รถไฟไทยสารพัดสัตว์! ถัดจาก "เรือด" ยังมี "แมลงสาบ"!

 

 

 

คืนวันที่ 16 มี.ค. เมื่อกลุ่มผู้สื่อข่าวสายสิ่งแวดล้อมที่เดินทางกลับจากการทำข่าววันหยุดเขื่อนโลก และรำลึกการจากไปของ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ครบ 100 วัน ที่ จ.อุบลราชธานี ได้เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร (กทม.)โดยใช้บริการรถไฟ ขบวนที่  68 ชั้น 2 อุบลราชธานี-กรุงเทพฯ รถนอนพัดลม

 

ก่อนรถออกจากสถานีประมาณ 45 นาที ระหว่างนั่งรอสังเกตุเห็นแมลงสาบตัวเล็กประมาณ 3-4 ตัว วิ่งออกมาจากใต้เบาะที่นั่ง จึงพูดล้อเล่นกันว่า รถไฟขบวนนี้ ไม่มีตัวเรือด มีแต่แมลงสาปและช่วยกันปัดแมลงสาปออก แต่ต่อมาอีกไม่นานมีแมลงสาปขนาดต่างๆ กันอีก 10-20 ตัว วิ่งออกมาจากใต้เบาะที่นั่ง ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งจึงลงจากรถไฟไปแจ้งเจ้าหน้าที่ที่สถานีว่าให้ช่วยจัดการแมลงสาป

 

เจ้าหน้าที่รับปากว่าจะจัดการให้ แต่เมื่อผ่านไปพักใหญ่ ยังไม่มีใครมาจัดการ ขณะที่แมลงสาบยังคงไต่ไปยังที่นั่งข้างเคียง ผู้สื่อข่าวจึงเดินไปแจ้งเจ้าหน้าที่ที่สถานีอีกครั้ง และได้รับคำตอบว่ากำลังดำเนินการแก้ไขให้อยู่ ผู้สื่อข่าวจึงกลับไปขึ้นรถ

 

ระหว่างที่กำลังรอให้เจ้าหน้าที่รถไฟมากำจัดแมลงสาบ เจ้าหน้าที่รถไฟขบวนดังกล่าวยังเดินผ่านไปผ่านมา เมื่อกลุ่มผู้สื่อข่าวขอร้องให้ช่วยมาจัดการอีกครั้งก็ได้รับคำตอบว่ากำลังหาวิธีจัดการอยู่ด้วยสีหน้าและน้ำเสียงที่ไม่พอใจ สักพักใหญ่จึงมีพนักงานทำความสะอาด ถือไม้กวาดมา 1 ด้าม และพยายามกวาดเอาแมลงสาปออกไปแต่ได้เพียงซากแมลงสาบที่ถูกเหยียบตาย

 

ผู้สื่อข่าวและผู้โดยสารที่ร่วมในเหตุการณ์จึงบอกว่า มีรังแมลงสาปอยู่ใต้เบาะให้ใช้ยาฉีด พนักงานของรถไฟอีกคนที่มาสมทบบอกว่า "เป็นเรื่องปกติที่มีแมลงสาป รถไฟขบวนไหนๆก็มีแมลงสาปทั้งนั้น" และบอกอีกว่า "รถไฟขบวนนี้ไปจอดที่สถานีกรุงเทพนาน แมลงสาบอาจจะขึ้นมาจากกรุงเทพก็ได้"

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สื่อข่าวได้ถามเจ้าหน้าที่รถไฟอีกครั้งว่า จะมาจัดการแมลงสาปให้หรือไม่ ซึ่งก็ได้รับคำตอบเช่นเดิมว่ากำลังหาวิธีอยู่ จนกระทั่งรถไฟเคลื่อนออกจากสถานีอุบลราชธานียังไม่มีการจัดการ แต่มีเจ้าหน้าที่รถไฟคนหนึ่งมาแจ้งว่า ได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่สถานีถัดไปให้นำยาฆ่าแมลงมาฉีดให้แล้ว และเมื่อรถไฟมาถึงสถานีสถานีกันทรารมย์ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจึงนำกระป๋องยาฆ่าแมลงเข้ามาฉีดพ่นในตู้รถไฟเพื่อไล่แมลงสาปให้

 

ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งกล่าวว่า เดินกลับจากการทำงานที่ จ.อุบลราชธานี โดยจองตั๋วรถไฟตู้ที่ 8 ที่นั่ง 25 ซึ่งเป็นรถไฟชั้น 2 ประเภทตู้นอนบริเวณชั้นล่าง ขณะที่กำลังนั่งอยู่บนรถไฟ เพื่อรอรถไฟออกเดินทางในเวลา 18.30 น. พบแมลงสาบเดินออกมาจากบริเวณด้านข้างของตู้รถไฟไต่ไปมาตามผนังด้านข้างบริเวณหน้าต่าง รวมทั้งบริเวณที่นั่งผู้โดยสารราว 3-4 ตัว ทำให้คนอื่นๆ ตกใจและกระโดดออกมา ตนจึงพยายามใช้กระดาษชำระหยิบแมลงสาบและโยนทิ้งออกไปนอกหน้าต่าง

 

ต่อมาขณะรถไฟใกล้เคลื่อนขบวนออกเดินทาง แมลงสาบอีกประมาณกว่า 20 ตัว ได้วิ่งออกมาจากบริเวณด้านข้างของตู้รถไฟและกระจายไต่ตามพื้นไปยังที่นั่งใกล้เคียง จึงตัดสินใจแจ้งเจ้าหน้าที่การรถไฟซึ่งดูแลอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบและดำเนินการกับแมลงสาบ แต่ก็ต้องทำการติดต่อแจ้งเจ้าหน้าที่อยู่หลายครั้ง และต้องรออยู่เป็นเวลานาน กว่าที่เจ้าหน้าที่จะนำยาฆ่าแมลงมาฉีดบริเวณบริเวณด้านข้างของตู้และใต้เบาะนั่งก็หลังจากรถไฟเคลื่อนขบวนออกจากสถานีอุบลราชธานีจนถึงสถานีถัดมาแล้ว

 

"สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากให้เจ้าหน้าที่เอาใจใส่และทำความสะอาดตู้รถไฟให้มากขึ้น เพราะประชาชนควรได้รับการดูแลในเรื่องสุขภาพอนามัยในการเดินทาง และไม่ควรให้คำตอบว่ามันเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนควรเคยชิน เนื่องจากรถไฟเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ที่ประชาชนเลือกใช้บริการ" ผู้สื่อข่าวผู้ประสบเหตุคนหนึ่งกล่าว

 


ด้าน นสพ.คมชัดลึก รายงานข้อมูลจาก เว็บบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย พบว่ามีการโพสต์ข้อความร้องเรียนจากผู้โดยสารจำนวนมาก ว่าในตู้รถไฟพบแมลงสาบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรถไฟสายเหนือ หัวลำโพง-เชียงใหม่ ส่วนสายใต้ เช่น ขบวนรถที่ไปหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขบวนรถที่ไปยะลา ซึ่งส่วนใหญ่ บอกว่าบนฟูกที่นอนมีลูกแมลงสาบ อีกทั้งยังมีแมลงสาบเพ่นพ่านในขบวนรถด้วย

 

ส่วนการแก้ปัญหาตัวเรือดในรถไฟนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. ได้ประกาศหยุดเดินรถขบวนดีเซลปรับอากาศด่วนสปรินเตอร์สายเหนือ สายใต้ สายอีสาน ทั้งขาขึ้นและล่องรวม 10 สาย ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม) ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม เพื่อปรับปรุงเบาะนั่ง ตู้โบกี้ผู้โดยสารใหม่ทั้งหมด กรณีพบตัวเรือดซุกซ่อนอยู่ตามเบาะนั่ง และจะเปิดให้บริการอีกครั้งวันที่ 1 เม.ย. สำหรับผู้ที่จองตั๋วไว้ล่วงหน้าในวันเวลาดังกล่าว สามารถนำตั๋วมาคืนได้ โดยได้รับเงินคืนเต็มราคา ไม่ถูกหักค่าธรรมเนียม

 

โดยนายนคร จันทศร รักษาการ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า วิธีการกำจัดตัวเรือดในระยะแรก คือ นำขบวนรถไฟที่มีปัญหามารื้อถอดเบาะและทำความสะอาดด้วยน้ำร้อน และฉีดพ่นสารเคมีเพื่อฆ่าตัวเรือด ส่วนระยะต่อไปจะมีการเปลี่ยนพื้นตัวรถไฟจากไม้อัดเป็น Plastwood และเททับด้วย Erastic 9000 รวมทั้งเปลี่ยนเบาะเป็นหุ้มด้วยหนังเทียมแทนหุ้มกำมะหยี่ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ตัวเรือด โดยคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 21 ล้านบาท ส่วนการหยุดการเดินรถไฟ 15 วัน คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 13 ล้านบาท

