Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัด เวทีนโยบายสาธารณะครั้งที่ 5 เรื่อง "จินตนาการความเป็นไทยกับสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้" 



 


เก็บตกปัจฉิมกถาเรื่อง "พหุนิยมกับพหุความเป็นไทย" โดย ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการและผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองวิธีถอดปมความแตกต่างก่อนสถานการณ์ความขัดแย้งจะรุนแรงขึ้นและคลี่คลายกระจายตัวทั้งรัฐไทย


 


 


000


ธีรยุทธ บุญมี


นักวิชาการและผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ขณะนี้บ้านเมืองมีปัญหาใหญ่ 2 เรื่อง คือ เรื่องการเมืองหรือเรื่องประชาธิปไตยของประเทศไทยกับเรื่องความแตกต่างในความรู้สึกทางชาติพันธุ์ ทางวัฒนธรรม หรือความร่วมกันในความเป็นชาติ คิดว่าทั้งสองเรื่องเป็นปัญหาที่ยากมาก


 


ประวัติศาสตร์การเมืองไทยและปัญหาเรื่องความเป็นไทยมันรุนแรง ขมขื่น แบ่งขั้ว แบ่งชนชั้น แบ่งฝ่ายกันค่อนข้างมาก คงต้องค่อยๆ คิดอย่างกว้างๆ ลึกๆ ใช้สติ ไม่สุดขั้วเกินไปในการที่จะแก้ปัญหา


 


ประชาธิปไตยควรจะเป็นอะไรที่สมดุลหรือถ่วงดุลได้ มันมาจากทั้งการเลือกตั้งซึ่งเรามีปัญหาต่อว่ามีการซื้อเสียง อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับตัวของประชาชนในกระบวนการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ควรมีอำนาจมาตรวจสอบได้ อำนาจตรวจสอบควรมาจากฐานความชอบธรรมในสังคม ซึ่งสังคมไม่ได้มีเฉพาะกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น แต่มาจากภาคสังคมหรือสถาบันต่างๆ ก็ได้ หลายประเทศทั่วโลกมีตรงนี้


 


แต่อย่างไรก็ดี ในทางความเป็นจริง เวลาร่างรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาอย่างกรณีวุฒิสภา ในอดีตกลัวเรื่องสภาผัวเมียกันมาก รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 วุฒิสภาส่วนหนึ่งจึงมาจากการสรรหา แต่อำนาจที่ให้ไปเป็นอำนาจที่เกินที่มา เกินความชอบธรรม คือมีอำนาจในการไปล้มฝ่ายบริหารซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน อันนี้เป็นการโน้มเอียงแบบหนึ่ง คือไม่เข้าใจ ศึกษาไม่ลึกซึ้งถึงหลักการที่มาว่าอำนาจตรวจสอบคือเรื่องของการคอรัปชั่นหรือการใช้อำนาจที่เกินเลยไป เพราะฉะนั้นอำนาจไม่ควรข้ามเส้นไปในการยุบรัฐสภาหรือล้มรัฐบาลได้ ห่วงว่าปัญหาใหญ่ในชาติบ้านเมืองยังแก้ไม่เสร็จ คงต้องถกเถียงทำความเข้าใจกันต่อไป


 


อีกปัญหาหนึ่งซึ่งใหญ่มากเช่นกัน และยังกระเทือนความรู้สึก ชีวิต อีกหลายอย่าง และอาจยืดเยื้อยาวนานปัญหานี้คือปัญหาเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ รวมไปถึงการยอมรับความเป็นไทยของคน 3 จังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นต้นตอปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงที่มีในปัจจุบัน


 


