดนไปด้วย และยังมีการตีความตัวกฎหมายกว้างออกไปเรื่อยๆ ด้วย จึงได้ตัดสินทำการรณรงค์แคมเปญ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ขึ้น โดยหวังว่า จะทำให้การไม่ยืนเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ส่วนกรณีที่นายโชติศักดิ์ และเพื่อนได้แจ้งความกับนายนวมินทร์ วิทยกุล คนละ 4 ข้อหา ได้แก่ 1.ดูหมิ่นซึ่งหน้า 2.ร่วมกันทำร้ายร่างกาย 3.ทำให้เสียทรัพย์ 4.ร่วมกันบังคับข่มขืนใจให้กระทำ หรือไม่กระทำการ  นั้น นายโชติศักดิ์กล่าวว่า ไม่ทราบความคืบหน้าของคดี เนื่องจากหลังจากตรวจร่างกายหลังจากวันเกิดเหตุหนึ่งวัน (21 ก.ย.50) และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกไปสอบปากคำ 1 ครั้ง หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ อีก   

ต่อมาเวลาประมาณ 16.20น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พานายโชติศักดิ์และเพื่อนไปที่ชั้นสองของ สน.ปทุมวัน และไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วม โดยให้เหตุผลว่า เป็นการสอบปากคำ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ทางตำรวจจะไม่แถลงข่าวเกี่ยวกับคดีนี้ 

อนึ่ง ที่เว็บไซต์ http://www.petitiononline.com/Chotisak/petition.html มีการเขียนข้อความให้กำลังใจนายโชติศักดิ์และเพื่อน โดยระบุว่า ขอให้กำลังใจนายโชติศักดิ์ และเพื่อนในการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด และไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปิดกั้นการแสดงออกของบุคคล ประหนึ่งว่าคนเหล่านั้นเป็นอาชญากร ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มีความคิดเห็น หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ไม่ว่าความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองดังกล่าว จะเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะเชื่อว่า ความคิดเห็นหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันไม่ใช่อาชญากรรม  แต่เป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องรักษาไว้ โดยขณะนี้มีผู้ลงชื่อร่วมให้กำลังใจจำนวน 100 กว่ารายชื่อ

 

"ยาม" รายงาน แก๊งหมิ่นสถาบันพล่านเต็มเว็บเครือข่าย "แม้ว"

ด้านเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานในพาดหัว  "ยามฯ" แฉ "นายใหญ่" จ้องปลด "หมัก" - แก๊งหมิ่นสถาบันพล่านเต็มเว็บเครือข่าย "แม้ว"  ว่า รายการยามเฝ้าแผ่นดิน ซึ่งออกอากาศทางเอเอสทีวี ได้รายงานข่าวกรณีของนายโชติศักดิ์ โดยกล่าวถึงการเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในความผิด ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่อพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง 1 ในแกนนำเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ว่า เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สอดคล้องกับการตั้งข้อสังเกตถึงการเสนอข่าวเนปาลของ เอ็นบีทีเมื่อวันก่อน

โดยนายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบบสรรหา ผู้ดำเนินรายการ แสดงความเห็นกรณีนายโชติศักดิ์แจกแถลงการณ์ 2 ฉบับ ซึ่งอ้างถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ว่า สิทธิเสรีภาพในการคิดต่างนั้นมีได้ แต่การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นต้องมีกติกากันตามสมควร

"กรณีของนายโชติศักดิ์ ไม่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ทั่วไป คงจะระมัดระวังกันพอสมควร อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวนี้ถูกเผยแพร่เว็บไซต์ของกลุ่มเครือข่ายแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เป็นที่ฮือฮาตั้งแต่ปี 2550 มีการโพสต์ข้อความลงในกระทู้ในเว็บไซต์หลายแห่งหนึ่งโดยเฉพาะในกลุ่มเครือข่ายของผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"

"นายโชติศักดิ์นั้นมีชีวิตและอุดมการณ์ที่ตรงกับ นปก. ขณะเดียวกันยังให้สัมภาษณ์เปิดใจกับเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา มีการโพสต์ข้อความท้ายบทสัมภาษณ์ที่ดูจะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมายค่อนข้างสูง"

นอกจากนี้ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า หากย้อนไปวันเกิดเหตุเมื่อวันที่ 20 กันยายนปีที่แล้ว นายโชติศักดิ์ สวมใส่เสื้อสีแดง เป็นสีที่กลุ่ม นปก.และเครือข่ายแนวร่วมใช้ในการรณรงค์ต่อต้านรัฐประหาร พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า ลักษณะพิเศษเฉพาะของไทยคือ เมื่อพูดถึงประชาธิปไตย ต้องเน้นย้ำถึงระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข แต่ในระยะ 1-2 ปี มีกระแสการเคลื่อนไหวของนักวิชาการ และกลุ่มคนใกล้ชิดพรรคไทยรักไทย แนวร่วม นปก.เสนอระบอบประชาธิปไตยเฉยๆ หรือประชาธิปไตยของปวงมหาประชาชน พร้อมด้วยการสอดแทรกบทความตัวอย่างรูปแบบของระบอบดังกล่าวสู่สาธารณชน โดยเห็นว่าสถาบันองคมนตรีไม่มีความจำเป็น มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เพียงพอแล้ว      

