Skip to main content
sharethis


สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 50 พนักงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง 13 ข้อ พร้อมลงลายมือชื่อกว่า 3,286 รายชื่อ ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน


 


และต่อมามีการเจรจากับนายจ้างครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ไม่มีความคืบหน้า และพนักงานได้ลงมติยื่นพิพาทแรงงานเมื่อวันที่ 22 ม.ค. และมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานครั้งที่ 1 ระหว่างทาง บจก.โฮยา กับ ผู้แทนเจรจาฝ่ายลูกจ้าง ที่ห้องประชุม สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน โดยเริ่มเจรจาตั้งแต่เวลา 9.30 น. ของวันที่ 24 ม.ค. และผลการเจรจามีความคืบหน้าไปกว่า 9 ข้อนั้น


 



 



 



 



 


 



 


 


ไกล่เกลี่ยนัด 2 -นายจ้างรับข้อเรียกร้องครบ 13 ข้อ แต่ไม่เซ็นง่ายๆ


ล่าสุด วานนี้ (25 ม.ค.) ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานครั้งที่ 2 ที่ห้องประชุม สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน เช่นเดิม โดยการเจรจาในวันนี้มีการตกลงอีก 4 ข้อ คือข้อ 3, 8, 10 และ 11 และนำข้อเรียกร้องที่มีการตกลงทั้ง 13 ข้อ บันทึกเป็น ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยสามารถตกลงได้ในเวลาประมาณ 17.00 น.


 

อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานครั้งที่ 2 ตัวแทนเจรจาฝ่ายนายจ้างยังไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสาร "ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง" ทันที โดยให้เหตุผลว่าต้องขอความเห็นจากที่ปรึกษาทางกฎหมายของบริษัท และต้องแปลข้อเสนอปรับสภาพการจ้างทั้งหมดเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วยและเปรียบเทียบกับภาษาไทยอีกครั้ง เมื่อเข้าใจตรงกันแล้ว ฝ่ายนายจ้างจึงจะยอมลงลายมือชื่อ ด้วยเหตุนี้ขั้นตอนการลงลายมือชื่อจึงเป็นไปอย่างล่าช้า


 


 


ชุมนุมยื้อรอผลเจรจา แกนนำรายงานสถานการณ์เป็นระยะ


ขณะที่หน้าโรงงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน หลังเวลา 17.00 น. พนักงานได้เริ่มออกมาชุมนุมหน้าบจก.โฮยา เพื่อรอฟังผลเจรจา โดยในวันนี้พนักงานยังคงเลิกการทำโอทีทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน รวม 8 ชั่วโมง เช่นเดิม


 


ระหว่างที่พนักงานกว่า 2,000 คนชุมนุมรอฟังผลการเจรจา ได้มีการเล่นดนตรีให้กำลังใจการต่อสู้โดยเพื่อนพนักงาน สลับกับการรายงานสถานการณ์เจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานครั้งที่ 2 ที่ห้องประชุม สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน เป็นระยะ


 


กระทั่งเวลา 20.00 น. พนักงานที่ต้องทำงานช่วงกลางคืนได้ทยอยเข้าไปทำงานในโรงงาน เหลือแต่พนักงานช่วงกลางวันที่ชุมนุมรอฟังผลการเจรจาประมาณ 400 คน และในเวลาประมาณ 23.00 น. มีพนักงานช่วงกลางคืนที่อยู่ในช่วงพักออกมารอฟังผลการเจรจาที่ริมรั้วภายในโรงงานและบริเวณที่ชุมนุมด้วย


 


โดยแกนนำบนเวทีได้เชิญชวนให้พนักงานอย่าเพิ่งกลับที่พัก ขอให้รอฟังผลการเจรจาร่วมกัน และกล่าวว่า "ขอให้พวกเราฮักแพงกันเหมือนข้าวเหนียวปั้นก้อน"


 


 


เที่ยงคืนนายจ้างยอมลงลายมือชื่อ แกนนำรุดชี้แจงผลเจรจากับพนักงาน


กระทั่งการเจรจาไกล่เกลี่ยอันยาวนานได้สิ้นสุดลง หลังจากผู้แทนเจรจาฝ่ายนายจ้างยอมลงลายมือชื่อ หลังจากพิจารณาความถูกต้องของเอกสารแล้ว ในเวลาเกือบ 24.00 น. ของวันที่ 25 ม.ค. และในเวลา 00.20 น. ของวันนี้ (26 ม.ค.) แกนนำพนักงานที่เป็นผู้แทนเจรจาทั้ง 7 ได้มาถึงที่ชุมนุม โดยนายอัครเดช ชอบดี กรรมการสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) และผู้แทนเจรจาได้อ่านผลการเจรจาทั้ง 13 ข้อที่มีการบันทึกเป็นข้อตกลงสภาพการจ้าง โดยมีรายละเอียดดังนี้


 






ร.ส.9


 


ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง


 


เขียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน


จังหวัดลำพูน


 


วันที่ 25 มกราคม 2551


 


ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับนี้ ทำขึ้นระหว่าง / ผู้แทนบริษัท โฮย่า กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด กับ ผู้แทนลูกจ้าง ได้มีการเจรจากันตามข้อเรียกร้องของลูกจ้างฉบับลงวันที่ 11 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2550 และสามารถตกลงกันได้ทำให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นอันยุติ ผลของข้อตกลง มีดังนี


 


1. บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างงวดประจำเดือนเมษายน 2551 สำหรับลูกจ้างฝ่ายผลิต (operator) ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินผลในระดับ D ขึ้นไปในอัตราไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้าง และลูกจ้างที่ได้รับการประเมินผลในระดับ A ไม่น้อยกว่าอัตรา 1.5 เท่า โดยคำนวณตามวิธีการคำนวณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สำหรับเงินโบนัสในเดือนธันวาคม 2551 ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่งภายในเดือนตุลาคม 2551


ส่วนลูกจ้างระดับอื่นๆ บริษัทฯ ยังคงใช้เงื่อนไขการให้เงินโบนัส ตามหลักเกณฑ์เดิม


 


2. บริษัทฯ ตกลงจ่ายค่าน้ำมันรถให้แก่พนักงานทุกคน เป็นวันละ 35 บาท


 


3. บริษัทฯ ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างรายวันทุกคนเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กระทรวงแรงงานกำหนด โดยลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ให้นำอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น มาบวกเพิ่มกับค่าจ้างรายวันที่ได้รับ และปรับค่าจ้างลูกจ้างรายเดือนเพิ่มขึ้นโดยวิธีการคำนวณจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นคูณด้วย 30 วัน และนำผลประกอบการของบริษัทฯ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มาพิจารณาร่วมกันในการปรับค่าจ้างของลูกจ้างรายเดือนด้วย โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552


ทั้งนี้ ยกเว้นลูกจ้างรายเดือนตั้งแต่ระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไป จะไม่ได้รับการปรับค่าจ้างตามเงื่อนไขข้างต้น


 


4. บริษัทฯ ตกลงปรับสภาพการจ้างของลูกจ้างรายวันที่ทำงานติดต่อกัน 5 ปีขึ้นไป ให้เป็นลูกจ้างรายเดือนดังนี้


-ลูกจ้างที่เข้ามาทำงานก่อนวันที่ 21 มีนาคม 2546 จะได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนตั้งแต่งวดการคำนวณค่าจ้างเดือนเมษายน 2551 (21 มีนาคม - 20 เมษายน 2551) เป็นต้นไป


-ลูกจ้างที่เข้ามาทำงานตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป จะได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ต้องผ่านเกณฑ์ประเมินผลที่บริษัทฯ กำหนด โดยทำการประเมินปีละ 2 ครั้ง ในเดือนเมษายน และเดือนตุลาคมของทุกปี จะได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน (ตามเอกสารที่ฝ่ายนายจ้างนำมาเป็นหลักฐานและแนบท้ายข้อตกลงฉบับนี้จำนวน 1 แผ่น)


 