โดยรวมเหมือนเราจะถอดรื้อความเป็นไทยซึ่งเพิ่งสร้างหรือประดิษฐ์กันมาเมื่อประมาณ 100 กว่าปีมานี้ การถอดรื้อความเป็นไทยเป็นเรื่องที่สมควรพูดถึงและต้องทำกันอีกเยอะ แต่มีข้อสังเกตคือ เวลาเราพูดถึงจินตนาการ เรานึกถึงการจินตนาการประวัติศาสตร์ไทย จินตนาการวัฒนธรรมไทย จินตนาการชาติพันธุ์ จินตนาการเอกลักษณ์ทางจิตวิทยา จินตนาการเอกลักษณ์ทางอุปนิสัยใจคอของคนไทย แล้วมาสร้างเป็นความเชื่อหนึ่ง เป็นภาพรวมหนึ่งของคนไทยโดยบอกว่าเป็นอัตลักษณ์คนไทย ตรงนี้มองเห็นความโน้มเอียงและความผิดพลาดที่ผ่านมา


 


แต่บางครั้งก็รู้สึกเหมือนกันว่า บางทีตัวเองก็อยากจะมีจินตนาการทางประวัติศาสตร์เหมือนกัน อยากจะรู้รากเหง้าของตัวเองเหมือนกัน แต่ไม่อยากจะรู้ในแบบที่บอกถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตหรือความรุ่งเรือง ดังนั้นรู้สึกว่าถ้าเราจะถอดรื้อประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมทั้งหมดจะให้เราอยู่กับปัจจุบันลอยๆ อย่างนั้นหรือ หรือว่าเรามีสิทธิจะมีมิติทางประวัติศาสตร์หรือทางรากเหง้าของเราอยู่ด้วย


 


ถ้าถอดรื้อให้เราอยู่ในปัจจุบันขณะเฉยๆ เราก็กำลังอยู่ในปรัชญาแบบมาร์เก็ต คือ คนเป็นผู้ตัดสินใจในมูลค่าของตลาดซึ่งเป็นการลดทอนคุณค่าของคนลงไปมากถ้าพูดในเชิงปรัชญา


 


ดังนั้นปัญหานี้ก็อาจจะไม่ง่าย ในเมื่อเราอยากจะถอดรื้อในสิ่งที่มันบิดเบี้ยวแต่ขณะเดียวกันเราก็อยากจะมีบางอย่างเหลืออยู่ เช่นเดียวกันกับการที่หลายคนพูดถึงจินตนาการความเป็นไทยและจินตนาการความเป็นมลายู ในที่สุดถ้ามองย้อนไปจะพบว่าเรานิยามตัวตน เราสร้างตัวตน เราจินตนาการสิ่งที่เรียกว่าเป็นอัตลักษณ์ของตัวบุคคลและกระทั่งส่วนรวมมาทุกยุคสมัย


 


ช่วงหนึ่งเราบอกว่าเราเป็นเมือง เช่น เชียงใหม่ เชียงแสน เชียงรุ้ง สุโขทัย อยุธยา คำว่าเมืองก็เป็นจินตนาการเหมือนกับชาติ เหมือนกับรัฐ เหมือนเขตการปกครองสมัยใหม่เหมือนกัน จินตนาการมันจึงเกิดขึ้นและทำงานบางอย่างในประวัติศาตร์เหมือนกัน


 


ดังนั้นจะบอกว่า สิ่งที่เรียกว่าชาติ รัฐ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เป็นจินตนาการก็ได้ หรือถ้าจะบอกว่ามันเป็นความเป็นจริงทางสังคม และเป็นการสร้างความเป็นจริงทางสังคมก็พูดได้เหมือนกัน อยากให้ข้อสังเกตว่า มนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์ทางกายภาพ ทางชีววิทยา ต้องอยู่กับความจริง เช่น ไม่ควรกระโดดจากที่สูงเกิน 4 เมตร เพราะขาจะหัก กระดูกทนได้แค่นั้น หรือเราควรกินอาหารที่มีประโยชน์ เป็นต้น นี่คือเราต้องอยู่กับความเป็นจริงทางกายภาพ


 


