ธีรยุทธ บุญมี: ตุลาการภิวัตน์กับการรอมชอมในสังคมไทย

นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ตุลาการภิวัตน์ กับการรอมชอมในสังคมไทยในงาน 100 ปี ชาตกาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ณ ห้องประชุมสัมมนา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2551

 

00000

1
ตุลาการภิวัตน์พลังขับเคลื่อนใหม่ในสังคมไทย

1. อะไรคือตุลาการภิวัตน์
กระบวนการตุลาการภิวัตน์มองอย่างกว้างที่สุดก็คือ กระบวนการที่อำนาจตุลาการปรับตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตวินิจฉัยของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองปฏิบัติภาระหน้าที่รองรับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของยุคสมัยได้ดี ไม่ใช่เป็นการปรับตัวภายใต้การกำกับของอำนาจอื่น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ต้องเป็นการปรับตัวเพื่อภารกิจของยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง ด้านหลักๆ ของตุลาการภิวัตน์ (Judicial review) ก็คือ

ก. การขยายพื้นที่ความยุติธรรมให้กว้างขวางขึ้น ให้ภาคประชาชน-สังคมมีโอกาสฟ้องร้องดำเนินคดีได้กว้างขวางขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชน-สังคมได้ปกป้องสิทธิของตนเอง กำกับตรวจสอบนักการเมืองและภาครัฐได้ดีขึ้น

ข. ตุลาการภิวัตน์ คือการรอมชอมระหว่างสิทธิที่ขัดแย้งกัน ในท่ามกลางโลกที่ซับซ้อนขึ้น สิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่งอาจขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพอีกอย่างหนึ่ง หรือของคนกลุ่มหนึ่งอาจขัดกับของคนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น เขตกรุงเทพฯ ทางการต้องการทะลุซอยตันเพื่อช่วยระบายการจราจร แต่ชาวบ้านในซอยต้องการอยู่อย่างเงียบสงบ หรือกลุ่มเกย์ต้องการบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่สภากาชาดไทยวิตกเรื่องความเสี่ยง หรือเด็กหญิงมุสลิมในฝรั่งเศสต้องการคลุมหน้าไปโรงเรียน แต่ทางการมองเป็นการสร้างความแปลกแยก หรือกลุ่มอนุรักษ์ทั่วโลกต้องการรักษาสภาพแวดล้อม แต่กลุ่มทุนต้องการพัฒนาตั้งโรงไฟฟ้า โรงงาน เหมืองแร่ ฯลฯ หน้าที่ของตุลาการภิวัตน์ คือการตัดสินคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งนี้อย่างสมเหตุสมผล สมประโยชน์ทุกฝ่าย

ค. การรักษาหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันให้กับประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องความเสมอภาคของคนกลุ่มน้อย ความเสมอภาคทางเพศ สิทธิสตรี สิทธิเด็ก คนชรา การดูแลความเสมอภาคในโอกาสการทำงานของสตรี คนกลุ่มน้อย

ง. การเอื้ออาทรต่อคนจน คนชั้นล่างของสังคม ก็เป็นส่วนหนึ่งของตุลาการภิวัตน์ได้ ถ้าฝ่ายบริหารปล่อยปละละเลย เช่น การพิจารณาคดีความโดยยึดหลักสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม อาทิ สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในอาชีพ ที่ทำกิน สิทธิในสุขภาพและสวัสดิการต่างๆ

จ. ตุลาการภิวัตน์คือการตรวจสอบกำกับฝ่ายบริหาร ในโลกปัจจุบันรัฐฝ่ายบริหารขยายบทบาทอำนาจของตัวเองกว้างขวางมากขึ้น เกิดมีรัฐวิสาหกิจ องค์กรกำกับดูแลทรัพย์แผ่นดินต่างๆ ซึ่งมีฐานะเป็นเสมือนรัฐบาลย่อยๆ (mini government) เกิดความขัดแย้งสิทธิผลประโยชน์กับประชาชนกลุ่มต่างๆ มากมาย ในต่างประเทศทั่วโลก อาทิ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เดนมาร์ก กรีซ เบลเยียม ไซปรัส ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ แอฟริกาใต้ บอทสวานา อิสราเอล อินเดีย ญี่ปุ่น ซิมบับเว ฯลฯ จึงได้มอบหมายให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจในการตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของฝ่ายบริหารในมิติต่างๆ