5. บริษัทฯ จัดหาสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลแก่ลูกจ้างทุกคน โดยให้ครอบคลุมถึงสมาชิกในครอบครัวของลูกจ้าง คือ บิดา มารดา สามี หรือภรรยา และบุตรทุกคนในวงเงินดังนี้


-ลูกจ้างรายวัน ปีละ 5,000 บาท


-ลูกจ้างรายเดือน ปีละ 6,000 บาท


 


6. บริษัทฯ ปรับปรุงที่จอดรถของลูกจ้าง โดยก่อสร้างหลังคาที่จอดรถยนต์ และเทพื้นคอนกรีต สำหรับที่จอดรถจักรยานยนต์ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2551


 


7. บริษัทฯ กำหนดวันหยุดประเพณีปีละ 15 วัน โดยกำหนดวันหยุดช่วงสิ้นปีและช่วงวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2552 และกำหนดวันหยุดสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2551 ปีต่อปี สำหรับวันหยุดตามประเพณีวันอื่นๆ นอกจากวันหยุดติดต่อกันข้างต้น หากบริษัทฯ ขอให้ลูกจ้างมาทำงาน อำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับลูกจ้าง


 


8. ทั้งสองฝ่ายตกลงให้ผู้แทนลูกจ้าง และผู้แทนนายจ้าง พิจารณาร่วมกันในเรื่องดังนี้


-ค่าสายตา สำหรับงานที่มีลักษณะงานที่ต้องใช้สายตาในการทำงาน และค่าเสี่ยงภัย สำหรับพนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี และการทำงานบนที่สูง ให้มีการสำรวจและพิจารณาร่วมกันให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนพฤษภาคม 2551 และให้นำผลสรุปมาพิจารณาร่วมกันภายในเดือนมกราคม 2552


-ค่ายืนทำงาน บริษัทฯ ให้ลูกจ้างที่เคยได้รับค่ายืนทำงาน 7 บาทต่อวัน ที่เคยเซ็นชื่อรับการเปลี่ยนแปลง 5 บาท สามารถเลือกกลับมาใช้เงื่อนไขเดิมในการจ่ายคืนที่ 7 บาทต่อคนต่อวันได้โดยการยินยอมของลูกจ้างที่จะเลือก


 


9. บริษัทฯ ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ดังนี้


-ปรับปรุงให้มีน้ำดื่ม 2 ระบบ ทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อนในจุดเดียวกันให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2551


-ปรับปรุงและซ่อมบำรุงระบบเปิด-ปิดน้ำให้สามารถใช้งานได้ทุกจุดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2551


-ปรับปรุงโรงอาหารและเพิ่มจำนวน โทรทัศน์ และติดตั้งระบบ UBC อย่างพอเพียง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2551


 


10. บริษัทฯ กำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มเป็น 15 วันตามอายุงานดังนี้


-หยุดพักผ่อนประจำปีได้ 6 วันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี


-หยุดพักผ่อนประจำปีได้ 7 วันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 2 ปี


-หยุดพักผ่อนประจำปีได้ 8 วันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 3 ปี


-หยุดพักผ่อนประจำปีได้ 9 วันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 4 ปี


-หยุดพักผ่อนประจำปีได้ 10 วันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 5 ปี


-หยุดพักผ่อนประจำปีได้ 11 วันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 6 ปี


-หยุดพักผ่อนประจำปีได้ 12 วันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 7 ปี


-หยุดพักผ่อนประจำปีได้ 13 วันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 8 ปี


-หยุดพักผ่อนประจำปีได้ 14 วันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 9 ปี


-หยุดพักผ่อนประจำปีได้ 15 วันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 10 ปี


 


กำหนดให้ลูกจ้างลากิจได้โดยได้รับค่าจ้าง และไม่นำการลากิจไปพิจารณาเบี้ยขยันของลูกจ้างไม่เกินปีละ 5 วันทำงาน