 

โดยนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคส่งเจ้าหน้าที่ 8 คน มี นพ.ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นหัวหน้าทีม เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาตัวเรือดในเบาะรถไฟ ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง

 

"เรื่องนี้ผมมีวิธีการกำจัดที่ดีกว่าการใช้สารเคมีฉีดพ่น เพราะอาจหลงเหลือไข่ของตัวเรือดอยู่ และอาจมีปัญหาขึ้นใหม่ได้ ผมเคยไปดูวิธีกำจัดโดยใช้แก๊สอบ โดยกำหนดอุณหภูมิที่พอเหมาะ จะเป็นวิธีการกำจัดตัวเรือดให้หมดไปได้ดีกว่า กรณีของตู้รถไฟนั้นอาจสร้างเป็นห้องอบแก๊สแบบแคปซูลขนาดใหญ่ และนำตู้รถไฟเข้าไปอบในห้องนั้น ซึ่งจะกำจัดได้ทุกซอกทุกมุมของตัวรถไฟ" นายไชยา กล่าว

 

นพ.ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การกำจัดตัวเรือดครั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะเสริมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยจะใช้ 2 วิธีควบคู่กัน ได้แก่ การฉีดพ่นสารเคมี และการอบ หรือรมควันด้วยสารเคมี น้ำยาที่ฉีดพ่นจะใช้อัลฟาไซเปอร์เมทริน (Alphacypermetrine) ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ ผสมน้ำในอัตรา 60 ซีซีต่อน้ำ 7 ลิตรครึ่ง หลังฉีดพ่นตัวเรือดที่สัมผัสสารเคมีจะตายภายในเวลา 2 นาที ฤทธิ์ของยาจะทำลายระบบประสาทของเลือด แต่ไม่สามารถกำจัดเรือดได้ทั้งหมด จะต้องใช้การอบรมควันด้วยสารเคมีที่มีชื่อว่าเดลต้าเมทริน (Deltametrine) ความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ โดยผสมกับน้ำมันดีเซล 49 ส่วนต่อสารเคมี 1 ส่วน ใช้อบนาน ครึ่งชั่วโมงจะทำให้ตัวเรือดตาย ขณะอบจะต้องปิดหน้าต่างรถไฟ สารเคมีทั้งสองตัวไม่เป็นอันตรายต่อคน และไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การกำจัดตัวเรือดจะต้องทำทุก 7 วัน และมีการสำรวจทุก 2-4 สัปดาห์ โดยดูทั้งตัวเรือดและไข่ว่ายังมีอยู่หรือไม่ หากยังพบก็ต้องกำจัดต่อไป

 

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า ตัวเรือดเป็นแมลงขนาดเล็ก ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ตัวเมียวางไข่ได้ประมาณ 150-200 ใบ  ตามร่อง หรือรอยแตกของไม้ ไข่มีลักษณะเป็นสีครีม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ที่อุณหภูมิ 23 องศาเซลเซียส การเจริญเติบโตขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ อาหาร และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จะกลายเป็นตัวโตเต็มวัย 8-13 สัปดาห์ ตัวเรือดมีอายุยืนยาว ชอบดูดกินเลือดทั้งคนและสัตว์เป็นอาหาร ออกหากินในเวลากลางคืน ผู้ถูกกัดจะรู้สึกคันบริเวณที่ถูกกัด บางรายเป็นผื่นแพ้ ควรรีบล้างแผลที่ถูกกัดให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ แล้วใช้ยาปฏิชีวนะ หรือครีมทาบริเวณที่ถูกกัด แต่ถ้ามีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์

 

สำหรับประชาชนทั่วไปขอให้ดูแลรักษาบ้านเรือนให้สะอาดเพื่อป้องกันตัวเรือดอาศัย แหล่งที่พบตัวเรือดมากคือ สถานที่ที่ค่อนข้างสกปรก ตัวเรือดมักอาศัยอยู่ในที่นอน ซอกเตียง เก้าอี้ ซอกหลืบ และรอยแยกตามอาคาร ดังนั้นควรซ่อมแซมบริเวณรอยแตกร้าวของอาคารไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัย

 

ข้อมูลประกอบบางส่วนจาก: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึกและกรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท