Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์โดย ศรายุธ ตั้งประเสริฐ


 


ไม่ว่าคุณจะเป็นคนอีสานหรือไม่ จะชอบหรือไม่ชอบรัฐประหารก็ตามที ควรอ่านบทสัมภาษณ์ "พฤกษ์ เถาถวิล" อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเสนอข้อคิดจากท้องถิ่นที่คุณอาจนึกไม่ถึง "ที่ผ่านมาชาวบ้านถูกทำให้ไม่มีตัวตน ถ้าจะสร้างประชาธิปไตย เราต้องรู้จักชาวบ้านให้มากขึ้น"


 


000


 


"ที่ผ่านมาชาวบ้านถูกทำให้ไม่มีตัวตน ถ้าจะสร้างประชาธิปไตย เราต้องรู้จักชาวบ้านให้มากขึ้น"


 


ในขณะที่รัฐ สื่อมวลชน คนชั้นกลาง หรือองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ รณรงค์ไม่ให้ประชาชนขายสิทธิขายเสียง และรณรงค์ให้เลือกคนดีเข้าสภา แต่จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาในภาคอีสานดูจะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ส.ส.หรือพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง ดูแล้วไม่น่าจะเป็นคนดีหรือพรรคที่ดี ตามมาตรฐานของพวกเขา เราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร


ถามว่าเห็นอะไรจากเคมเปญการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผมว่ามันสะท้อนทัศนะดั้งเดิมที่ชนชั้นปกครองและชนชั้นกลางมองชาวบ้านได้อย่างดี นั่นก็คือการมองชาวบ้านว่าไม่มีเหตุผล ไม่มีจิตสำนึก ไม่มีสติปัญญา ความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สืบเนื่องมาตลอด อาจย้อนไปได้ถึงปี 2475 ที่ฝ่ายหนึ่งออกมาคัดค้านการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า ชาวบ้านยังไม่พร้อม หรือชาวบ้านยังโง่อยู่ ต่อมาก็มองว่าชาวบ้าน โง่-จน-เจ็บ ในการพัฒนาชนบท ก็คิดว่าที่ว่าชาวบ้านไม่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจ ไม่มีสำนึกทางการเมือง ไปจนถึง กินข้าวไม่ยอมล้างมือ ไม่ขับถ่ายในส้วม ฯลฯ ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นฐานคิดในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครอง+ชนชั้นกลางกับชาวบ้าน และเป็นปัญหาสำคัญของประชาธิปไตยของไทย


 


 


แล้วการรณรงค์ในวิธีคิดดังกล่าวทำให้เกิดผลอย่างไรบ้าง


ถ้ามองในมุมของรัฐก็คงบอกว่า การรณรงค์ล้มเหลว ชาวบ้านยังคงเลือกพรรคโกงกินเข้ามาอีก แต่ในความรู้สึกของผม การรณรงค์ที่ผ่านมามันทิ้งความรุนแรงและสร้างความเสียหายไว้ไม่น้อย ตัวอย่างเช่น โฆษณาทีวีการรณรงค์ไม่ซื้อสิทธิขายเสียงของ กกต. ผมได้ดูบางชิ้น แต่เนื้อหาโดยรวมก็คือการชี้หน้าด่าชาวบ้านอย่างไม่อ้อมค้อมว่า เป็นพวกทำลายประชาธิปไตย ทำลายชาติ ผมไม่รู้แน่ชัดว่าชาวบ้านรู้สึกอย่างไร แต่คิดว่าถ้าภาพและเป้าหมายการรณรงค์ที่ปรากฏในสื่อ กลายเป็นภาพ ข้าราชการ ขุนน้ำ ขุนนาง นักธุรกิจ ชนชั้นกลาง โฆษณานี้ต้องถูกโวยแน่ๆ อีกอย่างหนึ่งคือ ในช่วงก่อนเลือกตั้ง จะมีแผ่นป้ายขนาดใหญ่เหมือนๆกันติดในหมู่บ้านทุกแห่ง เป็นคำปฏิญาณในทำนองว่าคนในหมู่บ้าน........นี้ จะใช้ชีวิตแบบประชาธิปไตย ไม่ขายเสียง และจะพอเพียง อันนี้มันหมายความว่าอย่างไร? ผมคิดว่ามันคือความรุนแรงและการแบ่งแยก ที่สืบเนื่องมาจากทัศนะต่อคนชนบทที่ว่ามาข้างต้น และมันเป็นมาอย่างนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน


 


 