ถ้าพิจารณาเหตุการณ์ในประเทศไทยที่ผ่านมา มีคดีความที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของตุลาการภิวัตน์ไม่มากนัก อาทิเช่น การตัดสินคดีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปตท. ซึ่งขัดแย้งกับองค์กรผู้บริโภค การตัดสินคดียุคพรรคไทยรักไทย ในข้อหาสร้างความเสียหายให้กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และคดีอื่นๆ อีกไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจบทบาทของตุลาการภิวัตน์ให้ชัดเจน เพื่อสนับสนุนให้ตุลาการภิวัตน์ได้มีบทบาทที่เป็นคุณกับประชาชนและประเทศต่อไป

2. อะไรไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์
มีประเด็นใหญ่ๆ หลายประเด็นที่สาธารณชนเข้าใจไขว้เขวว่าเป็นตุลาการภิวัตน์ แต่ที่จริงไม่ใช่ ดังนี้คือ

ก. การร่างรัฐธรรมนูญและการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถกเถียงกันกว้างขวางในปัจจุบัน ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของตุลาการภิวัตน์ หากแต่เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ (legislation)

ข. การตัดสินคดียุบพรรคชาติไทย มัชฌิมา พลังประชาชนหรือไม่ ก็ไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์ หากแต่เป็นปัญหาที่เกิดจากฝ่ายนิติบัญญัติที่ตรากฎหมายรัฐธรรมนูญบังคับไว้ อำนาจตุลาการทำหน้าที่ตัดสินเท่านั้น นักวิชาการด้านกฎหมายต้องถกเถียง (ก) ความชอบธรรมสมเหตุสมผลของข้อกฎหมายดังกล่าว (ข) ความถูกต้องตามปรัชญาหรือหลักกฎหมาย (ค) วิธีการแก้ไขที่ถูกต้องถ้าจำเป็นต้องแก้

ค. บทบาทในการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ สรรหา ส.ว. ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตุลาการภิวัตน์ ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งส่วนหนึ่งของหลักวิชานิติศาสตร์ด้วยซ้ำ หากแต่เป็นแนวคิดจากสายรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ต้องการสร้างอำนาจตรวจสอบที่เป็นอิสระได้จริงๆ จึงต้องมอบหมายให้ศาลได้เป็นผู้สรรหา เพราะวิเคราะห์โดยแนวคิดสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์แล้ว สถาบันศาลยังเป็นสถาบันสังคมสถาบันเดียวที่ธำรงความเป็นอิสระไว้ได้มากที่สุด บทบาทของศาลในเรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับตุลาการภิวัตน์ และไม่เกี่ยวข้องว่ารัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ มีที่มาหรือมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไร ซึ่งเป็นเรื่องคนละประเด็น และเป็นสิ่งที่สังคมไทยโดยรวมต้องช่วยกันขบคิดอีกรอบหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.การดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาในองค์กรต่างๆ ภายหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. ก็ไม่ใช่เรื่องของตุลาการภิวัตน์ แต่เป็นเรื่องความสมัครใจของท่านเหล่านั้น รวมทั้งนักวิชาการ อดีตข้าราชการ ที่จะมีส่วนคลี่คลายวิกฤติในสังคมไทย โดยที่ไม่จำเป็นว่าท่านเหล่านั้นทั้งหมดจะเห็นด้วยกับการรัฐประหาร ผมก็ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนเผด็จการ ทั้งที่ความเป็นจริง ผมไม่เคยเบี่ยงเบนความคิดจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ไม่เคยสนับสนุนระบอบทักษิณ ไม่เคยรับรู้ สนับสนุน หรือเห็นชอบกับการรัฐประหาร เพราะวันที่ 18 ก.ย. 49 ผมพร้อมด้วยอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และคณบดีอีก 5 คณะได้ร่วมกันประชุมหารือเพื่อทางออก โดยเฉพาะข่าวลือที่ว่าจะมีการทำรัฐประหาร แต่ก็ไม่ทันการณ์ เพราะในวันรุ่งขึ้นก็มีการยึดอำนาจ ดังนั้นขอยืนยันผมไม่เคยไยดีกับตำแหน่งอำนาจวาสนาหลังรัฐประหาร ถือเป็นและได้ทำหน้าที่ที่จะวิจารณ์ คมช. และรัฐบาลสุรยุทธ์ ให้คลี่คลายวิกฤติและไม่สืบทอดอำนาจ