กรณีที่ลูกจ้างลากิจเกิน 5 วัน จะไม่ได้รับค่าจ้าง และมีผลต่อการพิจารณาเบี้ยขยัน


ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงให้แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฯ ฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ที่ได้ส่งสำเนาให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน โดยตัดข้อความในหมวดที่ 6 ว่าด้วยการลาและหลักเกณฑ์การลา ข้อ 4.3 ข้อ 4.4. และ ข้อ 6 (ตามเอกสารแนบท้าย จำนวน 32 แผ่น)


 


11. บริษัทฯ จ่ายเงินรางวัลพิเศษแก่ลูกจ้างที่อายุงานต่อเนื่องกัน โดยกำหนดจ่ายเงินรางวัลพิเศษ ภายในเดือนมกราคมของทุกปีดังนี้


-ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี ได้รับเงินพิเศษ 10,000 บาท


-ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 15 ปี ได้รับเงินพิเศษ 15,000 บาท


-ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ได้รับเงินพิเศษ 20,000 บาท


 


12. บรรดาข้อตกลงหรือสวัสดิการอื่นใด และหรือประเพณีปฏิบัติที่ไม่มีข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลง ให้คงสภาพการจ้างเหมือนเดิม และจะปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน


 


13. ห้ามมิให้บริษัทฯ รังแก เปลี่ยนแปลงหน้าที่ หรือเลิกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุทำให้ลูกจ้างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ไม่สามารถทนทำงานได้


 


กฎ ระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ของบริษัทฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนอกเหนือจากข้อตกลงสภาพการจ้างทั้ง 13 ข้อนี้ ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป


 


ข้อตกลงฯ ฉบับนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป ทั้งนี้ คณะกรรมการสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ ตกลงให้บันทึกเป็นหลักฐานว่า จะไม่ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างอีกจนกว่าข้อตกลงฉบับนี้จะครบอายุ หากต้องการจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพการจ้าง ต้องยื่นข้อเรียกร้องภายใน 60 วัน ก่อนข้อตกลงฉบับนี้สิ้นสุดลง


 


ทั้งสองฝ่ายได้อ่านข้อตกลงดังกล่าวเป็นที่เข้าใจถูกต้องแล้ว จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน


 


 


 


แกนนำชี้ถ้าไม่ต่อสู้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง


นายอัครเดช ชอบดี กรรมการสหภาพแรงงาน สอฟส. กล่าวว่า จากวันที่เราร่วมต่อสู้กันมา 11 ธ.ค. ถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบสองเดือน เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง คิดดูถ้าเราไม่สู้ ถ้าเราไม่ยื่นข้อเรียกร้อง ถ้าเราไม่มีสหภาพแรงงาน เราจะมีวันนี้หรือไม่ เราจะได้ดื่มน้ำร้อนหรือไม่ เราจะได้ค่าน้ำมันรถ 35 หรือ 20 บาทเท่าเดิม ทั้งที่ราคาน้ำมันรถขึ้นเอาๆ สิ่งนี้คือส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงานว่าด้วยข้อเรียกร้อง ทุกอย่างได้มาด้วยการต่อสู้ วันนี้ทุกท่านได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเราได้ร่วมกันต่อสู้ สิ่งที่ทำมาทั้งหมดไม่ใช่ผลงานของทีมเจรจา 7 คน หรือกรรมการสหภาพแรงงาน หรือผู้ปฏิบัติงาน แต่เป็นผลงานของทุกคนที่ได้ร่วมกัน


 


นายธาดา ธิมาเกตุ กรรมการสหภาพแรงงาน สอฟส. กล่าวว่า ขอให้จดจำกันไว้ว่าเพื่อนๆ ที่นั่งกันอยู่ที่นี่คือเพื่อนตาย คือเพื่อนผู้ใช้แรงงานที่ต่อสู้ร่วมกันมาโดยตลอด นี่คือระบบแรงงานสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกัน ถ้าไม่ทำแบบนี้เราจะเห็นหน้าค่าตากันไหม เราจะรู้จักกันไหม พี่น้องที่ทำงานในแต่ละโรงงานนั้นเราได้มารู้จักกันแล้ว ขอให้ถามไถ่ชื่อเสียงเรียงนามกันไว้ เพราะยังต้องทำกิจกรรมร่วมกันอีกมาก