ถ้าอย่างนั้นจะมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง


ผมคิดว่าเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการกล่าวหาและกีดกันชาวบ้าน ขณะที่สถาปนาศีลธรรมและบทบาทของชนชั้นปกครอง+ชนชั้นกลาง ผมคิดว่าแทนที่เราจะไปเชื่อว่าการซื้อเสียงเป็นเรื่องไม่มีเหตุผล และเป็นโทษต่อประชาธิปไตยสถานเดียว เราควรหันมายอมรับว่า มันเป็นเหตุผลอีกชุดหนึ่งที่เรายังไม่เข้าใจ ยังเข้าไม่ถึง เพราะถ้าคุณอยู่ในหมู่บ้านจะรู้ว่าการซื้อขายเสียงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ใช่การซื้อขาด-ขายขาดเหมือนซื้อของในร้านค้า แต่มันวางอยู่บนความสัมพันธ์หลายๆชุด ตั้งแต่เครือญาติ ชนชั้น กลุ่มอุปถัมภ์ และผลประโยชน์อันหลากหลาย การตัดสินใจหรือการตกปากรับคำอะไรไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้นระบบการควบคุมตรวจสอบมันมีอยู่ในระดับหนึ่ง และก็เริ่มชัดมากขึ้นว่า การซื้อขายเสียงอย่างเดียวไม่ใช่หลักประกันชัยชนะ แต่ต้องมีนโยบาย และกระบวนการสืบเนื่องจากนั้นด้วย ดังนั้นถ้าเรามองว่าการซื้อขายเสียงเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในการต่อรองทางอำนาจของคนในท้องถิ่น เราจะเปิดประตูความเข้าใจมิติใหม่ของประชาธิปไตยอีกมาก


 


 


มีคนบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงถึงจิตสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นล่าง


ถ้านิยามชนชั้นอย่างเคร่งครัดคงต้องเถียงกันอีกมาก แต่ถ้าชนชั้นในที่นี้หมายถึง "การเกิดกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบและมีความรู้สึกร่วมๆกันบางอย่าง" ผมเห็นด้วย ภายหลังรัฐประหารชาวบ้านรู้สึกมากขึ้นทุกขณะว่าพวกเขาไม่ได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ข้าวของแพงขึ้นๆ รัฐบาลก็ไม่เห็นทำอะไรเรื่องปากท้องคนจน และยิ่งนานวันพวกเขายิ่งรู้สึกเหมือนเป็นจำเลยของสังคมมากขึ้นดังตัวอย่างการรณรงค์เลือกตั้งที่ว่ามาข้างต้น ผมคิดว่าเหตุการณ์ในช่วงหลังรัฐประหาร จนถึงเลือกตั้ง มันได้สร้างกลุ่มคนที่มีความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมามากจริงๆ อย่างน้อยก็ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ถ้าคุณไปเดินตลาด และเปิดปากเรื่องการเมือง ชาวบ้านไม่รีรอที่จะระเบิดอารมณ์ ด่าทหารและบ่นสงสารทักษิณ มันช่วยไม่ได้ที่เขาจะคิดถึงพรรคการเมือง หรือนักการเมืองที่ ช่วยเหลือเรื่องปากท้องเขา เห็นความสำคัญของพวกเขา แม้เราจะมองว่าเป็นประชานิยมก็ตาม แต่นี่ก็คือพรรคการเมืองที่ดี นักการเมืองที่ดีในทัศนะของชาวบ้าน


 


 


พูดอย่างนี้การเสพติดประชานิยมก็เป็นเรื่องปกติ


หามิได้ ต้องย้อนคิดนิดนึง ผมคิดว่าคู่ปฏิปักษ์ทางการเมืองระหว่าง ฝ่ายรัฐประหาร กับฝ่ายทักษิณ เอาเข้าจริงมีรากฐานความคิดที่เหมือนกัน คือฝ่ายหนึ่งมองว่าชาวบ้านหลงใหลอามิสสินจ้าง อีกฝ่ายมองว่า ชาวบ้านเป็นพวกรอคอยการอุปถัมภ์ มันเหมือนกัน ก็คือ การมองว่าชาวบ้านคือ คือผู้ด้อยกว่า ผมอยากจะเรียกว่าเป็น "การทำให้ชาวบ้านไม่มีตัวตน" คือถึงมีชีวิตเดินไปเดินมา แต่ก็เหมือนไม่มีความรู้สึกนึกคิด ไม่มีปากเสียง เป็นผู้คอยรับการช่วยเหลือ เป็นผู้รับผลจากการกระทำของเบื้องบน หรือเป็นกรรม (object) ไม่ได้เป็นผู้กระทำ (subject) ผู้ที่จะออกความเห็น แสดงความต้องการ สภาพแบบนี้ชาวบ้านก็ไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้ มีแต่ถูกกำหนด และนี่ก็คือความพิกลพิการของประชาธิปไตยไทย


