Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

กานต์ ยืนยง : http://www.siamintelligence.com

ชื่อเดิมของบทความ: ไปให้ไกลกว่า "xxx กระปุก"

 

-1-

อาทิตย์ที่แล้วมีการส่งข่าวสารเล็กๆ ผ่านชุมชนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ทั้งการโพสต์ความเห็นในบล็อก, ส่งข่าวสารผ่าน Instant messaging (เช่น gtalk, msn) หรือ ส่งข่าวสารผ่าน micro-blog (เช่น twitter.com) ตลอดจนประกาศข่าวผ่านทาง social bookmark ข่าวสารที่ดูครั้งแรกเป็นเพียงเรื่องเล็ก พลันสายลมบางเบาที่เกิดจากผีเสื้อขยับปีกนี้ก็กลับกลายเป็นพายุใหญ่ลูกหนึ่ง ที่ปรากฎตัวเป็นการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในแวดวงไอที

 

ปรเมศวร์ มินศิริ เก็บภาพจากคลิปแถลงข่าวในเว็บ duocore

เรื่องดังกล่าวคือการที่มีผู้ใช้งานคนหนึ่งไปพบเว็บไซต์ที่มีชื่อโดเมนว่า xxx.kapook.com (1) ภาพจับหน้าจอของเว็บไซต์แห่งนี้ ที่ถูกนำมาเปิดเผยแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ของเว็บไซต์แห่งนี้ เป็นเว็บไซต์ที่เน้นให้บริการข่าวสารที่หมิ่นเหม่ในเรื่องทางเพศ ด้วย "คำสำคัญ" (keyword) อย่างเช่น "เรื่องเสียว", "xxx", "แอบถ่าย",ทำนองนี้เป็นต้น มีแม้กระทั่ง วิดิโอคลิป ซึ่งเป็นเนื้อหาบางส่วน (sample) จากภาพยนตร์เรตเอ็กซ์ (แต่ไม่ได้มีภาพโป๊เปลือย) ดังนั้นในเบื้องต้น พฤติกรรมเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้สำหรับผู้ใช้บางกลุ่มที่พิจารณาว่า พื้นที่เว็บไซต์แห่งนี้เป็นโดเมนย่อย (sub domain) ของเว็บไซต์ kapook.com ซึ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายไปยังวัยรุ่น และปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 2 ของเว็บไซต์ในประเทศไทย (2)

สิ่งที่ซับซ้อนกว่านั้นคือ ผู้ใช้ที่มีความรู้ทางเทคนิคยังได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับ "ความชอบธรรม" ในการแทรกคำสำคัญเพื่อจุดหมายในการเพิ่มอันดับการรายงานผลค้นหาผ่านเว็บไซต์ Google เพื่อเพิ่มโอกาสในการดึงปริมาณการใช้งานของผู้ใช้ที่นิยมการค้นหาข้อมูลจาก Google อีกทอดหนึ่ง

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องซับซ้อน (สำหรับผู้ใช้ทั่วไป) เพราะในขณะที่ผู้ใช้ที่มีความรู้ทางเทคนิคได้ตัดสินไปแล้ว (ผ่านข้อเขียนของตนเอง) ว่าวิธีที่เว็บไซต์ kapook.com ใช้นั้น เป็นวิธีที่ผิด เข้าข่าย Blackhat SEO (3) (หรือ Spamdexing) เนื่องจากทำให้ผู้ใช้ได้รับรายงานผลการค้นหาเว็บไซต์ที่ไม่ได้อยู่ในความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งาน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิในการรับรู้ข่าวสารที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะได้รับอย่างที่ควรจะเป็น แต่ ปรเมศวร์ มินศิริ เจ้าของเว็บไซต์ kapook.com ก็ได้ออกมาโต้แย้งว่าเขาไม่ได้ทำ Blackhat SEO (4) แต่ในความเป็นจริง การตัดสินใจว่าการทำ SEO ของ kapook ในครั้งนี้เข้าข่าย Blackhat SEO หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ความเห็นของผู้ใช้ที่มีความสามารถเชิงเทคนิค, ไม่ได้อยู่ที่การชี้แจงของปรเมศวร์, ไม่ได้อยู่ที่แม้กระทั่งความเห็นของชุมชนอินเทอร์เน็ต แต่น่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของ Google อย่างเต็มที่ ดังที่ผมจะได้เล่าต่อไปข้างหน้า

