Skip to main content
sharethis

วานนี้ (30 มี.ค.) คณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี (คปส.) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง "กฎหมายกับอำนาจยุบพรรคการเมือง: พัฒนาหรือวิบากกรรมสังคมไทย" ที่ห้องอินทนิล อาคารมหาจักรีสิรินทร จันทรเกษมปาร์ค มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วรพล พรหมิกบุตร อาจารย์วสันต์ ลิมป์เฉลิม รองศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนาพานิช นายกมล บันไดเพชร และนายจาตุรนต์ ฉายแสง


 


นายวสันต์ ลิมป์เฉลิม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ราชภัฏธนบุรี กล่าวถึงประเด็นการยุบพรรคการเมืองว่า ถ้าจะเข้าใจสถานการณ์ในปัจจุบันก็ต้องดูสถานการณ์ในอดีต ซึ่งกรณีการยุบพรรคไทยรักไทยเป็นสิ่งซึ่งไม่น่าจะเกิดได้ก็เกิดมาแล้ว ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาเรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้นมี 3 ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ ยุบพรรคคราวที่แล้ว มีปัญหาอะไร ประการต่อมา คือ จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร และสุดท้าย ปัญหาใหม่จะมีทางออกอย่างไร


 


นายวสันต์กล่าวว่า การยุบพรรคไทยรักไทยคราวที่แล้ว มีปัญหามากในแง่การใช้กฎหมายและข้อเท็จจริง ปัญหาที่สังคมไทยยังเป็นอยู่ก็คือปัญหาเรื่องการมองข้อเท็จจริง กรณียุบพรรคไทยรักไทยที่ผ่านมามีความสับสนในการใช้ข้อเท็จจริง ซึ่งแม้แต่บุคคลระดับศาสตราจารย์ อมร จันทรสมบูรณ์ ก็ยังชื่นชมคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่คำวินิจฉัยดังกล่าวมีปัญหาในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำวินิจฉัยหน้า 92-93 ที่ให้เหตุผลประกอบในการพิจารณาความผิดของพรรคไทยรักไทย โดยใช้ถ้อยคำว่า "น่าสงสัยว่า"... แล้วก็สรุปว่าพรรคไทยรักไทยมีความผิด


 


"เป็นเหตุผลประกอบก็จริง แต่ไม่มีการพิสูจน์อะไรเลย ตุลาการเพียงแต่ทบทวนข้อกล่าวหา แล้วก็ยังบอกว่านี่คือข้อวินิจฉัยที่ดี


 


"นี่คือความสับสนเรื่องข้อเท็จจริง ว่าถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพูดอะไรออกไปแล้วก็ถือเป็นข้อเท็จจริง เราคนไทยสับสนระหว่างข้อกล่าวหากับกระบวนการพิสูจน์ข้อกล่าวหา สิ่งทีเกิดขึ้นในสังคมไทยทีผ่านมา เป็นการกล่าวหา แต่ไม่เคยเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์เลย


 


"ปัญหาก็คือว่าข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวหาเกิดขึ้น แต่เป็นจริงหรือไม่ตามที่กล่าวหานั้นเป็นเรื่องต้องพิสูจน์ แต่ในการยุบพรรคคราวนั้น ไม่มีการพิสูจน์เลย มีแต่การทวนข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น และก็มีถ้อยคำว่า "มีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัย" อยู่หลายครั้ง เท่ากับว่า เพียงแต่มีข้อเน่าเคลือบแคลงสงสัย ก็นำมาสู่การยุบพรรคได้"


 


สำหรับการแก้ปัญหาอันเกิดจากการวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยคราวที่แล้วนั้น นายวสันต์กล่าวว่า การยุบพรรคคราวที่แล้วไม่ได้อยู่ที่มีการกระทำความผิด เพราะฉะนั้นไม่ต้องมีการนิรโทษกรม และก็ไม่เห็นด้วยกับการบรรเทาโทษ เพราะไม่มีความผิด แต่ต้องมีการบรรเทาความเสียหาย โดยการคืนสิทธิเลือกตั้งให้เขาไป


 


นายวสันต์กล่าวต่อไปถึงปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากคดียุบพรรคการเมืองครั้งใหม่ว่า การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นไปตามหลักการที่สำคัญก็คือ ต้องมีการล้มล้างระบบแบบประชาธิปไตย เช่นใช้กำลังอาวุธ ดังกรณีของประเทศเยอรมันมีการยุบพรรคนาซี ยุบพรรคคอมมิวนิสต์


 


"มีกรการอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ศึกษาจากต่างประเทศมาอย่างดี แต่ต่างประเทศเขาไม่ได้ยุบพรรคแบบซี้ซั้วแบบประเทศไทย"


 


นายวสันต์กล่าวว่า วิธีแก้ปัญหาเรื่องการยุบพรรคการเมืองก็คือ เมื่อบ้านเมืองกลับมาสู่การเลือกตั้ง มาสู้ระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็ควรจะต้องกลับมาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความผิดพลาด


 


สุดท้าย นายวสันต์ตั้งข้อสังเกตว่า รายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มีบุคคลที่เป็นผู้ร่างรับธรมนูญฉบับปัจจุบันด้วยถึง 3 คน ทั้งๆ ที่ตามหลักกฎหมายก็คือ ผู้ร่างฯ ต้องไม่ใช่ผู้มาตีความกฎหมายเสียเอง ถือเป็นปัญหาการแบ่งแยกอำนาจที่เลอะเลือนอีกปัญหาหนึ่งด้วย


 


ด้านนายกมล บันไดเพชร ฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นทนายความที่ร่วมแก้ไขชี้แจงกรณียุบพรรคไทยรักไทยกล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จะระบุว่ามีความผิดใดบ้างที่เป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมือง โดยบทบัญญัตินั้นเป็นเรื่องการล้มล้างการปกครอง เป็นเรื่องการใช้อำนาจ ที่นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญให้ได้มาซึ่งอำนาจ ล้านเป็นความผิดเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติรัฐประหารทั้งสิ้น เพราะเจตนารมณ์เดิมคือป้องกันการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งนี้แม้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง แต่ การให้ใบแดงไม่ใช่เป็นเหตุนำไปสู่การยุบพรรค


 


ทว่าการพิจารณาคดียุบพรรคไทยรักไทย ตามหลักยุติธรรมแล้วให้พยานทั้งสองฝ่ายเข้าสนับสนุนข้อกล่าวหาหรือแก้ข้อกล่าวหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นพิจารณาข้อกล่าวหา การสอบสวนมีการสอบสวนฝ่ายเดียว ไม่เคยเรียกให้พรรคไทยรักไทย ได้เข้าไปชี้แจงเลย โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลของการสอบสวนโดยไม่เรียกคู่ความอีกฝ่ายเข้ามาว่าเป็นการสอบสวนของนายทะเบียนพรรคการเมือง จึงไม่จำเป็นต้องใช้มติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่การสอบสวนต้องให้ทั้งสองฝ่ายเข้ามาชี้แจง


 


ทั้งนี้ นายกมลกล่าวว่า คำสอบสวนที่ทำการสอบสวนนั้นก็เป็นคำสอบสวนซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการสอบสวนพยายานแล้วถือว่าคำสอบสวนนั้นเป็นการสอบสวนของคณะอนุกรรมการ


 


"ผมในฐานะทนายความได้ร้องต่อตุลาการศาลรับธรรมนูญเพื่อจะขอพิสูจน์ความถูกจ้องของเอกสาร ตอนนั้นไม่ทราบคุณสุเทพไปเอาภาพที่กระทรวงกลาโหมมาได้อย่างไร แต่เราขอไปที่กระทรวงกลาโหมอย่างเป็นทางการ เอาภาพวงจรปิด ที่มีลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่นายชวการกับพวกเข้าไปที่กระทรวงกลาโหม แต่ไม่มีตอนใดเลยที่ปรากฏว่านานชวการได้เข้าไปพบพลเอกธรรมรัฐ แต่ตุลาการศาลฯ อ้างว่าได้สอบสวนพยานจากกระทรวงกลาโหม โดยพยานให้การว่าภาพทั้ง 9 ภาพนั้นเป็นภาพที่ปรากฏใน CCTV จริง


 


"อีกประการหนึ่ง ในสำนวนการสอบสวน ในขณะทีเกิดเหตุ นายสุขสันต์ไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาประชาธิปไตย แต่ในเป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ กรณีแบบนี้ต้องพิสูจน์ให้เห็น และพยานแบบนี้เป็นน้ำหนักพยานที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะมีส่วนได้เสีย กรณี ถ้าเป็นศาลปกติก็จะเห็นงว่าพยานคดีนี้เป็นพยานที่แทบจะไม่มีน้ำหนัก


 


"การสอบสวนอย่างนี้และฟังพยานแล้วเชื่อตามคำกล่าวหาทั้งหมด แล้วลงโทษยุบพรรคและตัดสิทธิการเมือง โดยคนเพียง 5 คน ทั้งๆ ที่คนที่ถูกตัดสินได้รับเลือกมาโดยประชาชน เหตุการณ์แบบนี้กำลังจะเวียนมาอีกรอบหนึ่ง"


 


จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากกรณียุบพรรคไทยรักไทยที่ผ่านมา ให้ความเห็นว่า ระบบกฎหมายของประเทศไทยเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง เป็นกฎหมายที่ไม่เห็นความสำคัญของพรรคการเมือง ต้องการทำให้พรรคการเมืองและรัฐบาลอ่อนแอ


 


ในความเป็นจริงก็คือ ระบบกฎหมายนี้เป็นระบบกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขัดต่อหลักนิติธรรมรวมทั้งไม่เป็นประโยชน์ไดๆ ต่อประชาธิปไตย ระบบกฎหมายนี้กำลังจะนำประเทศไปสู่วิกฤตทางการเมือง และเหตุหนึ่งที่บ้านเมืองมีวิกฤตินั้นเป็นเหตุจากการที่อำนาจต่างๆ ไปอยู่ในเงื้อมมือของคนที่ตรากฎหมาย


 


ผลของการที่ได้เพิ่มมาตราที่ 21 ใส่เข้าไปในรัฐธรรมนูญปี 2550 จะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง และรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ทำให้กฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคมีความเลวร้ายอย่างสมบูรณ์ โดยที่กฎหมายบัญญัติเพียง "เชื่อว่า" ได้กระทำความผิดก็ถือเป็นความผิด รวมถึงการที่บุคคลคนหนึ่งทำความผิดแล้วให้ถือเป็นความผิดร่วมกัน ซึ่งขัดกับหลักนิติธรรม นอกจากนี้ เมื่อมีการยุบพรรคเกิดขึ้น ส.ส. ที่เคยสังกัดพรรคที่ถูกยุบก็ไม่สามารถตั้งพรรคใหม่ได้เอง ต้องไปสังกัดพรรคที่มีอยู่


 


"ประชาชนเขาเลือกพรรค เพราะ ส.ส. สังกัดพรรคที่มีนโยบายพรรคอย่างหนึ่ง แล้วเขาต้องหาสังกัดภายในเวลาที่กำหนด พรรคนั้นเป็นพรรคอื่นที่ไม่ได้มีนโยบายอย่างที่ประกาศเอาไว้ แต่คนเหล่านี้ไม่สามารถที่จะร่วมมือกันตั้งพรรคการเมืองขอตนเอง จะไปทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนไม่ได้ เขาต้องทำแตกต่างไปจากที่สัญญาไว้กับประชาชน นี่เท่ากับว่าคนๆ เดียวกระทำผิดแล้วปล่อยให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 14 คนสามารถเปลี่ยนแปลงได้หมดเลย เปลี่ยนแปลงนโยบาย เปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนแปลง ส.ส.


 


"วันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น มันเกิดได้หลายแบบ มันก็จะยุบได้อีก จะยุบพรรคไหนไม่ยุบพรรคไหน ขึ้นกะคน 14 คนนี้ อย่างนี้เป็นระบบกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เป็นกฎหมายที่ให้บ้านเมืองอยู่ในมือคนไม่กี่คน ผมไม่ได้มาพูดเพื่อจะบอกว่าหาทางไม่ให้ยุบพรรคมัชฌิมา หรือพรรคอื่นเพราะถ้าดูตรมความจริงแล้ว ผมว่ารอดยาก"


 


นายวรพล พรหมิกบุตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยากล่าวว่า ปัญหาเรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้นเป็นเพียงปัญหาหนึ่งจากการที่กลุ่มอิทธิพลภายนอกเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยโดยกลุ่มอิทธิพลภายนอกนี้อาจจะถูกเรียกได้หลายชื่อ เช่น อมาตยาธิปไตย เป็นต้น ทั้งนี้กลุ่มอิทธิพลนอกรัฐธรรมนุญนั้นไม่ประสงค์ที่จะลงแข่งขันทางกรเมือง ตาประสงค์ที่จะมีอำนาจในการเมืองโดยการส่งคนเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาขากการแต่งตั้ง องค์กรอิสรระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ปปง.


 


นายวรพลกล่าวต่อไปว่า กลุ่มอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ หรือที่มักถูกเรียกว่าอมาตยาธิปไตยนั้น ส่วนใหญ่มีปูมหลังอาชีพการงานเป็นข้าราชการระดับสูง แต่สามารถใช้เครือข่ายระบบอุปถัมภ์ และอาศัยบทเฉพาะกาลในการส่งต่ออิทธิพล


 


"ปัญหานี้ถ้านำเอารัฐธรรมนุญ 2550 เป็นตัวตั้ง บทสรุปของผมคือ รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้เป็นการกดอำนาจอธิปไตยของปวงชนให้อยู่ภายใต้อำนาจของคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเข้ามาควบคุมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น ใช้กลไกผ่านวุฒิสภาในการถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะก่อให้เกิดปัญหารุนแรงต่อประชาธิปไตยไทย"


 


ในท้ายที่สุด นายวรพล ได้เสนอว่า หากจะแก้ปัญหาเรื่องการยุบพรรคการเมืองจะรอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงจะช้าไม่ทันการแล้ว เพราะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคคงจะเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นขอเสนอให้ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อในสภาผู้แทนราษฎรหาทางนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มาใช้แทนฉบับนี้เสียก่อนและแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ จากฐานของรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วกำหนดในบทเฉพาะกาลให้องค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมืองยุติบทบาทจนกว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขเสร็จเรียบร้อย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net