ดังนั้นมนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคม เราก็ต้องอยู่กับความเป็นจริงทางสังคม หรือหมายความว่าเราต้องอยู่กับจินตนาการทางสังคมด้วย เราทำงานในสังคมทั้งโดยจินตนาการทางสังคม โดยคอนเนคชั่น หรือโดยสิ่งที่เราประดิษฐ์สร้างขึ้นมาตลอดเวลา ตรงนี้เป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญที่ต้องเข้าใจให้ดี เพราะจะทำให้ถอดรื้อโครงสร้างที่มันผิดพลาดได้ดี กล่าวโดยสรุปคือต้องอยู่ทั้งกับความเป็นจริงและจินตนาการทางสังคม


 


ข้อสังเกตอีกอย่าง คือ สิ่งที่เรียกว่าความเป็นจริงทางสังคม หรือจินตนาการทางสังคมมันก็มีประโยชน์ของมันต่างไปตามยุคสมัย และมีข้อผิดพลาดเสียหายมากมายในอดีตตามช่วงยุคสมัยใหม่ การสร้างประวัติศาสตร์กระแสหลักของความเป็นชาติ ทุกชาติมันเต็มไปด้วยชีวิติ เลือดเนื้อ ความกดขี่ เอาเปรียบและมีความรุนแรงเกิดขึ้น ข้อสังเกตคือมันจะอยู่และเสื่อมไปตามยุคสมัยของมันเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม การพูดถึงมันในวันนี้ก็สะท้อนแล้วว่าคงถึงจุดบางอย่าง มันอาจจะหมดหน้าที่หรือหมดประโยชน์ของมัน แล้วต้องมองมันด้วยมุมใหม่ หรือมันอาจจะคงอยู่ต่อไปในลักษณะบางแบบ เพราะยังมีการมองปัญหาเรื่องชาติและความเป็นไทยที่ต่างกันไป


 


การถอดรื้อความเป็นไทยเป็นกระบวนการที่ควรทำ เพราะข้อผิดพลาดประการแรก คือ เราจินตนาการให้มันเป็นหนึ่งเดียวมากกว่าหลากหลายหรือพันทางมานานแล้ว เพราะฉะนั้นต้องจินตนาการให้มันถูกว่ามันหลากหลายมากขึ้น แตกต่างมากขึ้น จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น


 


ประการที่สอง มันถูกจินตนาการขึ้นมาอย่างบิดเบือน ครอบงำ ปิดกั้น เอารัดเอาเปรียบ กีดกันบางคนบางส่วนไป จินตนาการแบบนี้ที่มันผิดพลาดก็ต้องแก้ไข


 


ประการที่สาม ต้องเลือกให้ดี มิติประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมมันกว้าง แต่มักจะมีความลำเอียงในทุกฝ่าย ทุกกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปแล้วมักจะเลือกสิ่งที่พอใจของตัวเองอย่างแคบๆ แต่กับคนอื่นคือเลือกมองสิ่งที่ไม่ดีงามหรือเลือกจะจดจำสิ่งที่มันเจ็บ ขมขื่น ทำให้เกิดความรุนแรง อาฆาตพยาบาทกันได้ง่ายมากกว่าจะเลือกจินตนาการที่มาทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข


 


เหล่านี้เป็นสิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตเป็นเบื้องต้น ส่วนในเชิงวิชาการเคยเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง "พหุนิยม" ความเป็นหนึ่งเดียวหรือความหลากหลายของอัตลักษณ์ของทั้งตัวคนและขององค์รวมมันผันแปรไปเรื่อยๆ ตามช่วงสมัยประวัติศาสตร์ อย่าคิดว่าความเป็นไทยมันเป็นหนึ่งเดียวอย่างนี้มาตลอด มีบางช่วงเราก็อยากให้มันหลากหลาย ให้มันมีมากกว่าหนึ่ง ส่วนบางช่วงความต้องการของการเมืองเศรษฐกิจจะอยากให้มันเป็นหนึ่ง กระบวนการก็จะโน้มเอียงมาด้านการทำให้เกิดความเป็นหนึ่ง ปัจจุบันเราก็อยากจะให้มันหลากหลาย อยากให้กว้างขึ้นเราก็เทมาทางนี้


 


ให้มอง ให้เลือก ให้คัดสรรความคิดเราให้ดีที่สุด ในอดีต สังคมเกษตรหรือสังคมก่อนสมัยใหม่ เขาต้องการอยู่กับความต่างมากกว่าอยู่กับความเป็นหนึ่ง อีกนัยหนึ่งคือความสามารถมนุษย์ในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่สามารถชนะความต่างทางธรรมชาติ ทางพื้นดิน แร่ธาตุ ทรัพยากร ภูมิอากาศได้ ก็ยอมรับความต่างกันเป็นเหมือนความต่างทางธรรมชาติ แล้วก็อยู่และค่อนข้างพอใจกับมัน ความต่างนั้นกลับช่วยในการทำให้มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะฉะนั้นในสังคมศักดินา ยุคเกษตรกรรมก็ชอบความต่างและรับความต่าง ไม่ส่งเสริมให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวทางเชื้อชาติ


 


ขณะเดียวกันบางครั้งกลับเสริมให้มีความต่างเป็นพิเศษด้วย เช่นการเอาคนกลุ่มน้อยมาทำหน้าที่พิเศษอย่างการเอาคนมาเป็นที่ปรึกษาในเรื่องพิธีกรรม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องต่างประเทศ การมีพราหมณ์ปุโรหิตจากอินเดีย เขมร หรือขอมมาให้คำปรึกษาแก่กษัตริย์หรือขุนนางผู้ใหญ่ เพราะเชื่อกันว่า คนที่เป็นชนกลุ่มน้อยจากข้างนอกจะไม่โน้มเอียง ไม่มีผลประโยชน์ข้างใน วิธีคิดจะเป็นกลางและให้คำปรึกษาที่ดี นอกจากนี้ยังเอามาเป็นทหารรับจ้าง ทหารรักษาวัง ทหารพิเศษของกษัตริย์หรือเจ้านายผู้ใหญ่ก็มี เช่น ทหารรับจ้างญี่ปุ่น โปรตุเกส หรือทำหน้าที่เก็บภาษี แบบนี้ในยุโรปก็ใช้ ตะวันออกกลางก็ใช้ ส่วนไทยใช้คนจีนมาเป็นเจ้าภาษีนายอากรหรือมาเป็นพ่อค้า เพราะชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรมักอยู่ติดกับที่จึงต้องอาศัยพ่อค้าคนจีน


 


แต่บางครั้งเมื่อสังคมเปลี่ยนยุคสมัยก็เกิดปัญหาแก่คนกลุ่มน้อย อย่างกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ บางทีก็เป็นเรื่องคติของสังคมศักดินาทุกที่ในสมัยก่อน ที่อยากขยายอาณาจักรให้กว้าง มีส่วย ภาษี จังกอบ อากร แรงงานเกณฑ์ทำให้ยึดกันไปมา ประวัติศาสตร์จึงเจ็บปวดง่ายเมื่อเกิดสงคราม แต่ทุกชาติมีปัญหาเดียวกันหมด คือ ไม่ไปรุกรานเขา ก็ถูกเขารุกราน เพราะสมัยก่อนไม่มีสิทธิมนุษยชน ไม่มีกฎเกณฑ์กติกา ไม่มีการเคารพกันและคิดว่าเป็นบารมีของผู้ปกครอง ที่จะครองจักรวาลหรือจักรวรรดิตัวเองให้กว้างใหญ่ที่สุด เพราะฉะนั้นจึงทำให้ไม่ว่าประเทศไหนในปัจจุบันมีเชื้อชาติบริสุทธิ์เด็ดขาดทั้งหมด ชนกลุ่มน้อยก็ถูกผนวกรวม ผสานรวม ผนวกรวมก็คือเปลี่ยนให้เป็นเหมือนตัวเอง ผสานรวมก็คือเคารพความต่างมากหน่อย


 


อย่างกรณีฝรั่งเศสที่เวลานี้คนรักภาษามาก เกลียดหนังฮอลลีวู้ดและไม่ชอบภาษาอังกฤษ เพราะตั้งแต่สมัยปฏิวัติฝรั่งเศส ภาษาฝรั่งเศสในฝรั่งเศสตายไป 400 - 500 ภาษา จนเหลือภาษาฝรั่งเศสเวลานี้ เป็นภาษาที่คนรักกันมากเพราะมันเกิดมาจากการทำลายภาษาถิ่น ส่วนไทยเราคิดว่าทำลายไปไม่ต่ำกว่า 100 ภาษา หากประเมินตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 โดยถูกกรองให้เหลือภาษากลางภาษาเดียว


 


การที่เป็นแบบนี้ทำให้รัฐชาติทุกชาติในปัจจุบันประสบปัญหานี้ทั้งนั้น เพราะมันเกิดจากการรวมคนที่ต่างกันในเชิงภาษา เชิงความเชื่อ เชิงวัฒนธรรม และเชิงศาสนา ยิ่งถ้าคนทำหน้าที่พิเศษเป็นคนกลุ่มน้อยยิ่งมีปัญหามากกว่า อย่างคนจีนหรือคนยิวในประวัติศาสตร์ทั่วโลกคือกลายเป็นเป้า เมื่อเปลี่ยนยุคสมัยหน้าที่พิเศษอาจถูกต้องการให้หน้าที่นั้นเป็นของคนทั่วไป แต่คนที่เคยทำหน้าที่พิเศษมีประสบการณ์ มีทุน มีสถานะเดิมทำให้ได้ประโยชน์ในการทำหน้าที่ในสมัยใหม่ได้ดีก็รวย รุ่งเรือง จนเป็นที่ไม่ชอบใจและอิจฉา เป็นปัญหาของการเหยียดผิว การต้านคนส่วนน้อยในยุโรป และในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เคยเกิดกับคนจีน แต่ในปัจจุบันปัญหานี้กับคนจีนเกือบหมดไปแล้ว


 


ต่อมาในสังคมสมัยใหม่ต้องการความเป็นเอกภาพ ความเป็นสากล ความเป็นหนึ่งเดียวค่อนข้างมาก ภาษาที่ต้องการคือภาษากลางภาษาเดียว เพราะต้องใช้ในระบบราชการ ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ภาษาจึงถูกสร้างขึ้นมาโดยความจำเป็นของมัน เรื่องภาษากลางนี้คิดว่าไม่ค่อยมีใครพล็อตขึ้นเท่าไหร่


 


การศึกษา ในสมัยสังคมเกษตรกรรมเป็นเรื่องถ่ายทอดกันภายในครอบครัว ภายในชุมชน หรือภายในสกุลช่าง มีภาษาพิเศษ มีการถ่ายทอดตัวต่อตัว มีการเลือกสรร มีการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดช่างที่ดีและมีฝีมือ แต่ในสังคมสมัยใหม่กลับต้องการอะไรที่กว้าง ดังนั้น ครูจึงมาจากข้างนอกถิ่นเป็นส่วนใหญ่และมาสอนความรู้ที่เป็นกลางๆ ใช้ภาษากลาง ภาษา การศึกษาและความรู้จึงกลายเป็นของกลาง ของสากลหมด โดยความเรียกร้องของสังคมอุตสาหกรรม สังคมทุนนิยมและสังคมสมัยใหม่


 


สิ่งที่เป็นไปนี้เอื้อต่อวัฒนธรรมหลวง เอื้อต่ออัตลักษณ์ของคนกลุ่มใหญ่โดยปริยาย ภาษาของภาคกลางหรือภาษาของคนกรุงเทพฯ เป็นภาษาที่ได้เปรียบและถูกใช้ วัฒนธรรมซึ่งเป็นวัฒนธรรมหลวงก็ถูกถ่ายทอดไปตามกระบวนการการศึกษา กระบวนการทางสังคม กระบวนการการเมืองการปกครอง และกระบวนการทางเศรษฐกิจด้วย เพราะฉะนั้นในสังคมสมัยใหม่จึงเอื้อไปในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ความเป็นมาตรฐาน ความเป็นของร่วมกับส่วนกลาง จะหยาบหรือบิดเบือนอย่างไรก็แล้วแต่สิ่งที่มันจะเกิด


 


แต่เราพบปัญหาอย่างหนึ่งที่น่าสนใจและคิดว่าไม่มีคำตอบที่ดีกับปัญหานี้คือ ทำไมปัจจุบันอัตลักษณ์จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญขึ้นมา... ความคิดในเรื่องความต่างทางชาติพันธุ์ซึ่งสะท้อนให้เกิดความรุนแรงและขยายตัวไปค่อนข้างมากในหลายๆ ที่ คิดว่าคำตอบอย่างเรื่องความขมขื่นในประวัติศาสตร์ถูกผลิตขึ้นใหม่เมื่อไม่นานจากทุกฝ่ายและถูกผลิตซ้ำให้ขมขื่นมากขึ้น ถ้าอันไหนแรงมากก็กลายเป็นความทรงจำ ตรงนี้ต้องรีบแก้ไขก่อน การถูกผลิตซ้ำขึ้นก็ถือเป็นโชคไม่ดีของกระบวนการโลกาภิวัตน์และกระบวนการสื่อสารที่เกิดขึ้น


 


แต่เราไม่ค่อยมีคำตอบว่าทำไมจึงเกิดขึ้น หากจะให้พูดถึงปัจจัยความเป็นไปได้ คงเป็นเพราะปัจจัยความเป็นประชาธิปไตยหรือเสรีนิยมเอื้อต่อความอดทนอดกลั้นความต่าง ทำให้ความต่างและความหลากหลายเป็นที่นิยม เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่ปรับมาสู่ความหลากหลายมากขึ้น คิดว่าคงเกิดขึ้นมาไม่นานแต่เป็นช่วง 30 ปีมานี้เอง


 


ประการที่สอง คนเสพข่าวสารวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น อันเป็นผลจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ และเมื่อคนนิยมเสพมากขึ้นก็ทำให้เกิดตัวกระบวนทัศน์ใหม่ขึ้นด้วย เราพบว่าโลกมีการแลกเปลี่ยน มีการย้ายถิ่นมากขึ้นจึงเอื้อต่อความหลากหลาย แต่ยังไม่มีคำตอบทางวิทยาศาสตร์หรือทางทฤษฎีว่าทำไมคนชอบความหลากหลาย เป็นเพราะชีวิต โลก และความเป็นจริงมันหลากหลายใช่หรือไม่


 


หรืออาจเป็นไปได้ว่ากระบวนทัศน์ที่เป็นสากลกับกระบวนทัศน์ที่หลากหลายมันอยู่ด้วยกัน แต่ก็แล้วแต่คนจะเลือกดูในมุมไหน ขึ้นกับยุคสมัย ขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่มันมีในแต่ละยุคสมัย ดังนั้นคนที่ไปติดทั้งคู่ก็จะเอียง


 


เราพบว่าปัจจุบันมีกระแสอัตลักษณ์นิยมแบบหลังสมัยใหม่ คือ อะไรที่หลากหลายมากๆ แต่กระบวนการวนกลับไปสู่พื้นฐานนิยมค่อนข้างรุนแรง นำไปสู่การเกิดความขัดแย้งที่เป็นปัญหาใหญ่ถึงชีวิตและสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับคนกลุ่มที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องอัตลักษณ์สมัยใหม่แบบมนุษย์สมัยใหม่ แต่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน ชาวนา หรือคนซึ่งอยู่ในภาคส่วนที่ไม่ได้เป็นภาคส่วนในเศรษฐกิจสมัยใหม่มากนัก บางคนบอกว่า เป็นเพราะกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ล้มเหลว กระบวนการพัฒนาล้มเหลว การสร้างชาติล้มเหลว คนเหล่านี้จึงต่อต้านและตั้งตัวเองเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง เป็นกลุ่ม เป็นรัฐ เป็นหน่วย


 


ตรงนี้เป็นปัญหาที่ประเทศไทยและโลกเผชิญหน้ากับมัน ประเทศไทยเผชิญหน้ากับมันค่อนข้างมาก มองจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาซึ่งพรรคพลังประชาชนชนะอย่างท่วมท้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ ปัญหานี้สะท้อนปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ของคนด้วย เป็นอะไรที่ฝังลึกอยู่ หรือถูกผลิตซ้ำให้มันเป็นเรื่องที่ลึกหรืออาจจะส่งผลสะเทือนที่มากก็ได้ เป็นเรื่องที่ต้องสนใจมอง ต้องติดตาม แต่อย่ามองในแง่ที่น่ากลัวอย่างเดียว ให้มองปัญหาที่เกิดว่าสะท้อนอะไร และอาจจะเห็นสิ่งที่ดีก็ได้ในการที่คนตื่นตัวค่อนข้างมากในทุกภาค ทำให้เรามองกว้างขึ้น ยอมรับกันมากขึ้น ตั้งใจแก้ปัญหามากขึ้น


 


ขอสรุปสุดท้าย เรามีสองทางแก้ปัญหา คือ ปัญหาเกิดจากความต่างใหญ่ 2 อัน คือความต่างระหว่าง Plurality หรือ Pluralism กับความต่างระหว่าง Multiplicity หรือ Multi-culturalism เรามองเฉพาะความต่างหรือลัทธิความต่างหรือความเชื่อเรื่องความต่างความหลากหลาย


 


ถ้าเราเชื่อเฉพาะเรื่องความต่าง ความหลากหลาย ข้อสรุปอาจจะเป็นการที่เราอยากเห็นอัตลักษณ์ที่พันทางหลากหลาย โดยยังเชื่อว่าโลกอาจจะมีหนึ่งเดียวได้ มีการรวมกันเป็นองค์รวมเดียวแต่ต่างกันได้ในหน้าที่และรายละเอียด กลุ่มนี้จึงพยายามบอกว่าเป็นคนไทย เช่น คนไทยเชื้อสายมลายู คนไทยมุสลิม แต่ความรับรู้ของผมยังไงก็ฝืน เพราะยังมองว่าก็ยังเป็นคนมลายูที่นับถืออิสลาม และส่วนตัวก็ไม่มีปัญหาในการยอมรับในลักษณะนั้น ไม่ต้องยัดเยียดความเป็นไทยให้แล้วบอกว่าไทยมันต่างกัน แบบนี้เท่ากับเชื่อPlurality คือขอรวมเป็นหนึ่งไว้ก่อน อาจเพื่อยุค Modern เพราะเราสร้างรัฐชาติได้แล้ว สร้างความเป็นไทยไว้แล้ว มันก็มีประโยชน์ มีหน้าที่ของมัน ไม่ให้เกิดปัญหาก็ต่างกันได้ ยอมรับกันได้


 


แบบที่สอง เป็น Pluralism หรือ Multi-culturalism คือเชื่อว่ามันต่างไปเลยแล้วมาทำสัญญา มาตกลงกันว่า เราอยู่ด้วยกันเพื่อความสะดวก คำว่า "ไทย" ต่อไปนี้เป็น "สัญญะ" ไม่ใช่ "สัญลักษณ์" คือเป็นเครื่องบอกเท่านั้น แต่ไม่ใช่บอกว่าอะไรคืออะไร หากเป็นสัญลักษณ์จะมีความศักดิ์สิทธิ์ มีอารมณ์ความรู้สึกร่วม ดังนั้น คำว่า "ไทย" ต่อไปนี้เป็นภาษาที่เป็นเครื่องมือ เป็นความจำเป็นที่เราต้องติดต่อประสานงาน บริหารราชการ มันจำเป็นจริงๆ