3. ความสัมพันธ์หลักนิติรัฐ (the Rule of Law) และหลักประชาธิปไตย (Democracy)
นักคิดแนวอุดมคติเสรีนิยมใหม่มองว่า สิ่งต่างๆ ในโลกสามารถลดทอนลงมาเหลือเพียงสิทธิของปัจเจกบุคคล และกระบวนการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ถ้าเคารพสองสิ่งนี้ สังคม ประเทศ โลกจะดีขึ้นเอง

นักคิดที่มองโลกที่ซับซ้อนทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลง โดยภาพรวมของความเป็นจริงมากขึ้นมองว่า โลกประกอบไปด้วยหลายส่วนที่เชื่อมโยงกัน มีความสำคัญทัดเทียมกัน จำเป็นต้องเคารพทุกๆ ส่วน จึงจะทำให้สังคม ประเทศ โลก ประคองตัวไปสู่ความสุข ความเสมอภาค ของผู้คนได้ดีขึ้น ส่วนต่างๆ นี้คือ หลักการปกครองโดยหลักกฎหมาย (Rule of Law) หลักประชาธิปไตยของประชาชน (Democracy) หลักสิทธิต่างๆ ของประชาชน (Bills of Rights) หลักการตรวจสอบโดยตุลาการ (Judicial review) หลักการอดทนอดกลั้น (Tolerations) หลักการเอื้ออาทรต่อกัน (Welfare หรือ Fraternality) หลักเหล่านี้อาจมีเนื้อหาไม่ดีได้ เช่น ประเทศสังคมนิยมก็อ้างการปกครองโดยหลักกฎหมาย เผด็จการรัฐสภาก็อ้างความเป็นประชาธิปไตย การยึดหลัก 5 ประการนี้จึงต้องเน้นด้านที่ดีของแต่ละหลักการด้วย ซึ่งจะได้สรุปคร่าวๆ ดังนี้

ก. การปกครองโดยหลักกฎหมาย (Rule of Law) มีมาตั้งแต่สมัยโบราณไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ปี การปกครองหน่วยการเมืองขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองใดล้วนต้องยึดถือการปกครองโดยหลักกฎหมาย การปกครองระบอบประชาธิปไตยก็ต้องยึดหลักการปกครองโดยกฎหมาย แต่ต้องเน้นให้การปกครองโดยหลักกฎหมายมีเนื้อหากฎหมายที่ยุติธรรม และมีการปฏิรูปกฎหมายให้มีลักษณะที่เหมาะสมกับยุคสมัยอยู่เสมอ

การปกครองโดยกฎหมายจึงสำคัญ เพราะเป็นหลักการเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ นั่นคือ การที่มนุษย์ซึ่งมีธรรมชาติอยู่เป็นกลุ่ม เมื่ออยู่เป็นกลุ่มจะยอมรับกฎเกณฑ์ (กฎหมาย) ของกลุ่ม จนถึงขั้นยอมตกลงเสียสละชีวิตของตนได้ เช่น ในยามศึกสงคราม กรณีฉุกเฉิน หรือกรณีที่ตัวเองทำความผิดร้ายแรง จะสังเกตได้ว่านี่เป็นหลักเชิงสังคมวิทยา ซึ่งดำรงอยู่มาช้านานโดยไม่ได้ขึ้นต่อหลักประชาธิปไตยใดๆ เลย

ข. หลักประชาธิปไตยของประชาชน (Democracy) เน้นการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อคัดเลือกอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และดูแลความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ เป็นมิติสำคัญที่สุดของการเมืองปัจจุบัน แต่ก็มีความคิดที่จะพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ประชาธิปไตยที่ถกเถียงพิจารณ์ปัญหาต่างๆ อย่างกว้างขวาง (deliberative democracy) มากขึ้น

เนื่องจากประชาธิปไตยเลือกตั้งอาจนำไปสู่ลัทธิเสียงส่วนใหญ่ หรือโดยเผด็จการรัฐสภา หรือการปกครองโดยแกนนำของพรรคได้ง่าย จึงต้องมีหลัก 2 หลักมาคอยถ่วงดุลไว้คือ

ค. หลักสิทธิของประชาชน (Bills of Rights) ซึ่งกำหนดสิทธิด้านต่างๆ ตั้งแต่สิทธิรุ่นที่หนึ่ง คือ เสรีภาพด้านต่างๆ ของประชาชน สิทธิรุ่นที่สอง คือ สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม สิทธิรุ่นที่สาม คือ สิทธิแยกย่อยต่าง เช่น สิทธิเด็ก สตรี คนพิการ เกย์ เลสเบี้ยน สิทธิชุมชน ฯลฯ ไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ หรือแยกไว้ต่างหากก็ได้

ง. หลักการตรวจสอบโดยตุลาการ (ตุลาการภิวัตน์ หรือ Judicial review)

จ. หลักอดทนอดกลั้น (Toleration) ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักเสรีนิยม สอดคล้องกับโลกปัจจุบันซึ่งมีความหลากหลายของบุคคล กลุ่ม ลัทธิ ความเชื่อ จึงมีสิทธิต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกันมาก กรณีที่หาข้อรอมชอมกันไม่ได้ ก็ต้องอาศัยการตัดสินของอำนาจตุลาการ ซึ่งปัจจุบันมักใช้หลักการถ่วงดุล หรือคำนึงสัดส่วน (balancing หรือ proportionality) ระหว่างวิธีการกับเป้าหมาย ระหว่างส่วนน้อยกับส่วนใหญ่ ระหว่างสิทธิต่างๆ ให้เกิดความสมเหตุสมผลมากที่สุด

ฉ. หลักความเอื้ออาทรต่อผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมอยู่ในชะตากรรมที่เลวร้าย นักคิดไม่ยอมรับหลักการนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มเสรีนิยมใหม่ ที่เชื่อระบบตลาดหรือระบบเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ศาลในหลายประเทศได้เน้นจุดนี้มากพอสมควร

2
ประเทศไทยเริ่มถลำเข้าสู่วิกฤติตีบตันไร้ทางออก


1. ประเทศไทยกับภาวะ 5 เสื่อม
ในอดีตคนไทยเชื่อว่าเมื่อครบพุทธกาล พ.ศ. 5,000 จะเกิด "ปัญจอันตรธาน" หรือความเสื่อม 5 ประการคือ ปริยัติ คือการศึกษาธรรมะเสื่อม ปฏิบัติ คือการปฏิบัติธรรมเสื่อม ตรัสรู้เสื่อม เพศสมณะเสื่อม พระสงฆ์เหลือเพียงจีวรเหน็บหู และสุดท้ายพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คุ้มบ้านคุ้มเมืองเสื่อม ปัจจุบันคนไทยก็เข้าสู่ภาวะ 5 เสื่อม อาจเหลือเพียงหลักการปกครองโดยกฎหมาย (rule of law) และศาลยุติธรรมที่ดำรงอยู่เป็นหลัก ภาวะ 5 เสื่อมมีดังนี้

1) ความสามัคคีในบ้านเมืองเสื่อม ที่สำคัญในหมู่ประชาชนระดับรากหญ้าเริ่มเกิดปัญหา คือการแบ่งเป็นหมู่เหล่า เป็นท้องถิ่นนิยม ภาคนิยม เป็นระดับรากหญ้าที่นิยมทักษิณกับชนชั้นกลางที่ไม่เอาทักษิณ การที่พรรคฝ่ายทักษิณได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งท่วมท้น ไม่ได้เกิดจากปัจจัยซื้อเสียงหรือประชานิยมอย่างเดียว แต่เกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจ ถูกดูหมิ่นดูแคลนของชาวบ้านอีสาน-เหนือจากส่วนกลางและชนชั้นนำไทย จึงเกิดทิฐิมานะที่จะแสดงสิทธิเสียงของตนในการเลือกพรรคของทักษิณ ซึ่งเข้าถึงใกล้ชิดชาวบ้านมากกว่าชนชั้นนำซึ่งห่างไกล แปลกแยก เราต้องพิจารณาจริงจังว่านี่เป็นปัญหาที่อาจจะร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ที่ต้องเยียวยาแก้ไข ความขัดแย้งดังกล่าวจะยังดำรงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 สมัยเลือกตั้ง

2) ภาคการเมืองเสื่อม การคอร์รัปชั่น ใช้อำนาจไม่ชอบธรรมของพรรคการเมือง นักการเมือง เป็นต้นเหตุของวิกฤติ กลไกสำคัญของภาคการเมืองคือรัฐสภาและการเลือกตั้ง ไม่สามารถคลี่คลายวิกฤติและบริหารประเทศอย่างได้ผลได้ สภาเริ่มเป็นที่ทะเลาะโจมตีมีเหตุรุนแรงเหมือนการเมืองนอกสภา

3) ภาคสังคม คือ สถาบันวิชาการ สื่อ เสื่อม แตกแยกทางความคิดความเห็น เครื่องมือหลักของภาคสังคมคือการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้

4) กองทัพ อดีตข้าราชการ เทคโนแครต ชนชั้นนำ ที่เรียกรวมๆ ว่า อมาตยาธิปไตยก็เสื่อม เพราะพิสูจน์ตัวเองว่ามีความคิดล้าหลังไม่ทันสถานการณ์ ไม่สามารถบริหารวิกฤติอย่างมีประสิทธิภาพได้

5) คุณธรรมเสื่อม คนไทยเริ่มมองว่าคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดา โกงก็ได้ขอให้ทำงาน

ประเทศไทยอาจเหลือเพียงสถาบันเดียวคือศาลยุติธรรม ซึ่งมีหลักการปกครองโดยหลักกฎหมาย (Rule of Law) ที่จะมาช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ในที่สุด ทั้งนี้เพราะในอนาคตคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลทักษิณ คมช.และองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งที่จะเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน จะเข้าไปคับคั่งที่ศาล ทั้งนี้ศาลย่อมพิพากษาตัดสินโดยปราศจากอคติล่วงหน้า โดยหลักดุลยพินิจที่ดี (Discretion) โดยหลักการสมเหตุสมผล (Reasonableness) โดยหลักความยุติธรรม (Fairness) และการคำนึงบริบทประวัติศาสตร์ สังคม โดยรวมด้วย (Proportionality) ถ้าทุกฝ่ายยอมรับการตัดสินของศาล วิกฤติในไทยก็อาจคลี่คลายได้ในที่สุด

2. ประเทศไทยเริ่มถลำเข้าสู่วิกฤติตีบตันที่ไร้ทางออก เพราะคนไทยไม่มีกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ดีพอ
1) คนไทยไม่มีกลไกที่ดีในการแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Resolution) มาแต่ไหนแต่ไร ในอดีตมักอาศัยแนวประเพณีคือ มี "ผู้ใหญ่" คอยไกล่เกลี่ย แต่ปัจจุบันไม่ได้ผล เพราะ "ผู้ใหญ่" ในบ้านเมืองเหลือน้อย บางส่วนความคิดเริ่มล้าสมัย ถูกท้าทายอำนาจบารมีจากอำนาจรุ่นใหม่ เกิดอาการต่างคนต่างใหญ่ ต่างถูกต้อง ไม่มีใครฟังใคร

2) การที่คนไทยปล่อยปละละเลยในปัญหาการโกงกินบ้านเมือง การใช้อำนาจมิชอบ ถือว่าเป็นธุระไม่ใช่ เป็นการซ้ำเติมให้บ้านเมืองวิกฤติอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ในอดีตซึ่งบ้านเมืองไม่ซับซ้อนก็ไม่เป็นปัญหามากนัก แต่เมื่อบ้านเมืองมีขนาดใหญ่ซับซ้อนขึ้น ปัญหาที่หมักหมมจึงแสดงอาการออกมาอย่างรุนแรงจนไม่มีหนทางแก้ไข

3) ความเสื่อม 5 ประการ บวกกับรัฐบาล พปช. อ่อนแอ สถานการณ์ถูกซ้ำเติมโดยการรีบร้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีโอกาสนำไปสู่การชุมนุมเผชิญหน้าของพลังแต่ละฝ่าย การเมืองไทยจึงจะอยู่ในภาวะตีบตัน เพราะรัฐประหารไม่ใช่ทางออก การปราบปรามปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ไม่ใช่ทางออก คนไทยจะตึงเครียด หวาดกลัว วิตกกังวลไปยาวนาน มีโอกาสปะทุเป็นความรุนแรงย่อยๆ (ดังเกิดขึ้นในกรณีชกต่อยในสภา) และขยายลุกลามได้ง่าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท