Skip to main content
sharethis

6 เอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับแรงงาน ร่วมกันออกแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์การเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าทั้ง 54 คน เนื่องจากขาดอากาศหายใจในรถบรรทุกขณะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย


 


องค์กรทั้ง 6 ได้แก่ เครือข่ายองค์กรเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายโครงการฟ้ามิตร คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สหพันธ์สหภาพแรงงานพม่า โครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ และศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์


 


จากกรณีการเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าจำนวน 54 รายจากจำนวนทั้งหมด 121 คนที่เดินทางโดยรถบรรทุกสิบล้อซึ่งเป็นตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น ขนาด 6 x 2.2 เมตร อันเนื่องมาจากการขาดอากาศหายใจ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ระหว่างที่กำลังนำพาแรงงานข้ามชาติไปส่งที่จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา


 


ตามแถลงการณ์ ระบุว่า นี่มิใช่โศกนาฏกรรมครั้งแรกที่เกิดกับการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ โดยรอบปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์การเสียชีวิตของแรงงานขณะเดินทางไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนขณะเดินทาง ซึ่งผู้คนเหล่านี้ล้วนต้องดิ้นรนแสวงหาชีวิตที่ปลอดภัย ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ย้ายถิ่นมาทำงานเพื่อหลบหนีจากภัยสงครามโดยเฉพาะจากประเทศพม่า แต่ก็กลับเผชิญความรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต


 


นอกจากนี้ นโยบายการจัดการของรัฐไทยต่อการย้ายถิ่นเข้ามามาทำงาน อย่างระบบการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติ มีข้อจำกัดที่ทำให้คนเข้าถึงระบบได้เพียงบางกลุ่ม ส่งผลให้แรงงานจำนวนหนึ่งไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย และหลายคนต้องเสี่ยงต่อการเดินทางเข้ามาประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย


 


"ที่น่าสลดใจอีกระดับหนึ่งคือ รัฐไทยกลับมองแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศโดยผิดกฎหมายดุจดั่งอาชญากรก่อคดีที่ร้ายแรง" ในแถลงการณ์ระบุ อย่างไรก็ดี กลับไม่พบว่ารัฐไทยดำเนินดีกับผู้แสวงหาประโยชน์จากการขนถ่ายแรงงาน


 


ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ได้สร้างความรู้สึกสลดและกังวลใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว และมีข้อเสนอถึงรัฐไทยต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น คือ


 


1. แรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่รอดชีวิต ควรได้รับการรักษาพยาบาล และได้รับการพักฟื้นและฟื้นฟูจิตใจในสถานพยาบาล


 


2. จะต้องระงับการดำเนินการส่งกลับแรงงานข้ามชาติที่รอดชีวิต เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเหล่านั้นได้รับการบำบัดฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจ


 


3. แรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตทั้ง 54 ราย ได้รับความคุ้มครองตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ภายใต้กฎหมายไทย โดยการชดใช้ค่าเสียหายแก่ญาติผู้เสียชีวิต


 


4. รัฐบาลไทยต้องดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มคนทีเกี่ยวข้องในการค้ามนุษย์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต


 


5. รัฐบาลไทยจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยบุคคลของรัฐและบุคคลจากองค์กรพัฒนาเอกชนในการสืบสวนคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทำการรายงานผลประกอบภายใน 30 วันต่อประชาชน ซึ่งควรรายงานความคืบหน้าของคดี ข้อแนะนำ นโยบายต่อการเคลื่อนย้ายถิ่น และกฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ


 


6. รัฐบาลไทยต้องปรับเปลี่ยนแนวนโยบายให้สอดคล้องต่อการย้ายถิ่นข้ามชาติที่กเดขึ้นตามข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ ซึ่งนโยบายปัจจุบันเปิดโอกาสให้มีขบวนการค้ามนุษย์กับแรงงานข้ามชาติ


 


ด้านมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ซึ่งมีนายสมชาย หอมลออเป็นเลขาธิการมูลนิธิ ก็ออกแถลงการณ์ประณามการละเมิดต่อชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ พร้อมทั้งเรียกร้องให้สอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิด แก้ไขระบบแรงงานข้ามชาติเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน


 


มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานที่ได้รับผลกระทบ จากการเอารัดเอาเปรียบจากผู้จ้างและจากผู้ลักลอบขนแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทย และเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาวในการยุติการละเมิดสิทธิ มนุษยชนพื้นฐานและสิทธิแรงงาน ดังนี้


 


1. ให้รัฐสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้ามนุษย์ของบริษัทดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบถึง การมีส่วนรู้เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดต่อ ชีวิตของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้


 


2. ให้ชะลอการส่งกลับ และให้สถานที่พักพิงที่เหมาะสมแก่แรงงานกลุ่มนี้ในระหว่างที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง


 


3. ให้เยียวยาและจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียชีวิตตามความเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนดโดยไม่เลือกปฏิบัติ


 


4. ให้รัฐกำหนดนโยบายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติอย่างชัดเจน และปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการเรื่อง การจดทะเบียน แรงงานข้ามชาติที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการคอรัปชั่นและการลักลอบค้ามนุษย์ ที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบ แรงงงานและความเสียหายต่อชีวิตของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย และทั้งนี้ เพื่อสร้างให้เกิดระบบการจัดการแรงงาน ที่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจไทย ในขณะเดียวกันต้องเคารพต่อ สิทธิมนุษยชนพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ เหล่านี้เป็นสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net