Skip to main content
sharethis

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์


 


ชัยชนะของพรรคพลังประชาชนที่มีนายสมัคร สุนทรเวชเป็นหัวหน้าพรรคในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 เป็นชัยชนะทางยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญของขบวนการประชาธิปไตยนับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการพิสูจน์ให้เห็นอย่างปราศจากข้อสงสัยว่า ประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศคือทัพหลวงของประชาธิปไตยที่ขบวนการประชาธิปไตยพึ่งพาวางใจได้ในการต่อสู้อันยากลำบากและยาวนาน


  


ระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำกับโดยพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยเนื้อแท้แล้ว เป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยที่แกนในอำนาจรัฐยังคงกุมอยู่ในมือของกลุ่มจารีตนิยมที่มีกลไกราชการ-กองทัพเป็นเครื่องมือ ร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มทุนเก่า ปัญญาชนขวาจัด ปัญญาชนอีแอบตีสองหน้า และปัญญาชนเดือนตุลาฯที่ทรยศต่อประชาธิปไตย แกนในนี้มีเปลือกหุ้มเป็นระบอบรัฐสภาที่มีผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ถูกกำกับอย่างแน่นหนาจากวุฒิสภาแต่งตั้งและบทบัญญัติต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญที่แยกสลายพรรคการเมืองและจำกัดอำนาจการบริหารของรัฐบาล


 


ขบวนการประชาธิปไตยในปัจจุบันจึงก่อรูปขึ้นเป็นสองแนวรบใหญ่ คือ ด้านหนึ่งเป็นแนวรบในกรอบรัฐธรรมนูญ 2550 อันประกอบด้วยการเลือกตั้ง เวทีรัฐสภาและการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ เพื่อเข้ากุมการบริหารงานแผ่นดินในระดับหนึ่ง ในอีกด้านหนึ่ง ก็คือแนวรบนอกสภา อันประกอบด้วยกลุ่มพลังมวลชนประชาธิปไตยใหม่อันหลากหลายที่ก่อกำเนิดขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน พัฒนาขยายตัว ผ่านการต่อสู้บนท้องถนนมาอย่างทรหดอดทนและอันตรายยิ่ง หล่อหลอมขึ้นเป็นกองทัพหน้าอันกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของขบวนการประชาธิปไตย


 


ภารกิจประชาธิปไตยในขั้นตอนปัจจุบันยังคงเป็นการต่อสู้เพื่อนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลิตผลของรัฐประหาร 19 กันยายน เป็นเครื่องมือของระบอบอำมาตยาธิปไตย เต็มไปด้วยบทบัญญัติที่เป็นเผด็จการและละเมิดอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และไม่สามารถที่จะใช้เป็นพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญได้


 


ฉะนั้น ภารกิจยุทธศาสตร์ในขั้นปัจจุบันของขบวนการประชาธิปไตยจึงเป็นการนำเอารัฐธรรมนูญ 2540 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดกลับคืนมา ทำการแก้ไขตามความเห็นของมหาชน แล้วให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข จากนั้น ให้ยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่โดยทันที


 


ขบวนการประชาธิปไตยที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นตัวแทนอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรและประกอบเป็นแกนนำรัฐบาลในปัจจุบันจะเผชิญกับการล้อมตีอย่างหนักจากฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ซึ่งปัจจุบัน ได้จัดตั้งป้อมค่ายขึ้นเตรียมบั่นทอนและทำลายรัฐบาลพรรคพลังประชาชน


 


ป้อมปราการสำคัญที่สุดของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยในรัฐสภาคือ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งเมื่อร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งอีกจำนวนหนึ่ง (เป็นสามในห้าของวุฒิสภา) ก็มีอำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตามการไต่สวนและมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และจากการร้องขอกล่าวโทษโดยหนึ่งในห้าของสภาผู้แทนราษฎรหรือหนึ่งในสี่ของวุฒิสภา


 


ในส่วนของบรรดา "องค์กรอิสระ" ซึ่งแปลงร่างมาจากองค์กรต่างๆ ที่คณะรัฐประหารได้แต่งตั้งขึ้นนั้น ปัจจุบัน ก็มี "กรณี" รออยู่จำนวนหนึ่งที่พร้อมจะประสานกับวุฒิสภาและพรรคฝ่ายค้านเพื่อใช้เล่นงานทั้งตัวบุคคลและพรรคการเมืองที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน


 


ส่วนภายนอกสภา ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยก็ได้ตระเตรียมแนวร่วมขวาจัดของสื่อมวลชนนักวิชาการ-คอลัมนิสต์ ราษฎรอาวุโส นักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรรัฐตามพ.ร.บ.ความมั่นคง รอโอกาสประสานกันเพื่อปั่นกระแส สร้างมติ ก่อความปั่นป่วนเพื่อค่อยๆ ก่อเป็นความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงที่จะนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนทั้งด้วยวิธีการในรัฐธรรมนูญและนอกรัฐธรรมนูญ ก้าวยุทธศาสตร์ที่บ่งชัดถึงการก่อตัวของของแนวร่วมขวาจัดนอกสภาดังกล่าวก็คือ การทำลายสถานีโทรทัศน์ไอทีวีอันเป็นดอกผลของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพฤษภาคม 2535 แปรเปลี่ยนให้เป็นป้อมปราการของฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยในแนวรบสื่อสารมวลชน เพื่อร่วมประสานกับส่วนอื่นๆ ก่อตัวเป็นกำแพงสื่อมวลชนขวาจัดที่มุ่งปิดล้อมและบั่นทอนรัฐบาลพรรคพลังประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จเช่นเดียวกับที่กระทำต่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในอดีต


 


ในสถานการณ์ที่ขบวนการประชาธิปไตยยังคงเป็นฝ่ายรุก ส่วนแนวร่วมเผด็จการอำมาตยาธิปไตยเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำและกำลังตระเตรียมป้อมค่ายพลรบเพื่อตีโต้ทางยุทธศาสตร์อีกครั้งนี้ ขบวนการประชาธิปไตยยังคงมีภารกิจต่อสู้อันยากลำบากอยู่เบื้องหน้า จักต้องชูธงชาติไทยสามผืนให้สูงเด่น ประกอบด้วยธงโลกาภิวัตน์ ปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัย และได้ประโยชน์จากการพัฒนาระบบทุนนิยมเสรี ชูธงประชาธิปไตย นำเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาปฏิรูปไปบรรลุอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และธงความเป็นธรรมทางสังคม กระจายดอกผลแห่งสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ประชาชนทุกหมู่เหล่า


 


ในสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนต่างๆ ของขบวนการประชาธิปไตยมีภาระหน้าที่ที่ต่างกัน ต่อสู้ประสานสอดคล้องกันเพื่อตีโต้การล้อมปราบของฝ่ายเผด็จการและผลักดันภารกิจประชาธิปไตยให้ลุล่วง


 


กลุ่มองค์กรประชาธิปไตยใหม่นอกสภามีลักษณะมวลชนอันเหนียวแน่น เด็ดเดี่ยวอดทน มีการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย สร้างสรรค์ ยืดหยุ่นพลิกแพลง ประกอบด้วยกองทัพมวลชนบนท้องถนนและ "นักรบไซเบอร์" สื่อใต้ดินออนไลน์อันหลากหลาย ที่สามารถสร้างผลสะเทือนทางประชาธิปไตย ตีโต้สื่อสารมวลชนเผด็จการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนสำคัญอย่างขาดเสียมิได้ต่อชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม กลุ่มองค์กรประชาธิปไตยเหล่านี้ยังมีภารกิจสำคัญเฉพาะหน้าคือ


 


1.       รวมตัวจัดตั้ง ศึกษายกระดับทฤษฎี สรุปบทเรียน พัฒนาผู้ปฏิบัติงาน ปรับปรุงองค์กร ให้มีลักษณะกระชับ สามัคคี มีวินัย และเป็นประชาธิปไตย พร้อมทั้งขยายฐานมวลชน ยกระดับมวลชนส่วนที่กระตือรือร้นขึ้นเป็นผู้ปฏิบัติงาน


 