สิ่งที่ผมให้ความสำคัญและอันที่จริงกลับกลายเป็นใจกลางของการถกเถียงในข้อนี้คือเรื่อง ภาระความรับผิดชอบในเชิงศีลธรรม (Moral responsibility) (5) ทั้งนี้เพราะตัวปรเมศวร์เองเคยทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตสีขาวเพื่อเยาวชน (6) ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการภายใต้ความดูแลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย โดยมีเป้าหมาย (ตามคำให้สัมภาษณ์ของปรเมศวร์เอง) ว่า "ต้องการให้เว็บแห่งนี้เป็นแหล่งรวมข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับผู้ใกล้ชิดเยาวชน และเป็นเครือข่ายพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ตลอดจน เวบมาสเตอร์ ที่จะได้ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และเป็นหูเป็นตาคอยระแวดระวังภัย โดยใช้โครงการนี้เป็นสื่อกลาง" (7)

แม้โครงการนี้จะสิ้นสุดไปตั้งแต่ 6 ปีก่อน แต่ดูเหมือนว่าภาพลักษณ์ของสิ่งที่เขาทำ โดยเฉพาะ "เน็ตสีขาว" ยังคงติดตัวเขามาตลอด เขาเห็นว่าไม่ได้ต้องการทำเฉพาะเน็ตสีขาวเพียงอย่างเดียว แต่จะไม่ทำ "สิ่งที่ผิด" (เขาใช้คำว่า "หลากสีสัน" แต่จะไม่ทำ "สีดำ") (8) ในอีกด้านหนึ่งเขาก็ยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยอีกด้วย (9) ภาพลักษณ์ที่เขาดำรงตำแหน่งในเชิงสังคม กับการทำธุรกิจที่สมาชิกในชุมชนอินเทอร์เน็ตส่วนหนึ่งมองว่ามีปัญหานั้น ดูขัดแย้งกันเอง จึงเป็นที่มาถึงการเรียกร้องให้ปรเมศวร์แสดงความรับผิดชอบ

 

-2-

ในแง่หนึ่ง การตั้งคำถามถึงความขัดแย้งของการทำหน้าที่ทางสังคม และการทำธุรกิจของผู้ที่มีบทบาทซ้อนทับกันนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ผมอยากชวนให้มองภาพในมุมกว้างมากยิ่งขึ้น เพราะในที่สุดแล้วเราก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า สิ่งที่เราเคลื่อนไหวเรียกร้องนั้น (อย่างเช่น การเรียกร้องให้ปรเมศวร์แสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง) เป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายใด? ใช่หรือไม่ว่า ที่เราสนใจเรื่องนี้ ถึงที่สุดแล้วก็เพราะเราทุกคนล้วนต่างก็กังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเยาวชน?

ผมเคยเขียนบทความแสดงถึงแนวโน้มปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตในหมู่วัยรุ่น (10) ซึ่งผมอ้างอิงจากรายงาน "ไซท์ไกสท์ (Zeitgeist) ประเทศไทย" ของ Google (11) ในรายงานฉบับนี้จะเห็นว่าเราสามารถใช้คำค้น (หรือคำสำคัญ) ที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตป้อนเข้าไปที่เครื่องมือค้นหา (search engine เช่น Google) เพื่อเรียกรายงานเว็บไซต์ที่มีข้อมูลที่ตรงกับคำค้น เป็นตัวแทนที่สะท้อนถึงความสนใจในด้านต่างๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในช่วงเวลาต่างๆได้ ผมใช้ข้อมูลทางสถิติเชื่อมโยงกันและตั้งข้อสังเกตว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นเยาวชนส่วนใหญ่นั้นมีพฤติกรรมในลักษณะที่ 

"สนใจ ชุดนักศึกษา? บ้าคลิป และดารา? เผชิญหน้ากับการเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำตามตำรา จึงทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการค้นอินเทอร์เน็ตมาเพื่อทำรายงานแบบลวกๆ copy & paste?"

