Skip to main content
sharethis

วันที่ 10 เม.ย.2551 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ประณาม "การละเมิดต่อชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงานต่างชาติ" ซึ่งอ้างถึงเหตุการณ์การลักลอบค้ามนุษย์ด้วยการขนส่งแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าโดยรถบรรทุกสิบล้อที่มีตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น เกิดการเบียดเสียดยัดเยียดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ 54 ราย


 


ทั้งนี้ มสพ.ได้เสนอข้อเรียกร้อง 4 ประการ ได้แก่ (1) ให้รัฐสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้ามนุษย์ของบริษัทดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบถึง การมีส่วนรู้เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดต่อ ชีวิตของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ (2) ชะลอการส่งกลับ และให้สถานที่พักพิงที่เหมาะสมแก่แรงงานกลุ่มนี้ในระหว่างที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง (3)ให้เยียวยาและจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียชีวิตตามความเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนดโดยไม่เลือกปฎิบัติ และ (4) ให้รัฐกำหนดนโยบายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติอย่างชัดเจน และปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการเรื่องการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการคอรัปชั่นและการลักลอบค้ามนุษย์ที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบแรงงาน


 






 


ประนามการละเมิดต่อชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ


เรียกร้องให้สอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิด


รวมทั้งแก้ไขระบบ แรงงานข้ามชาติเพื่อคุ้มครองสิทธิฯ


 


เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2551 จากเหตการณ์การลักลอบค้ามนุษย์โดยการขนส่งแรงงานข้ามชาติจาก ประเทศพม่าจำนวน 121 คนโดยทางรถบรรทุกสิบล้อมีลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น จากจังหวัดระนองไปยังจังหวัดภูเก็ต ปรากฎว่า มีแรงงานข้ามชาติเบียดเสียดยัดเยียดในรถบรรทุกจำนวนกว่า 121 คน มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจไป 54 คน เป็น ชาย 16 ศพ และเด็กชาย 1 ศพ เป็นหญิง 36 ศพ และเด็กหญิง 1 ศพ


 


สาเหตุเบื้องต้นน่าจะเกิดจากการขาดอากาศหายใจ ในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจำนวน 67 คน ใน จำนวนนั้น 21 คนอยู่ในอาการขาดอ๊อกซิเจนจนต้องให้ออกซิเจน และอีก 46 คนอยู่ในสภาพอิดโรยทั้งหมดยังคง ต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการบำบัดฟื้นฟูร่างกายจิตใจ


 


มูลนิธิฯ ขอประนามการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และแสดงความเสียใจอย่างสุด ซึ้งต่อความสูญเสีย ที่เกิดขึ้นต่อชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่แสวงหาโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับต้องประสบต่อ สถานการณ์ที่สามารถหลีกเลี่ยง ได้ด้วยการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในฐานะมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมและต้องได้รับการปฎิบัติที่เท่าเทียม 


 


เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเอารัดเอาเปรียบจากผู้จ้างและจากผู้ลักลอบขนแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทย แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางมาประเทศไทยด้วยเหตุผลทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้มีการอพยพแรงงาน และด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและธุรกิจ กิจการต่างๆ ใน ประเทศไทยก็เป็นปัจจัยดึงดูดให้แรงงานเหล่านี้เข้ามาแสวงหาโอกาส ซึ่งนับเป็นสภาพการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของประเทศไทย ในฐานะประเทศที่รับแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน  


 


อย่างไรก็ดี ทางมูลนิธิฯ เห็นว่า การคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเป็นภาระที่สำคัญของรัฐและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อันจะปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในชีวิต ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และมีความผิดอาญาแผ่นดิน และสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะประเทศที่รับแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศ


ทางมูลนิธิฯ ขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาวในการยุติการละเมิดสิทธิ มนุษยชนพื้นฐานและสิทธิแรงงาน


 


1.ให้รัฐสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้ามนุษย์ของบริษัทดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบถึง การมีส่วนรู้เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดต่อ ชีวิตของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้


 


2.ให้ชะลอการส่งกลับ และให้สถานที่พักพิงที่เหมาะสมแก่แรงงานกลุ่มนี้ในระหว่างที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง


 


3.ให้เยียวยาและจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียชีวิตตามความเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนดโดยไม่เลือกปฎิบัติ


 


4.ให้รัฐกำหนดนโยบายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติอย่างชัดเจน และปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการเรื่อง การจดทะเบียน แรงงานข้ามชาติที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการคอรัปชั่นและการลักลอบค้ามนุษย์ที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบ แรงงานและความเสียหายต่อชีวิตของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย และทั้งนี้ เพื่อสร้างให้เกิดระบบการจัดการแรงงานที่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจไทย ในขณะเดียวกันต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ เหล่านี้เป็นสำคัญ


 


             ประเทศไทยควรสร้างมาตรการและแนวทางการปฎิบัติให้สอดคล้องกับพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก เสริมอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรม ข้ามชาติที่กระทำโดยองค์กรอาชญากรรม อนุสัญญาต่อต้าน การค้ามนุษย์  ทีประเทศไทยลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2544


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net