2.       สร้าง พัฒนา และยึดกุมสื่อออนไลน์ไว้ให้มั่น ยกระดับและขยายสื่อออนไลน์ให้แผ่กว้างทั้งกระดานข่าว เว็บบอร์ด ห้องอภิปราย วิทยุโทรทัศน์อินเตอรเน็ต เชื่อมต่อเข้ากับสื่อหลักที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุชุมชน และสถานีโทรทัศน์ทางเลือกที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพื่อใช้เป็นแนวรบตีโต้การปิดล้อมของสื่อมวลชนขวาจัด แนวรบนี้ยังรวมถึงการเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองอย่างมีจังหวะ แย่งชิงพื้นที่ข่าวในสื่อกระแสหลักอื่น ๆ ที่มิใช่พวกขวาจัด


 


3.       ใช้สื่อออนไลน์และสื่อแนวร่วมเป็นฐานเผยแพร่ให้ความรู้ทางประชาธิปไตยแก่ประชาชน ชี้ให้เห็นถึงธาตุแท้เนื้อในของระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 และพรบ.ความมั่นคงฯ เสนอทางออกแก่สังคมไทยในกระแสโลกาภิวัฒน์ การปฏิรูปประชาธิปไตย และการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม


 


 


พรรคพลังประชาชนเป็นพรรคที่เกิดจากการบดขยี้ทำลายล้างพรรคไทยรักไทย ผู้นำและสมาชิกพรรคได้ผ่านการกดขี่ทางการเมืองมาอย่างหนัก แต่ในที่สุด ก็ยังสามารถยืนหยัดก่อตัวขึ้นเป็นพรรคพลังประชาชนที่มีนายสมัคร สุนทรเวชเป็นหัวหน้าพรรค กลายเป็นองค์กรการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน พรรคพลังประชาชนจึงต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งในแนวรบการเลือกตั้งและรัฐสภา พรรคพลังประชาชนจักต้องสรุปบทเรียนจากความพ่ายแพ้ของพรรคไทยรักไทย ซึ่งก็คือ การเป็นพรรคการเมืองแบบเลือกตั้งโดยปราศจากการจัดตั้งมวลชนรองรับ ชัยชนะในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคมได้สอนบทเรียนสำคัญว่า มวลชนชั้นล่างและชั้นกลางทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศคือผนังทองแดงกำแพงเหล็กของพรรคการเมืองประชาธิปไตย จะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ในประเทศที่เจริญแล้วว่า พรรคการเมืองประชาธิปไตยจะต้องมีการจัดตั้งมวลชนของพรรคอย่างเป็นระบบ ให้เป็นพรรคที่มีฐานมวลชนเหนียวแน่นและกว้างขวาง เพื่อที่จะสามารถดำเนินการต่อสู้กับฝ่ายเผด็จการทั้งในและนอกสภาได้อย่างมีพลัง


 


ในส่วนรัฐบาลพรรคพลังประชาชน นอกจากภารกิจนำเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมาแล้ว ภาระเร่งด่วนในทางเศรษฐกิจคือ เร่งฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ส่วนในทางการเมือง จะต้องเร่งเปิดเสรีสื่อสารมวลชนโดยเร็วที่สุด ส่งเสริมเครือข่ายวิทยุชุมชนทั่วประเทศภายใต้กรอบของกฎหมายโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ให้เปิดเสรีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสู่ครัวเรือนทั่วประเทศในราคาถูกที่สุด และเปิดเสรีสถานีแพร่ภาพโทรทัศน์ทั้งระบบยูเอชเอฟและระบบจานดาวเทียม ส่งเสริมการแพร่กระจายจานดาวเทียมในราคาถูกให้ทั่วถึง เพื่อทะลายการปิดล้อมของสื่อสารมวลชนขวาจัด และให้พลังฝ่ายประชาธิปไตยมีที่ยืนสาธารณะ


 


ขบวนการประชาธิปไตยในวันนี้กำลังเผชิญกับการท้าทายใหม่ที่จะต้องยึดกุมป้อมปราการรัฐสภาและรัฐบาลไว้ให้มั่น เสริมกำลังให้เข้มแข็ง พัฒนาขยายสื่อสารมวลชนประชาธิปไตยทุกรูปแบบ ตีโต้ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตย เพื่อรุกไปสู่ขั้นตอนใหม่ของการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและบรรลุประชาธิปไตยในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net