"นอกจากนี้ รูปธรรมกระแสอุดมการณ์ใหม่ยังปรากฏอยู่ในข้อเขียน และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเว็บบอร์ดและเว็บไซต์ที่มีความคิดเห็นในแนวทางเดียวกัน มีความหมิ่นเหม่หลายต่อหลายครั้ง ขณะเดียวกันยังเปิดพื้นที่ในเว็บบอร์ดเพื่อแสดงความคิดเห็น มีรหัสเรียกขานชวนให้คิดให้เข้าใจว่า จงใจหมายถึงสถานบันที่เคารพสูงสุด สิ่งเหล่านี้มันซึมเข้าไปในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับนายโชติศักดิ์ มาเคลื่อนไหวอยู่ในโลกไซเบอร์ พร้อมแสดงพลังสนับสนุนนายโชติศักดิ์ หลังโดนคดี"    

"นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวผ่านเว็บบล็อกที่ตั้งชื่อแสดงอุดมการณ์ไว้ชัดเจน ขึ้นต้นว่า กีโยติน (เครื่องมือสังหารในอดีตของประเทศฝรั่งเศส) เผยแพร่ข่าวในเชิงเสกสรรปั้นแต่ง คนไทยอ่านแล้วเกิดความรู้สึกสะเทือนใจ อีกทั้งยังเผยแพร่เรื่องราวที่เรียกว่าเป็น พงศาวดารฉบับบกระซิบ เพราะไม่ปรากฏความเป็นจริง นอกจากนี้ยังเปิดให้ดาวโหลดหนังสือต้องห้ามอย่างจงใจ การเผยแพร่าเหล่านี้ดำเนินการโดยกลุ่มคนที่ทึกทักว่าเป็นลูกหลานพระเจ้าตาก บางคนใช้นามแฝงพระยาพิชัยแสดงความคิดเห็นโลดแล่นอยู่ในเว็บไซต์สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก รัฐบาลจะมองและดำเนินการอย่างไร ต้องตรวจสอบข้อมูล สิ่งต่างๆ เหล่านี้นายกรัฐมนตรีต้องตอบสังคมให้ได้"

 

 

แถลงการณ์

ตามที่มีผู้ไปแจ้งความกล่าวหาว่าผมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ("ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี") เนื่องจากผมไม่ยืนเมื่อมีการบรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น

1.ผมขอยืนยันว่าสิ่งที่ผมทำไปไม่ได้มีเจตนาที่จะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด

2.ผมขอยืนยันว่าเพียงการนั่งอย่างสงบเมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีไม่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด

3.ผมขอยืนยันว่าการยืน/ หรือไม่ยืนเมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงจะเลือกได้ ตามแต่ความคิด/ ความเชื่อ/ ความศรัทธาของแต่ละบุคคล ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 4 และมาตรา 28 ได้บัญญัติรับรองไว้

4.ผมเห็นว่าควรยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะ

1)ได้มีการนำกฎหมายมาตรานี้มาใช้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับผม ซึ่งแม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 29 จะอนุญาตให้มีกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ แต่รัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า "เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น  และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้" ดังนั้น หากมีกฎหมายอื่นใดที่มีลักษณะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นการนอกเหนือที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือโดยไม่จำเป็น หรือกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ กฎหมายนั้นย่อมใช้บังคับไม่ได้ เนื่องจาก "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้"

2)ได้มีบุคคลหลายกลุ่มหลายพวกนำกฎหมายมาตรานี้ไปเป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม/ คู่แข่งทางการเมือง และโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ซ้ำการตีความกฎหมายก็กว้างไกลออกไปเรื่อยๆ (ทั้งที่เป็นที่ยอมรับกันในแวดวงกฎหมายว่ากฎหมายอาญาจะต้องตีความกันตามตัวอักษร) จนดูเหมือนกับว่าอะไรๆ ก็หมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปหมด

5.ผมเห็นว่าการกระทำที่แตกต่างกัน เช่น การยืนและไม่ยืนเมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้เป็นปัญหา แต่การไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น การไม่เคารพความแตกต่างด้วยการทำร้ายร่างกาย หรือฟ้องร้องด้วยกฎหมายครอบจักรวาลต่างหากที่เป็นปัญหา

ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม

โชติศักดิ์ อ่อนสูง

22 เมษายน 2551

                                                     แถลง ณ หน้าสถานีตำรวจ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัมภาษณ์ "โชติศักดิ์" ผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง

"สองไม่ยืนเพลงสรรเสริญ" ส่งหนังสือถึงสภาทนายความ

เพลงสรรเสริญขึ้นไม่ยืนในโรงหนัง ตำรวจเตรียมฟ้องหมิ่นฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net