เพราะถ้าเราคิดว่าจะไปให้สุดทางจริงๆ มันไม่มีคำตอบสุดท้าย หรือคำตอบมันแพงมากในความเป็นจริงถ้าหากเราจะแก้ปัญหาความต่างแบบสุดขั้วจริงๆ อย่างผมมีเพื่อนคนหนึ่งสมัยอยู่ในป่า เป็นคนชนชาติบลู มีเหลือประมาณ 100 คนที่อีสาน เขามาเป็นทหารพิทักษ์ตอนอยู่ในป่า ถ้าเราบอกว่าจะรักษาวัฒนธรรมและภาษาของเขา เช่น จัดให้มีโรงเรียนสอนภาษาบลู มีมหาวิทยาลัยสอนภาษาบลู สร้างให้คนประมาณ 100 คน เราไม่มีเงินในแง่ความจริงและไม่มีระบบไหนที่รวยพอจะทำเช่นนั้นได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหากฎเกณฑ์ที่ตกลงอยู่ร่วมกันลงตัวลำบาก


 


อีกปัญหาคือเมื่อถึงเวลาจริงๆ ความแตกต่างมันจะมีไม่จำกัด แม้แต่ผมกับน้องตัวเองยังต่างกันมากมาย ถ้าทะเลาะกันให้ถึงที่สุดก็ได้ ไม่ต้องมองแค่ที่คนไทย มุสลิมเองก็ต่าง บางทีในตัวคนคนเดียวกันยังทะเลาะเองก็มี มันไม่จำกัด มันแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้นต้องหาความสมดุลพอดีและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ


 


การแก้ค่อนข้างลำบากมาก ต้องแล้วแต่จะเลือก จะเป็น Plurality หรือ Pluralism ก็ได้ โดยส่วนตัวผมอยู่ฝ่ายหลัง ไม่ติดว่าจะเรียกไทยเป็นสยามหรือคิดชื่อใหม่เลยก็ได้ แต่มองเป็นสัญญะที่ช่วยทำงานเท่านั้น แต่ก็มีคนมองเป็นความภูมิใจ อยากยกธงชาติโบกซึ่งยังเห็นได้ทั่วโลก


 


ทางแก้ต้องแก้ปัญหาจริงจัง อย่างที่บอกว่ามันบิดเบือนมาก มันเลือกสรรอย่างผิดๆ หากอยากจะแก้ปัญหาอย่างแรกคือต้องเปิดกว้างขึ้นทั้งในมิติจินตนาการ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เพราะตอนนี้ประวัติศาสตร์ยังเห็นเป็นประวัติศาสตร์ราชวงศ์เป็นส่วนใหญ่ จึงยังไม่ต้องพูดถึงประวัติศาสตร์สังคม ตอนนี้ในกรุงเทพฯ เห็นอนุสาวรีย์ของคนที่ไม่ได้อยู่ในราชวงศ์สักเท่าไหร่? พอเป็นประวัติศาสตร์ราชวงศ์มากก็โน้มเอียงมาก เพราะรวมศูนย์มากเกินไป ไม่กระจายแม้แต่มิติวัฒนธรรมหรือชนชาติ ต้องแก้จริงๆ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ย่อย วัฒนธรรม ภาษาย่อย และเศรษฐกิจ


 


ต้องเป็นฝ่ายรุกก่อนเกิดปัญหา เนื่องจากปัญหาไม่มีความพอดี ต้องรีบรุกแก้ก่อนเกิดปัญหา ต้องมี Inside ที่รู้ว่าปัญหาอันไหนรีบทำได้ก่อน บางทีการส่งเสริมความต่างทางวัฒนธรรมก็เป็นประโยชน์ในเรื่องการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและความภูมิใจของคน และต้องมีความมุ่งมั่น จริงจัง หวังดีที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ ร่วมมือร่วมใจกันจริง


 


จะเชื่อแบบ Plurality หรือ Pluralism ก็ได้ แต่ต้องคุยกันให้หมด


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net