Skip to main content
sharethis

วานนี้ 30 มี.ค. 51 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดเสวนาหัวข้อ การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปฎิปักษ์ประชาธิปไตย จัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


โดย นายสมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้อ่านแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ว่า เนื่องจากมีการนำเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและบรรยากาศทางการเมืองเป็นแบบอำเภอใจพอสมควร อย่างกรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พูดกับนักข่าวว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยไม่ต้องถามฝ่ายค้านและจะไม่ทำประชามติ แบบนี้จะทำให้กลับไปสู่การเมืองเผด็จการรัฐสภาอีกครั้ง ดังนั้นเราขอเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เนื่องจากมาจากเหตุการณ์ 19 ก.ย. 49 ร่างรัฐธรรมนูญภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับขวาพิฆาตขวา คนข้างบนเล่นคนข้างบน ทำให้ประชาชนเป็นเหยื่อของการเมืองไม่ได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น          


 


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่าแนวทางในการจะก้าวให้พ้นไปจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 อย่างสันติ คือ 1. การแก้รัฐธรรมนูญจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ที่มา เจตนารมณ์และโครงสร้าง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงมาตรา หากต้องมีการแก้ไขเพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นทั้งฉบับ โดยนำเอาแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นต้นแบบในเชิงกระบวนการ


 


2. การจะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายจะเกิดขึ้นได้ จากกระบวนการมีส่วนร่วมที่กว้างขวาง ด้วยการทำประชาพิจารณ์อย่างแท้จริงว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดขึ้นจากฉันทามติของสังคมไทยและเป็นฐานความชอบธรรมที่ทำให้รัฐธรรมนูญ ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง


 


นายเกษียร   เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวโน้มทางการเมืองไทย 4-5 ปีข้างหน้าจะมีเหตุการณ์ทะเลาะกันหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องระบอบการเมืองการปกครอง คือระบอบประชาธิปไตยไม่เสรีและระบอบเสรีไม่ประชาธิปไตย แม้ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยแต่ในแง่ระบอบนิติธรรมกลับไม่เสรี เป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ประชาชนอยากย้อนกลับไปสู่ระบอบทักษิณ ซึ่งคู่ชกของเขาคือระบอบเสรีแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างพวก คมช. คือปฏิเสธความเสมอภาคของประชาชน จึงให้คนจำนวนหนึ่งมาร่างรัฐธรรมนูญ ให้คนจำนวนหนึ่งมาปกครอง แล้วบอกตัวเองอยากแก้เรื่องเสรีภาพ หลักนิติธรรม เป็นระบอบที่อ้างเสรีแต่ประชาธิปไตยไม่ให้ ทำให้พรรคการเมืองถูกจำกัดและทำให้อ่อนแอลง นายเกษียรเห็นว่า การเมืองไทยจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเครือข่ายอำนาจราชการที่มีอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกว่าผู้มีอำนาจนอกระบบและเครือข่ายทักษิณ ซึ่งก็ยังมีการต่อสู้กันระหว่าง 2 กลุ่ม และใช้ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นเดิมพัน


 


นายเกษียร กล่าวต่อว่า หากดูรายละเอียดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการเมืองภาคตัวแทนไม่ได้ให้ประโยชน์ อะไรกับการเมืองภาคประชาชน แก้ให้นักการเมืองได้อำนาจแต่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย กลับสู่กรอบเก่า แล้วมีการนำอำนาจประชาชนไปแลกเปลี่ยกัน เอาสิทธิเสรีภาพของเราไปแลก จะเห็นได้ว่ามีการเอารัฐธรรมนูญมาตรา 309 ไปแลกไม่ให้มีการแก้ไข ทั้งที่มาตราดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เขาเห็นว่า ความจริงแล้วก็มีกฎหมายอื่นที่ควรแก้มากกว่านี้อย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง


 


จะเห็นว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญก็จะทำโดยเร่งรัดโดยเร็ว โดยออกมาบอกว่าไม่อยากรบกวนประชาชน ดังนั้นเห็นได้ชัดว่า ประชาชนกลายเป็นเบี้ยให้คุณแลกอีกแล้ว   สิ่งที่ตนวิตกคือแก้แบบนี้ประชาชนจะลงเอยแบบซวย 2 ต่อ คือได้ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบแบบไม่เสรี ดังนั้นต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไข ไม่ใช่เอาอำนาจประชาชนไปต่อรอง ไม่ใช่แบบ 2 เครือข่ายนึกอยากทำอะไรก็ทำ


 


ด้านนายสมชาย ปรีชาศิลปะกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า   สถานการณ์การเมืองจะเกิดปฏิปักษ์ของ 2 ฝ่ายซึ่งอยู่รวมกันไม่ได้กลุ่มหนึ่งมุ่งสนับสนุนอมาตยาธิปไตยใหม่ คือระบอบรัฐสภาที่มีอยู่แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุม ที่อยู่ในรูปองค์กรอิสระที่เข้ามาควบคุม ที่คอยควบคุมนักการเมือง บทบาทของคนกลุ่มนี้ จะทำหน้าที่ พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2550


 


สำหรับอีกฝ่ายหนึ่งนายสมชายเห็นว่าเป็น พวกที่มาจากพรรคการเมืองที่อึดอัดกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้   ประเด็นที่พวกเขาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะช่วงชิงอำนาจทาง การเมืองของพวกเขาให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะมาตราที่พรรคพลังประชาชนเสนอแก้ไขเพื่อให้อำนาจนักการเมืองเพิ่มสูงขึ้น


 


นายสมชาย กล่าวต่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีลักษณะเด่น 3 ด้าน คือมาจากการรัฐประหารและต้องการปกป้องรัฐประหาร แต่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง  และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ไร้การตรวจสอบ  อำนาจอันนี้ปราศจากการตรวจสอบ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยืนอยู่กับระบอบอมาตยาธิปไตยใหม่ ตั่งแต่เกิดขึ้นเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่สมานฉันท์ เป็นการปิดประตูตีแมว ไม่เหมาะกับสังคมไทยต่อไป ซึ่งอนาคตหากไม่แก้รัฐธรรมนูญเราจะมีระบบรัฐสภาที่มีพรรคการเมืองน่อมแน่ม เพราะพรรคการเมืองพร้อมที่จะถูกยุบได้ทุกเมื่อ พรรคการเมืองมีพลังในการต่อรองน้อย หลักนิติธรรมจะถูกทำลายต่อไป เพราะการทำรัฐประหารได้ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในมาตรา 309  


 


นายสมชายกล่าวว่า แต่หากมีความพยายามจะแก้อย่างแนวทางที่พรรคพลังประชาชนจะทำให้มีแนวโน้ม ในการเผชิญหน้ามากขึ้นระหว่างกลุ่มพันธมิตรรากหญ้าและกลุ่มพันธมิตรที่มีผู้นำเป็นคนชนชั้นกลาง และจะทำให้การเผชิญหน้าและการปฏิปักษ์อาจเกิดขึ้น หรือไม่ก็อาจเกิดการแลกผลประโยชน์เกิดขึ้น อาจยอมให้แก้ไขเรื่องอำนาจทางการเมือง แต่ไม่มีการแก้ไขในมาตรา 309


 


ที่มา: เว็บไซต์มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net