Skip to main content
sharethis

นางหนุ่ม ไหมแสง ชาวไทใหญ่ผู้พิการจากอุบัติเหตุในการก่อสร้าง ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ ให้เพิกถอนหนังสือเวียนสำนักงานประกันสังคม เลขที่ รส.0711/ว 751 ที่มีเนื้อหาปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนให้แรงงานต่างด้าวอ้างว่าเพราะเข้าเมืองผิดกฎหมาย "ทนายสุมิตรชัย" หวังหากคำสั่งศาลเป็นไปในทางบวก จะเป็นหลักประกันให้แรงงานข้ามชาติมีความมั่นคงในชีวิต ไม่อยู่ใต้การเสี่ยงภัย

 

 

 

 

 

เมื่อเวลา 9.00 น. วานนี้ (11 เม.ย.) ที่ศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้พานางหนุ่ม ไหมแสง แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ผู้พิการจากอุบัติเหตุในการก่อสร้างและเพื่อนแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ ประกอบอาชีพช่างก่อสร้างอีก 2 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ ให้มีการเพิกถอนหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมเลขที่ รส.0711/ 751 ลงวันที่ 25 ต.ค. 2544

 

ซี่งหนังสือเวียนฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาปฏิเสธจ่ายเงินทดแทนให้แรงงานต่างด้าวด้วยเหตุผลเพียงเพราะเข้าเมืองผิดกฎหมาย หลังจากนางหนุ่มยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน แต่กรรมการได้ยกคำอุทธรณ์ โดยอ้างแนวนโยบายจากหนังสือเวียนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องขอพึ่งศาลปกครองเพื่อโต้แย้งหนังสือเวียนดังกล่าวว่าเป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการเลือกปฏิบัติ

 

โดยการยื่นหนังสือในวันนี้มีเพื่อนแรงงานข้ามชาติ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มาให้กำลังใจนางหนุ่มจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้นายวิสุทธิ์ มโนวงศ์ เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิเพื่อนหญิง และนายอนุชา มีทรัพย์ ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ ก็เดินทางมาให้กำลังใจนางหนุ่มในการยื่นคำร้องในครั้งนี้ด้วย

 

โดยการยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นไปด้วยความทุลักทุเล เนื่องจากนางหนุ่มอัมพาตแขนขาต้องนั่งรถเข็น ขณะที่ทางเข้าสำนักงานศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ ไม่มีทางลาดสำหรับรถเข็น ทำให้เพื่อนๆ ของนางหนุ่มช่วยกันยกนางหนุ่มทั้งรถเข็นเพื่อไปยังสำนักงานศาลปกครอง

 

เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลปกครองตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารแล้ว ก็ลงเลขรับคำร้องเอาไว้ โดยนายสุมิตรชัย หัตถะศาล ผอ.ศูนย์พิทักษ์สิทธิและฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น ทนายความของนางหนุ่ม กล่าวว่า น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ศาลปกครองจึงจะมีคำตอบกลับมาว่าจะรับคำร้องนี้หรือไม่

 

นายสุมิตรชัยกล่าวว่าในทางปฏิบัติแล้ว แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิแรงงาน แต่หากพวกเขาได้เข้าสู่กระบวนการของกองทุนเงินทดแทน เขาจะปลอดภัยมากขึ้น มีหลักประกันว่าหากได้รับอุบัติเหตุก็จะได้รับเงินชดเชย ถ้าศาลเห็นด้วยก็จะทำให้หลักการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติจะมั่นคงมากขึ้นตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

ก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนไปทุกที่ ทั้งสำนักงานประกันสังคม รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานคนก่อนก็เคยเจรจา ร้องไปที่กรรมการสิทธิเพื่อให้มีการเจรจราให้ชัดเจน แต่เขายังยืนยันตามแนวทางปฏิบัติเดิม เราจึงขอให้ศาลปกครองเป็นผู้ชี้ขาดว่าแนวทางที่สำนักงานประกันสังคมระบุมันถูกต้อง ว่าเป็นไปตามหลักการไหม ถ้าผลคดีนี้เป็นไปในทางบวก จะส่งผลดีต่อแรงงาน เป็นหลักประกันที่ทำให้แรงงานข้ามชาติทั้งหมดมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ไม่อยู่ภายใต้การเสี่ยงภัยแบบนี้ และหลายคนคงไม่รู้ว่ามีแรงงานที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทำงานและไม่ได้รับเงินชดเชยเต็มไปหมด นายสุมิตรชัยกล่าว

 

 

การต่อสู้อันยาวนาน

ของหญิงทำงานก่อสร้างจากรัฐฉาน

เรียบเรียงข้อมูลจาก: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

 

 

อุบัติเหตุ

นางหนุ่ม ไหมแสง วัย 36 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ได้รับอนุญาตให้พักอาศัยและทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้แผนงานการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลไทย วันที่ 4 ธ.ค. 2549 นางหนุ่มทำงานก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้างโรงแรมแชงกรี-ลา ลวดสลิงยึดแบบเทปูนน้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ขาดตกลงมาจากชั้น 12 ของตึกและแยกออก ทำให้ชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดกระเด็นมาปะทะนางหนุ่มขณะกำลังทำงานบนชั้นที่ 2 ของตึก นางหนุ่มได้รับบาดเจ็บสาหัส กระดูกสันหลังแตกกดทับไขสันหลัง กระดูกซี่โครงหัก กระบังลมฉีก และเลือดออกในช่องปอด นางหนุ่มเข้าพักรักษาตัวและฟื้นฟูร่างกายที่โรงพยาบาลมหาราชเป็นเวลากว่า 11 เดือน โดยใช้สิทธิการรักษาจากบัตรประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ จากอุบัติเหตุดังกล่าวทำให้นางหนุ่มพิการ 70% และเป็นอัมพาตครึ่งล่าง

 

 

การเรียกร้องสิทธิเงินทดแทน

เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ช่วยเหลือนางหนุ่มในการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ในเดือนมี.ค. 2550 แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมปฏิเสธไม่รับคำร้องของหนุ่ม โดยให้เหตุผลว่านางหนุ่มเข้าเมืองผิดกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิในกองทุนเงินทดแทน

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ อธิบายว่านางหนุ่มมีสิทธิได้รับเงินทดแทน เจ้าหน้าที่จึงรับคำร้องไว้และได้ตระหนักถึงสิทธิของนางหนุ่มที่จะได้รับเงินทดแทนตาม พรบ.กองทุนเงินทดแทน พ.ศ.2537 โดยที่สำนักงานประกันสังคมได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่นางหนุ่มเป็นเงินเดือนละ 2418 บาทเป็นเวลา 15 ปี

 

เมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยว่านางหนุ่มพิการเป็นอัมพาตถาวร นางหนุ่มจึงได้อุทธรณ์คำสั่งสำนักงานประกันสังคม จ.เชียงใหม่ ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนโดยโต้แย้งคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของสำนักงานประกันสังคมที่ปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนให้แก่นางหนุ่มโดยตรง เมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่านางหนุ่มพิการถาวร อันเป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมแต่กลับผลักภาระไปยังนายจ้าง ซึ่งการอุทธรณ์คำสั่งสำนักงานประกันสังคมเชียงใหม่ต่อคณะกรรมการกองทุนฯ นี้ ก็เพื่อยืนยันสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ในกรณีอย่างเช่นนางหนุ่มเองที่จะได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้โดยตรง และโปร่งใสอันเป็นสิทธิตาม พรบ.กองทุนเงินทดแทน พ.ศ.2537 (ดูเอกสารประกอบ)

 


หนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคม เลขที่ รส.0711/ว751 กีดกันสิทธิในการรักษาแรงงานข้ามชาติ มูลเหตุยื่นคำร้องต่อศาลปกครองของนางหนุ่ม

 

หนังสือเวียนที่น่ากังขาของ สนง.ประกันสังคม

แต่ต่อมา คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้ปฏิเสธคำอุทธรณ์ของนางหนุ่ม โดยอ้างแนวนโยบายจากหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมเลขที่ รส.0711/751 ลงวันที่ 25 ต.ค. 2544 กรณีนางหนุ่มจึงกลายเป็นกรณีศึกษาซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อแรงงานข้ามชาติของกระทรวงแรงงาน ทำให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองดังกล่าว เพื่อโต้แย้งหนังสือเวียนดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการเลือกปฏิบัติ

 

อนึ่ง หนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมที่ รส.0711/ 751 ดังกล่าวนี้ได้กำหนดคุณสมบัติและหลักฐานสำหรับการที่แรงงานข้ามชาติจะสามารถรับเงินทดแทนอันเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุในการทำงานโดยตรงจากกองทุนเงินทดแทนไว้ดังนี้

 

1) มีการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ที่ราชการออกให้มาแสดงประกอบกับหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว 2) นายจ้างได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และ 3) แรงงานต่างด้าวต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย กรณีแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานไม่สามารถแสดงหลักฐานข้างต้นได้นายจ้างต้องเป็นผู้รับชอบจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างเอง

 

แรงงานข้ามชาติสามารถขอใบอนุญาตพักอาศัยชั่วคราวในประเทศไทยจากกระทรวงมหาดไทย (ทร.38/1) และสามารถขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงาน อย่างไรก็ดีสำนักงานประกันสังคมยังคงยืนยันข้อกำหนดการเข้าถึงสิทธิในกองทุนเงินทดแทนของแรงงานข้ามชาตินั้นจะต้องมีหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว แต่แรงงานข้ามชาติกว่าสองล้านคนในประเทศไทยรวมไปถึงนางหนุ่มซึ่งมาจากประเทศพม่า พวกเขาเหล่านี้ไม่มีหนังสือเดินทางและใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

 

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่สำนักงานประกันสังคมได้อ้างเพื่อปฏิเสธสิทธิในกองทุนเงินทดแทนของแรงงานข้ามชาติคือนายจ้างของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่ทางกองทุนจะได้นำเงินสมทบจากนายจ้างไปใช้จ่ายเป็นเงินทดแทนให้กับลูกจ้าง ซึ่งประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงานโดยตรง อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมก็มิได้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้นายจ้างของแรงงานข้ามชาติจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ พรบ.กองทุนเงินทดแทน พ.ศ.2537 ประกอบกับประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเรื่อง ประเภท ขนาดของกิจการ และท้องที่ที่ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบ ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า 1) ให้นายจ้างที่มีลูกจ้างทำงานตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบ และ 2) ประกันสังคมมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างตามข้อ (1)

 

 

ขอศาลปกครองวินิจฉัย

นางหนุ่มและแรงงานก่อสร้างชาวไทใหญ่อีกสองคนจึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองในวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือเวียนสำนักงานประกันสังคมเลขที่ รส.0711/251 ฉบับดังกล่าวด้วยเหตุผลดังนี้

 

1) หนังสือเวียนสำนักงานประกันสังคมฉบับดังกล่าวเป็นการกำหนดแนวปฏิบัติซึ่งปฏิเสธสิทธิของแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในประเทศไทย อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดกัน พรบ.กองทุนเงินทดแทน พ.ศ.2537 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท

 

2) หนังสือเวียนสำนักงานประกันสังคมฉบับดังกล่าวเป็นการปฏิเสธสิทธิแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน อันเป็นการกระทำทางปกครองอันมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังขัดต่อหลักอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ พ.ศ. 2508 และอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 19 พ.ศ. 2468 ซึ่งประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาด้วย และ

 

3) กระทรวงแรงงานได้เพิกเฉยต่อคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเรียกร้องให้เพิกถอนหนังสือเวียนฉบับดังกล่าวด้วยเป็นแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติและเป็นการกีดกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิในกองทุนเงินทดแทน

 

อุบัติเหตุและโรคที่เกิดจากการทำงานของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยนับวันจะมีมากขึ้นและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากงานของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นงานที่สกปรกและอันตราย อีกทั้งแรงงานข้ามชาติผู้ตกเป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานก็มักไม่ออกมาเรียกร้องสิทธิ รวมถึงแรงงานข้ามชาติเองก็ขาดความรู้ในสิทธิขั้นพื้นฐานหรือขาดความมั่นใจที่จะเข้าถึงสิทธิเหล่านั้น นอกจากนี้ทั้งนายจ้างและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมมักจะปฏิเสธคำร้องขอเงินทดแทนของแรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุหรือโรคจากการทำงานด้วยเหตุผลด้านสัญชาติและการขาดเอกสารยืนยันของแรงงานข้ามชาติเหล่านั้น

 

จึงสำคัญอยู่ที่ว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งให้สำนักงานประกันสังคมสร้างความโปร่งใสและการทำงานอย่างเป็นระบบให้แก่แรงงานข้ามชาติผู้เป็นเหยื่อประสบอุบัติเหตุหรือโรคจากการทำงานให้ได้รับเงินทดแทนและผู้ประสบอุบัติเหตุหรือโรคจากการทำงานจะได้รับความเป็นธรรมตาม พรบ.กองทุนเงินทดแทน พ.ศ. 2537 และรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ หรือไม่

 

 

 

 

ข่าวประชาไทย้อนหลัง

ประสานเสียงร้องประกันสังคมห้ามเบี้ยวเงินทดแทน กรณีแรงงานพม่าปูนหล่นทับอัมพาต, ประชาไท, 3/11/50

เอกสารประกอบ

หนังสือเวียนสำนักงานประกันสังคม รส0711/ว751
คำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่เปลี่ยนแปลงเงินทดแทน 26 ก.ค. 50
แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เงินทดแทน 11 ม.ค. 51

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net