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความต้องการของตลาด (ซึ่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่กำลังอยู่ในวัยรุ่นกลายเป็นผู้ใช้หลักที่มีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบช่วงอายุต่างๆ) จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อพิจารณาในแง่อุตสาหกรรมแล้ว ผู้ให้บริการไซต์ท่า (Portal Site) หลักของไทย ต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อสร้างเนื้อหาจับตลาดกลุ่มใหญ่นี้ให้ได้มากที่สุด ปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมยิ่งมากขึ้นเท่าใด นั่นหมายถึงเม็ดเงินโฆษณาย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

เมื่อพิจารณาถึงแหล่งที่มาของหลักของปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์มักจะมาจากสามแหล่งใหญ่ๆ คือการเข้ามาของผู้ใช้โดยตรง (ซึ่งก็มักพึ่งพาการบอกต่อ หรือการประชาสัมพันธ์ในโลกนอกอินเทอร์เน็ต), การอ้างอิงจากเว็บไซต์แห่งอื่น และสุดท้าย (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในปัจจุบัน) คือจากรายงานผลที่เกิดจากการป้อนคำค้นของอินเทอร์เน็ต รูปภาพข้างล่างเป็นหลักฐานการเร่งตัวของปริมาณผู้ใช้งานในสี่เว็บไซต์ท่าหลักในประเทศไทย ที่สะท้อนการแข่งขันอย่างรุนแรงของเว็บไซต์เหล่านี้

 

ภาพแสดงปริมาณของผู้เข้าเยี่ยมชมในระยะเวลา 3 ปีของเว็บไซต์ท่าหลักของประเทศไทย 4 เว็บไซต์ manager.co.th, sanook.com, kapook.com และ mthai.com

เราสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า หากเว็บไซต์เหล่านี้ไม่ผลิตเนื้อหาที่ตอบสนองต่อความต้องการหลักของวัยรุ่นดังที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตไปเบื้องต้นแล้ว เป็นไปได้สูงว่าเว็บไซต์เหล่านี้ไม่สามารถเพิ่มปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ของตนเองได้ในระยะยาว และเมื่อดูลักษณะของเนื้อหาในเว็บไซต์ที่เป็นหน้าหลัก (main page) ของเว็บดังกล่าวแล้ว ก็จะพบเนื้อหาที่ดูเหมือนว่าตอบสนองความต้องการเหล่านั้นอยู่มาก พิจารณาจากคำสำคัญ "เซ็กซี่", "คลิปหลุด", ฯลฯ

ผมคงไม่ได้ต้องย้ำเตือนว่าคอลัมน์หนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์คือ "บีบสิวหัวช้าง" ของคอลัมนิสต์ที่ใช้นามแฝง "ซ้อเจ็ด" ซึ่งมีการเข้าเยี่ยมชมถึงระดับเฉลี่ย 4 แสนครั้งในรอบสัปดาห์ หากเข้าไปอ่านแล้วจะเห็นว่าผู้เขียนใช้สำนวนที่ตอบสนองความต้องการ "ตลาด" เช่นนี้เต็มที่ ดังตัวอย่างข้างล่าง

 

ตั้งแต่โตเป็นสาว นมขาวๆ ของน้องอูฐไม่เคยจะว่างเว้นจากปากผู้ชาย สมัยเข้าวงการใหม่ๆ ก็วาดลวดลายอ่อยจนผู้กำกับน้ำแตกเอ๊ย! สติแตก ดอดเข้าไปปล้ำทำเมีย แรกๆ น้องอูฐก็โวยวายบอกจะไปแจ้งตำรวจ แต่พอได้เงินฟาดปากไปหลายแสน น้องอูฐก็เลยหุบปากซะสนิท จะมีก็แต่ปากล่างเท่านั้นแหละที่อ้าพะงาบๆ ยอมให้ "แท่ง" ผู้กำกับเข้าไปแอกชันในช่องคลอด

กว่าจะสั่งคัตแยก "พี่หำ" กับ "น้องหอย" ออกจากกันได้ น้องอูฐก็หัวสั่นหัวคลอนไปไม่รู้กี่รอบ พอมาเล่นหนังกับ "พี่โหด" มาดนักเลง น้องอูฐก็ไปดูดน้ำพี่โหดอยู่หลายเดือน จนกลายเป็นข่าวอยู่ใหญ่โต สร้างความดีใจให้กับน้องอูฐสุดๆ แสดงมาสองเรื่องไม่ยักมีคนรู้จัก พอกิ๊กกับผู้ชายเท่านั้นแหละดังระเบิด ว่าแล้วน้องอูฐก็เลยเกตคิดแผนเกาะกระเจี๊ยวผู้ชายดัง เริ่มล่าผู้ชายนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 แต่ที่หน้าโง่สุดๆ เห็นจะเป็น "พระเอกไฮโซ" เพราะรายนี้โดนน้องอูฐดูดกระเจี๊ยวแลกเงินกับความดังมาหลายปี ที่ได้ดีเป็นนางเอกก็เพราะติดสอยห้อยไข่หมอนี่ไปไหนต่อไหนนี่แหละ ไม่งั้นลำพังหน้าเหมือนอูฐปวดขี้แบบนี้เหรอจะดังได้ (12)

 

ผมไม่สามารถตอบได้ว่า เพราะเหตุใดเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์จึงยังคงอนุญาตให้มีการผลิตเนื้อหาที่มีลักษณะหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม (ที่ตนเองมักจะอ้างอยู่บ่อยๆ) เช่นนี้อยู่ได้ และยังไม่เห็นมีใครตั้งคำถามให้ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ผู้นำของกลุ่มผู้จัดการออกมาแสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด ทั้งที่ตนเองก็ดำรงตำแหน่ง 1 ใน 5 ของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กำลังเรียกร้องมาตรฐานเชิงจริยธรรมกับนักการเมือง

สิ่งที่พอจะอธิบายได้บ้างคือ เว็บไซต์เหล่านี้พยายามยืนอยู่บนจุดที่หมิ่นเหม่ระหว่างเส้นแบ่งการยอมรับได้ทางสังคม กับการผลิตเนื้อหาตามตลาดให้เป็นที่ถูกใจของผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ (เพื่อผลในการดึงดูดปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชม และหวังผลรายได้จากค่าโฆษณาอีกทอด) จึงไม่น่าแปลกใจที่อาการ "ล้ำเส้น" เชิงศีลธรรมของเว็บไซต์เหล่านี้จึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มาตรฐานทางศีลธรรมจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ตัดสินความถูกต้องได้ยาก ทั้งยังขึ้นอยู่กับความเห็นและภูมิหลังของตัวบุคคล ยังไม่นับถึงอิทธิพลเชิงเชื้อชาติ ศาสนา และอุดมการณ์ทางการเมือง บ่อยครั้งเราจึงเห็นการปรับใช้มาตรฐานทางศีลธรรมอย่างเลือกที่รักมักที่ชังอยู่เสมอ จนลืมไปว่าสุดท้ายแล้วเป้าหมายของเราคืออันใด

หากเคร่งครัดกันจริงๆ แล้ว การที่เราป้อนคำค้นที่ส่อนัยยะเชิงเพศ และ Google สามารถรายงานผลเว็บไซต์ หรือแม้แต่ภาพอนาจาร (Porno) ที่มีความสัมพันธ์กับคำค้นออกมาได้ ก็สมควรที่จะตั้งข้อสงสัยเชิงศีลธรรมกับตัวของ Google เองได้หรือไม่ อันที่จริง Google ก็ได้พยายามหาวิธีจัดการกับปัญหานี้อยู่แล้ว โดยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Safesearch เพื่อใช้กรองเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชนออกไป โดยที่ผู้ใช้สามารถเลือกกำหนดให้  "ปิด" หรือ "เปิด" คุณสมบัตินี้หรือไม่ก็ได้ แต่จากรายงานวิเคราะห์เชิงประจักษ์ระบุว่า เครื่องมือ Safesearch นี้ ได้ปิดกั้นเว็บไซต์ปกติที่ไม่มีเนื้อหาหรือภาพลามกอนาจารแต่อย่างใดออกไปถึง 10 จากผลการทดลอง 1,000 ครั้ง (13) และปัจจุบันบริการนี้ยังไม่รองรับภาษาไทย

ส่วนประเด็นด้านการป้องกัน spamdexing นั้น น่าจะอยู่ในการตัดสินใจของ Google อย่างเต็มที่ เพราะในต่างประเทศมีกรณีที่ SearchKing ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจโฮสติ้งและโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต ได้ฟ้องร้องต่อ Google ว่ามีการลดอันดับการแสดงผลในการค้นหาซึ่งทำให้สูญเสียรายได้ แต่ศาลในสหรัฐฯได้ตัดสินยกคำฟ้องของ SearchKing (14) สำหรับในประเทศไทย Google ได้ทำการแบนเว็บไซต์ครั้งใหญ่เมื่อเดือนมกราคม ทั้งเว็บเล็กเว็บใหญ่ก็โดนแบนไปตามกัน แต่ทำไมยังมีเว็บบางรายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งต้องติดตามดูกันว่ากูเกิลจะรักษาระดับคุณภาพได้อย่างดีแค่ไหนต่อไป

-3-

มาตรการของ Google จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่พยายามหาเส้นทางสายกลางที่จะไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ในขณะเดียวกันก็ต้องหามาตรการป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมของเยาวชนไปพร้อมกัน กระบวนการภาครัฐที่สามารถเข้ามาหนุนเสริมในกรณีนี้ได้คือ ควรมีการแบ่งแยกเนื้อหาสำหรับผู้บรรลุนิติภาวะและเยาวชนออกจากกัน แทนที่จะใช้มาตรการทางศีลธรรมที่ดูคลุมเครือ แต่ไม่สามารถจัดการอะไรได้นอกจากการเลือกที่รักมักที่ชัง

กระนั้น เราก็ยังต้องตั้งคำถามกับ Google ด้วยเช่นกันว่า ในระยะยาวแล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จำต้องฝากความไว้วางใจในการมอบ "ข้อมูลส่วนบุคคล" ให้กับ Google มากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็น อีเมล, ปฏิทิน, เอกสาร, กระดาษคำนวนอิเล็กทรอนิกส์, รูปถ่าย, วิดิโอ และในอนาคตก็อาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นประวัติการรักษาทางการแพทย์ ตลอดจนตำแหน่งที่อยู่ (ซึ่งอาจระบุได้จากคุณสมบัติของโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมโยงเข้ากับ Google) (15) ถึงที่สุดแล้วกระบวนการตัดสินใจในท้ายที่สุดก็อยู่ในมือของ Google (เช่นที่ยกตัวอย่างเรื่องการตัดสินว่าใครจะเป็น Blackhat SEO) และ Google จะนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์อื่นใดอีกหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลและเราจำเป็นต้องพิจารณาต่อไปข้างหน้าแม้ว่าในปัจจุบันอิทธิพลเช่นนี้ของ Google ยังไม่ส่งผลให้เห็นชัดนัก เนื่องจากยังคงมีการแข่งขันกันในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตอย่างรุนแรง และเราก็ตั้งความหวังว่า Google จะยังคงยึดมั่น Motto ของตนเอง ที่ว่า Don"t be evil อยู่ต่อไปในอนาคต (16)

 

ปัจฉิมลิขิต

ผมค่อนข้างเสียใจอยู่บ้างในสองประเด็นคือ ประเด็นแรก มีการตั้งคำถามเชิงศีลธรรมกับปรเมศวร์จนนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บ ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบของเขา ในขณะที่ตัวแทน 3 สมาคมสื่อกลับสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการตรวจสอบอำนาจที่สื่อมีหน้าที่โดยตรงอย่างรุนแรง โดยที่ยังไม่ต้องนับว่าสมาชิกสภานิติบัญญัตินั้นเป็นผลผลิตของการทำรัฐประหาร แต่ไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นแม้จะมีกลุ่มนักข่าวภาคสนามออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยถึง 50 คน (17)

ประเด็นที่สอง ผมมีส่วนในการช่วยเคลื่อนไหวเสรีภาพของสื่อมวลชนปัจเจกชนรายหนึ่ง ซึ่งถูกเอกชนแห่งหนึ่งฟ้องร้องตามกฎหมายในข้อหาหมิ่นประมาทและทำให้เสียชื่อเสียง (18) เหตุการณ์นี้เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของปรเมศวร์กลับมีความรุนแรงกว่ากันมาก การฟ้องร้องครั้งนี้เกิดขึ้นทันทีโดยไม่มีการชี้แจงพูดคุยกัน แต่กลับหาผู้มาเคลื่อนไหวสนับสนุนได้น้อยกว่า ในขณะที่กรณีปรเมศวร์ สิ่งที่เขาแสดงออกยังคงน่าชื่นชมที่เขาเชื่อมั่นและแสดงออกถึงเสรีภาพในการสื่อสาร (Free speech) และการโต้แย้งชี้แจงอย่างเสรี ในขณะที่ก็รับฟังและมีแก้ไขเว็บไซต์หากมีผู้แจ้งเข้ามา โดยไม่มีการใช้กฎหมายในการฟ้องร้องฝ่ายตรงข้าม

ประเด็นแรก-ผมเสียใจในแง่ที่สำหรับบางเรื่องศีลธรรมก็สามารถเป็นข้อยกเว้นได้สำหรับคนบางกลุ่ม ส่วนประเด็นที่สอง สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น ดูเหมือนคล้ายกันในเรื่องเสรีภาพการแสดงออก แต่ผลลัพธ์กลับไม่เหมือนกัน

 

………………………………….

(1) ดู xxx.kapook.com? : http://pittaya.com/2008/03/19/xxx-kapook-com/

(2) ดูการจัดอันดับเว็บไซต์ไทยโดย truehits.net ที่ : http://truehits.net/index_ranking.php

(3) Blackhat SEO คือการทำ Search Engine Optimization (SEO) ด้านมืด, ตามปกติแล้วเป้าหมายการทำ SEO เพื่อเพิ่มยอดผู้เข้าใช้งานโดยพยายามเขียน SEO Copywriting ที่เอาไว้สำหรับให้เครื่องมือค้นหาเว็บไซต์ (web spider, หรือ crawler - นิยมเรียกกันว่า robot) เข้ามาอ่านและวิเคราะห์เพื่อจัดลำดับในรายงานผลการค้นหา ( SEO Copywriting ไม่ใช่ให้คนอ่าน); วิธีที่ผิดซึ่งเป็นด้านมืดอย่างหนึ่งก็เช่น การแทรกคำสำคัญมากเกินไป (spam keyword)

(4) ดูคำให้สัมภาษณ์ของปรเมศวร์ในเว็บไซต์ผู้จัดการhttp://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9510000034021 และต่อมาในการรายงานข่าวจากไทยรัฐออนไลน์ : http://www.thairath.co.th/news.php?section=technology03b&content=83555

(5)  http://en.wikipedia.org/wiki/Moral_responsibility

(6) ดู http://www.thaicleannet.com/

(7) จากใจผู้จัดการโครงการ http://www.thaicleannet.com/modules.php?name=tcn_stories_view&sid=25

(8) ดูการแถลงข่าวและถามตอบของปรเมศวร์ที่ : http://duocore.ch7.com/xxxkapookcom/

(9) ปรเมศวร์ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยในสมัยที่ 3 และ 4 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปีพ.. 2548 - 2552 : http://www.webmaster.or.th/about/committee/twa4 ,  ล่าสุดผมทราบว่าจะมีการแถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งนายกฯสมาคมฯ ในวันนี้ (25 มีนาคม 2551) ดู http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9510000034021 (updated ปรเมศวร์ลาออก)

(10) บทความ "น่าเป็นห่วงอนาคตเด็กไทย" : http://palawat.com/p/?L=blogs.blog&article=30

(11) ดูรายงานได้จาก : http://www.google.com/intl/en/press/zeitgeist2007/ , Google แปลความหมายคำ Zeigeist นี้ว่า "จิตวิญญาณแห่งการเวลา" แต่ผมอยากจะให้ความหมายว่า "จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย" ตามข้อเขียนหนึ่งในบทความของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

(12) อ้างอิงจากบทความ ""น้องอูฐ" ดูดน้ำจาก "เป้า" http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9510000026449

(13) ดู Empirical Analysis of Google SafeSearch : http://cyber.law.harvard.edu/archived_content/people/edelman/google-safesearch/

(14) ดู Judge dismisses suit against Google : http://www.news.com/2100-1032_3-1011740.html

(15) ดู Who"s afraid of Google : http://www.economist.com/research/articlesBySubject/displaystory.cfm?subjectid=10009611&story_id=9725272

(16) Google code of conduct : http://investor.google.com/conduct.html

(17) ดู "เปิดเบื้องหลัง 3 สมาคมสื่อ ขึ้นสู่เก้าอี้สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ" : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5459&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

(18) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง, เป็นกรณีเกี่ยวข้องกับคำถามในแง่ความถูกต้องเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าความรู้ทางวิชาการซึ่งฝ่ายสื่อมวลชนปัจเจกชนมีความเห็นแตกต่างไปอีกทางหนึ่งว่าความรู้นั้นเป็นของสาธารณะ คดีนี้สิ้นสุดลงด้วยการเจรจาประนีประนอมยอมความในศาลจากที่ตอนแรกโจทก์จะเรียกร้องให้ชดใช้ความเสียหาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net