 


"การต่อสู้ครั้งนี้ไม่มีแพ้และชนะ เป็นการต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน เป็นสิ่งที่ผ่านมาในอดีต ที่มันถูกกดดันมานาน ได้ถูกแก้ไขส่วนหนึ่งแล้วในวันนี้ ขอให้รักกันสมานฉันท์กันไว้มากๆ เพราะพวกเราต้องทำกิจกรรมร่วมกันอีกมาก ขอย้ำว่าไม่ใช่การต่อสู้เพื่อแพ้และชนะ แต่ต่อสู้เพื่อให้เรารักกัน" กรรมการสหภาพแรงงานผู้นี้กล่าว


 


 


ประธาน สอฟส. ขอบคุณเพื่อนพนักงานทุกคนที่ร่วมต่อสู้


นายศรีทน เปรื่องวิชาธร ประธานสหภาพแรงงาน สอฟส. กล่าวว่า นับตั้งแต่วันแรกที่เราลงลายมือชื่อเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง จนถึงวันนี้ ปัญหาต่างๆ จากผู้ใช้แรงงานได้ส่งถึงผู้บริหารโดยตรง และวันนี้เรามีสหภาพอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์แล้ว แม้วันเวลาเปลี่ยนไปนับจากวันที่ 11 ธ.ค. แต่พวกเรายังเหนียวแน่น อย่างที่เคยบอกว่าพวกเราเคียงบ่าเคียงไหล่เดินไปพร้อมๆ กัน และขอขอบคุณเพื่อนๆ พี่น้อง ผู้ใช้แรงงานที่ร่วมต่อสู้ทุกคน


 


โดยประธานสหภาพแรงงาน สอฟส. ได้นัดหมายชี้แจงรายละเอียด ผลการเจรจาอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเย็นวันนี้ (26 ม.ค.) และพนักงานได้สลายการชุมนุมไปโดนสงบในเวลาประมาณ 1.00 น. ของวันนี้ (26 ม.ค.)


 


00000


 


สรุปผลการเจรจาข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ยื่นต่อ บจก.โฮยากลาสดิสค์ (ประเทศไทย) เปรียบเทียบกับ บันทึกเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หลังการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานครั้งที่ 2 วันที่ 25 มกราคม 2551


 














































ข้อเรียกร้อง


ผลการเจรจา


1.ขอให้บริษัทฯ จ่ายโบนัสให้กับพนักงานครั้งละ 2.5 เท่าทุกคนโดยไม่มีการตัดเกรด


1.บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างงวดประจำเดือนเมษายน 2551 สำหรับลูกจ้างฝ่ายผลิต (operator) ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินผลในระดับ D ขึ้นไปในอัตราไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้าง และลูกจ้างที่ได้รับการประเมินผลในระดับ A ไม่น้อยกว่าอัตรา 1.5 เท่า โดยคำนวณตามวิธีการคำนวณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สำหรับเงินโบนัสในเดือนธันวาคม 2551 ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่งภายในเดือนตุลาคม 2551


 


ส่วนลูกจ้างระดับอื่นๆ บริษัทฯ ยังคงใช้เงื่อนไขการให้เงินโบนัส ตามหลักเกณฑ์เดิม


2.ขอให้บริษัทฯ เพิ่มค่าน้ำมันให้กับพนักงานทุกคนจากเดิมที่บริษัทฯ จ่ายค่าน้ำมันให้พนักงานวันละ 20 บาท เป็นวันละ 50 บาท


2.บริษัทฯ ตกลงจ่ายค่าน้ำมันรถให้แก่พนักงานทุกคน เป็นวันละ 35 บาท


3. ขอให้บริษัทฯ ปรับค่าจ้างของพนักงานรายวันและพนักงานรายเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิมคนละ 20% และให้ปรับค่าจ้างให้กับพนักงานขึ้นตามส่วนต่างของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด


3.บริษัทฯ ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างรายวันทุกคนเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กระทรวงแรงงานกำหนด โดยลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ให้นำอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น มาบวกเพิ่มกับค่าจ้างรายวันที่ได้รับ และปรับค่าจ้างลูกจ้างรายเดือนเพิ่มขึ้นโดยวิธีการคำนวณจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นคูณด้วย 30 วัน และนำผลประกอบการของบริษัทฯ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มาพิจารณาร่วมกันในการปรับค่าจ้างของลูกจ้างรายเดือนด้วย โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552


 


ทั้งนี้ ยกเว้นลูกจ้างรายเดือนตั้งแต่ระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไป จะไม่ได้รับการปรับค่าจ้างตามเงื่อนไขข้างต้น


4. ขอให้บริษัทฯ ปรับสภาพการจ้างของพนักงานรายวันที่ทำงานติดต่อกัน 3 ปีขึ้นไปให้เป็นพนักงานรายเดือน


4.บริษัทฯ ตกลงปรับสภาพการจ้างของลูกจ้างรายวันที่ทำงานติดต่อกัน 5 ปีขึ้นไป ให้เป็นลูกจ้างรายเดือนดังนี้


 


-ลูกจ้างที่เข้ามาทำงานก่อนวันที่ 21 มีนาคม 2546 จะได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนตั้งแต่งวดการคำนวณค่าจ้างเดือนเมษายน 2551 (21 มีนาคม - 20 เมษายน 2551) เป็นต้นไป


 


-ลูกจ้างที่เข้ามาทำงานตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป จะได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ต้องผ่านเกณฑ์ประเมินผลที่บริษัทฯ กำหนด โดยทำการประเมินปีละ 2 ครั้ง ในเดือนเมษายน และเดือนตุลาคมของทุกปี จะได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน


5. ขอให้บริษัทฯ ปรับเปลี่ยนเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงาน จากเดิมที่พนักงานสามารถใช้สิทธิ์ในสวัสดิการรักษาพยาบาลได้เพียงตนเองเท่านั้น ให้สามารถใช้ครอบคลุมถึงสมาชิกในครอบครัวของพนักงาน เช่น พ่อ,แม่,สามี ภรรยา,บุตร และญาติร่วมสายโลหิต 3 คน)


5.บริษัทฯ จัดหาสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลแก่ลูกจ้างทุกคน โดยให้ครอบคลุมถึงสมาชิกในครอบครัวของลูกจ้าง คือ บิดา มารดา สามี หรือภรรยา และบุตรทุกคนในวงเงินดังนี้


-ลูกจ้างรายวัน ปีละ 5,000 บาท


-ลูกจ้างรายเดือน ปีละ 6,000 บาท


6. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงที่จอดรถของพนักงานโดยการลาดซีเมนต์คอนกรีตบริเวณลานจอดรถจักรยานยนต์และทำหลังคาลานจอดรถยนต์ ทั้งหมด


6.บริษัทฯ ปรับปรุงที่จอดรถของลูกจ้าง โดยก่อสร้างหลังคาที่จอดรถยนต์ และเทพื้นคอนกรีต สำหรับที่จอดรถจักรยานยนต์ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2551


7. ขอให้บริษัทฯ เพิ่มวันหยุดตามประเพณีจากเดิม 13 วันเป็น 15 วันโดยให้มีวันหยุดสิ้นปี ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ถึง วันที่ 4 มกราคม ของทุกปี และวันหยุดสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ถึงวันที่16 เมษายน ของทุกปี


7.บริษัทฯ กำหนดวันหยุดประเพณีปีละ 15 วัน โดยกำหนดวันหยุดช่วงสิ้นปีและช่วงวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2552 และกำหนดวันหยุดสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2551 ปีต่อปี


 


สำหรับวันหยุดตามประเพณีวันอื่นๆ นอกจากวันหยุดติดต่อกันข้างต้น หากบริษัทฯ ขอให้ลูกจ้างมาทำงาน อำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับลูกจ้าง


8. ขอให้บริษัทฯ เพิ่มเงินสวัสดิการตามสภาพการทำงานของพนักงาน โดยงานที่มีลักษณะยืนทำงานให้มีค่ายืนจากเดิมที่เคยได้วันละ 7 บาท เป็นวันละ 10 บาท และงานที่มีลักษณะใช้สายตาในการทำงานให้มีค่าสายตาคนละ 10 บาทต่อวัน ค่าเสี่ยงภัยในการทำงานสำหรับพนักงานที่ทำงานกับสารเคมีอันตราย และการทำงานบนที่สูง คนละ 10 บาทต่อวัน


8.ทั้งสองฝ่ายตกลงให้ผู้แทนลูกจ้าง และผู้แทนนายจ้าง พิจารณาร่วมกันในเรื่องดังนี้


-ค่าสายตา สำหรับงานที่มีลักษณะงานที่ต้องใช้สายตาในการทำงาน และค่าเสี่ยงภัย สำหรับพนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี และการทำงานบนที่สูง ให้มีการสำรวจและพิจารณาร่วมกันให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนพฤษภาคม 2551 และให้นำผลสรุปมาพิจารณาร่วมกันภายในเดือนมกราคม 2552


-ค่ายืนทำงาน บริษัทฯ ให้ลูกจ้างที่เคยได้รับค่ายืนทำงาน 7 บาทต่อวัน ที่เคยเซ็นชื่อรับการเปลี่ยนแปลง 5 บาท สามารถเลือกกลับมาใช้เงื่อนไขเดิมในการจ่ายคืนที่ 7 บาทต่อคนต่อวันได้โดยการยินยอมของลูกจ้างที่จะเลือก


9. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค


9.1 บริเวณที่เป็นจุดน้ำดื่มซึ่งแต่เดิมมีแต่ระบบน้ำเย็นขอให้เปลี่ยนเป็นเครื่องที่มระบบทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อน


9.2 เปลี่ยนก๊อกน้ำที่เป็นแบบเซ็นต์เซอร์ให้เป็นแบบมือกด


9.3 ปรับปรุงสภาพโรงอาหารและเพิ่มจำนวน TV พร้อมติด UBC


9.บริษัทฯ ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ดังนี้


-ปรับปรุงให้มีน้ำดื่ม 2 ระบบ ทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อนในจุดเดียวกันให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2551


-ปรับปรุงและซ่อมบำรุงระบบเปิด-ปิดน้ำให้สามารถใช้งานได้ทุกจุดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2551


-ปรับปรุงโรงอาหารและเพิ่มจำนวน โทรทัศน์ และติดตั้งระบบ UBC อย่างพอเพียง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2551


10. ขอให้บริษัทฯ เพิ่มสวัสดิการในการลากิจของพนักงานทุกคนคนละ 5 วันต่อปี และให้มีวันลาพักร้อนสำหรับพนักงานทุกคนปีละ 15 วัน


10.บริษัทฯ กำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มเป็น 15 วันตามอายุงาน


 


โดยทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี หยุดได้ 6 วัน / ครบ 2 ปี หยุดได้ 7 วัน / ครบ 3 ปี หยุดได้ 8 วัน / ครบ 4 ปี หยุดได้ 9 วัน / ครบ 5 ปี หยุดได้ 10 วัน / ครบ 6 ปี หยุดได้ 11 วัน / ครบ 7 ปี หยุดได้ 12 วัน / ครบ 8 ปี หยุดได้ 13 วัน / ครบ 9 ปี หยุดได้ 14 วัน และครบ 10 ปี หยุดได้ 15 วัน


 


กำหนดให้ลูกจ้างลากิจได้โดยได้รับค่าจ้าง และไม่นำการลากิจไปพิจารณาเบี้ยขยันของลูกจ้างไม่เกินปีละ 5 วันทำงาน


 


กรณีที่ลูกจ้างลากิจเกิน 5 วัน จะไม่ได้รับค่าจ้าง และมีผลต่อการพิจารณาเบี้ยขยัน


 


ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงให้แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฯ ฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ที่ได้ส่งสำเนาให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน โดยตัดข้อความในหมวดที่ 6 ว่าด้วยการลาและหลักเกณฑ์การลา ข้อ 4.3 ข้อ 4.4. และ ข้อ 6


11. ขอให้มีสวัสดิการกับพนักงานที่มีอายุงานต่อเนื่อง ดังนี้


พนักงานที่ทำงานครบ 5 ปี ได้รับเงิน 5,000 บาท


พนักงานที่ทำงานครบ 10 ปี ได้รับเงิน 10,000 บาท


พนักงานที่ทำงานครบ 15ปี ได้รับเงิน 15,000 บาท


11.บริษัทฯ จ่ายเงินรางวัลพิเศษแก่ลูกจ้างที่อายุงานต่อเนื่องกัน โดยกำหนดจ่ายเงินรางวัลพิเศษ ภายในเดือนมกราคมของทุกปีดังนี้


-ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี ได้รับเงินพิเศษ 10,000 บาท


-ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 15 ปี ได้รับเงินพิเศษ 15,000 บาท


-ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ได้รับเงินพิเศษ 20,000 บาท


12. ในบรรดาข้อตกลง/สวัสดิการอื่นใด และ/หรือ ประเพณี ปฏิบัติที่ไม่มีข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลง ให้คงสภาพการจ้างเหมือนเดิม


12.บรรดาข้อตกลงหรือสวัสดิการอื่นใด และหรือประเพณีปฏิบัติที่ไม่มีข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลง ให้คงสภาพการจ้างเหมือนเดิม และจะปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน


13. ห้ามมิให้นายจ้างรังแก/เปลี่ยนแปลงหน้าที่ หรือ เลิกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถทนทำงานอยู่ได้


13.ห้ามมิให้บริษัทฯ รังแก เปลี่ยนแปลงหน้าที่ หรือเลิกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุทำให้ลูกจ้างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ไม่สามารถทนทำงานได้


 


 


 


ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง


พนักงานโรงงานโฮยานิคมลำพูนยื่นข้อเรียกร้อง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ, ประชาไท, 11/12/2550


คนงานนิคมจ.ลำพูนรวมใจสู้-ร้องนายจ้างปรับปรุงสวัสดิการ-สภาพการทำงาน, ประชาไท, 12/12/2550


บทความ: เมื่อคนงานโฮย่ากลาสดิสก์ลำพูนรวมใจสู้: ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้, ประชาไท, 13/12/2550


คนงานโฮยาชุมนุมรอฟังการเจรจานัดแรก แต่ผลยังไม่คืบหน้า, ประชาไท, 14/12/2550


มุมมองทางเศรษฐกิจ จากกรณีการต่อสู้ของแรงงานโฮย่า กลาสดิสค์ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน, ประชาไท, 18/12/2550


คนงานโฮยาชุมนุมหนที่ 3 - ทำพิธีสู่ขวัญเสริมกำลังใจ - รอฟังผลเจรจา, ประชาไท, 20/12/255


จดหมายจากพนักงานโฮย่า: บันทึกหนึ่งของการชุมนุม, ประชาไท, 20/12/2550


เครือข่ายปชช.เหนือ จม.เปิดผนึกสนับสนุนข้อเรียกร้องคนงานโฮยา กลาสดิสด์(ประเทศไทย) - ประชาไท, 25/12/2550


คนงานลำพูนชุมนุม รอบ 4 ร้องนายจ้างปรับปรุงสภาพการจ้างงาน, ประชาไท, 26/12/2550


คนงานโฮย่าชุมนุมครั้งที่ 5 เจรจายืดเยื้อถึงเที่ยงคืน, ประชาไท, 11/12/2551


คนงานโฮยา จ.ลำพูน ประกาศตั้งสหภาพแรงงานแห่งที่สองในภาคเหนือ, ประชาไท, 18/12/2551


กำลังใจเพื่อสหภาพแรงงานแห่งที่สองของภาคเหนือ: "เราเป็นคน ไม่ใช่แค่ปัจจัยการผลิต", ประชาไท, 21/1/2551


คนงานโฮยายื่นพิพาทแรงงานหลังเจรจาไม่คืบ, ประชาไท, 22/1/2551


ผลไกล่เกลี่ยพิพาทแรงงานโฮยานัดแรกคืบหน้า, ประชาไท, 25/1/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net