 


สำหรับการเลือกตั้งที่ผ่านมา มันแย่ตรงที่นโยบายพรรคการเมืองแต่ละพรรคแทบไม่แตกต่างกัน มันก็เหมือนไม่มีอะไรให้เลือก เมื่อไม่มีอะไรให้เลือก ก็ไม่ผิดอะไรที่พวกเขาจะเลือกพรรคที่จะมาสานต่อนโยบายประชานิยมของไทยรักไทย ในการเลือกตั้งคราวนี้ ผมเชื่อว่าถ้ามี "ประชานิยมแบบก้าวหน้า"มาให้เลือก ชาวบ้านจะเลือก หรืออย่างน้อยก็ให้ความสนใจมากๆ ประชานิยมแบบก้าวหน้า คืออะไร ในที่นี้ ผมคิดถึงการที่ภาคประชาชนบางกลุ่มริเริ่มพูดถึงรัฐสวัสดิการ โดยทบทวนการจัดเก็บรายได้และจัดสรรงบประมาณของรัฐ มีการพูดถึงการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ฯลฯ เพื่อนำมาดูแลคนส่วนใหญ่ในสังคม ประเด็นของผมก็คือ จากประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับชาวบ้าน พบว่าพวกเขารู้และเลือกได้ว่าอะไรคือนโยบายที่เป็นธรรมและยั่งยืน ขอให้เขาได้รับข้อมูลอย่างเต็มที่เถอะ ผมคิดว่าการผลักดันนโยบายประชานิยมที่ก้าวหน้า ให้เป็นวาระสำคัญทางการเมืองนี้น่าคิด น่าทำ และน่าสนับสนุนกันให้มากขึ้น ซึ่งน่าจะทำได้หลายหนทาง


 


 


กำลังจะบอกว่า ชาวบ้านมีความรู้ มีภูมิปัญญา มีศักยภาพ มีความพร้อม เพียงแต่เรามองไม่เห็น หรือละเลยไป อย่างนั้นหรือไม่


ผมคิดว่าการมองชาวบ้านแบบเหมารวมก็เป็นปัญหา ขออนุญาตกล่าวถึงกรณีอีสาน ในปัจจุบันการอธิบายเรื่องต่างๆภายใต้คำว่าอีสานอาจไม่เป็นประโยชน์นัก เพราะแต่ละพื้นที่แต่ละหมู่บ้านก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งผันแปรไปตามถิ่นฐานที่ตั้ง ประวัติศาสตร์ ระดับการเข้าสู่ตลาด ความใกล้ไกลเมือง ประสบการณ์ความขัดแย้งของหมู่บ้าน ฯลฯ มองดูเผินๆหมู่บ้านอาจเหมือนๆกัน แต่ถ้าคุยกันลึกๆจะพบว่าแต่ละบ้านมีบุคลิกแตกต่างกัน ทางด้านอาชีพเล่า เราอาจจะเคยชินว่าชาวบ้านมีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม แต่ไปดูกระเป๋าเงินของครอบครัวเราจะพบว่าเงินมันมาจากหลากหลายทางมาก จนไม่รู้จะบอกว่าเขามีอาชีพอะไร เราจะพบอีกว่าชาวบ้านก็ไม่ได้อยู่ติดถิ่นฐาน แต่เป็นครอบครัวแบบเครือข่าย พี่น้องบางคนอยู่กรุงเทพฯ ภูเก็ต หรือต่างประเทศ คุณลองคิดดูว่าเวลาเขากลับมาลงคะแนนเลือกตั้งเขาจะเลือกใคร หรือในหมู่บ้านกลางทุ่งเราอาจจะพบฝรั่งเดินอยู่เต็มไปหมด เมียฝรั่งกลายเป็นเรื่องสามัญของหมู่บ้านอีสาน ครอบครัวเหล่านี้เขาดูข่าวซีเอ็นเอ็น ดูยูบีซี มาจับจ่ายที่ห้างในเมือง ในบางพื้นที่เห็นก้มๆเงยในไร่นาปรากฏว่าเป็นคนฝั่งลาวข้ามมารับจ้างเต็มไปหมด


 


เมื่อหมู่บ้านมีความต่างกัน คนในหมู่บ้านยิ่งต่างกันมากไปอีก เราไม่อาจจะมองชาวบ้านเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน คิด ทำ และต้องการอะไรเหมือนกันๆได้ ในหมู่บ้านมีกลุ่มลักษณะต่างๆเต็มไปหมด ในหมู่บ้านจึงเต็มไปด้วยการขัดกันแข่งขันกันต่อรองกัน ยิ่งหมู่บ้านสัมพันธ์กับภายนอกมากขึ้น ความต่างและความขัดกันยิ่งมากขึ้นไปอีก ดังนั้นการพูดเรื่องภูมิปัญญาศักยภาพอย่างลอยๆ ก็เป็นเรื่องโกหกดีๆนี้เอง ที่ว่ามานี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญอีกด้านหนึ่ง คือเป็นการมองภาพหมู่บ้านอย่างเหมารวม แช่แข็ง หรือมองเป็นภาพอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งก็คือกระบวนการทำให้ชาวบ้านไม่มีตัวตนในอีกแบบหนึ่งนั่นเอง


 


 


แล้วการมีตัวตนของชาวบ้านนี้คืออะไร เราจะช่วยได้อย่างไร


ผมคิดว่าท่ามกลางการถูกผลักไปสู่ชายขอบ การถูกสลายตัวตน หรือการลดทอนความเป็นมนุษย์ เราก็จะเห็นการโต้ตอบจากชาวบ้านได้เสมอ การแสดงออกมีหลายระดับ บางครั้งอาจไม่เป็นไปดังที่เราคาดหวัง แต่มันสำคัญ นับตั้งแต่การลุกขึ้นมาติฉินนินทาหรือโวยวาย การเอาตัวรอดด้วยทุกวิถีทาง การทำตัวเป็นเซียงเมี่ยง (ศรีธนญชัย) หรือการก่อความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ ผมอยากจะเรียกว่า "การเมืองในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน" แม้อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆน้อย แต่มันก็ทิ่มแทงอำนาจรัฐให้รู้ถึงสัญญาณอะไรบางอย่าง ในบางระดับก็มีการรวมกลุ่มกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ผมคิดว่าการขายหวยใต้ดินก็ใช่ ตอนนี้ในหมู่บ้านกำลังมีธุรกิจขายโสมเกาหลี บางที่ทำกิจกรรมกลุ่มรวมกับ อบต. กับ เอ็นจีโอ พวกเขาแสวงหาความร่วมมือและเอาอุดมการณ์หลากหลายแบบมาผสมผสานกันได้ หรือที่เรารู้จักกันดีในรูปขบวนการทางสังคมเช่น ชาวบ้านปากมูน เครือข่ายป่าชุมชน สมัชชาคนจน ชาวบ้านบ่อนอก บ้านกรูด ฯลฯ ทั้งหมดนี้คงไม่ได้วัดกันที่ความสำเร็จอย่างเดียว ที่สำคัญคือ มันสะท้อนให้เห็นความมีตัวตน ความมีเจตจำนงที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าชาวบ้านพยายามมาตลอด รอแต่เงื่อนไขที่เอื้ออำนวยมากกว่านี้ และผมเชื่อว่าหากรัฐยิ่งปิดกั้นขัดขวางครองงำมากเท่าไร ความเสื่อมก็จะยิ่งมาเร็วเท่านั้น


 


 


ถ้าพรรคพลังประชาชนได้จัดตั้งรัฐบาลจะมีความเปลี่ยนแปลงในอีสานอย่างไร


ตอนนี้คงประเมินได้ยาก ผมขอพูดถึงเรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงก็แล้วกัน เรื่องนี้เกี่ยวกับความรุนแรงในสังคมอีสาน ผมคิดว่าสำคัญ เมื่อไม่นานนี้ผมไปทำวิจัยในหมู่บ้านเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่ผมกลับเข้าใจเรื่องความรุนแรงในหมู่บ้านมากขึ้น ถ้าเราจะมองว่าความรุนแรงมีทั้งที่แสดงออกอย่างเด่นชัดในรูปการใช้กำลังประทุษร้าย และไม่เด่นชัดแต่เป็นการประทุษร้ายต่อความรู้สึกนึกคิดหรือตัวตนของชาวบ้าน เราจะเห็นว่าความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ควบคุมชนบทมาโดยตลอด นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ตอนเด็กๆผมจำได้ว่าคุ้นเคยกับการอบรมลูกเสือชาวบ้านอย่างดี อาจกล่าวได้ว่านี้คือการจัดตั้งทางอุดมการณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองในโอกาสต่างๆ ยังมีกองกำลังจัดตั้งรูปแบบต่างๆ ทสปช. อพปร. ในด้านหนึ่งก็คือเป็นสายข่าว เป็นการสร้างการควบคุมกันเองระหว่างชาวบ้าน เมื่อมองดูการพัฒนาชนบททั้งหมดที่ผ่านมา ก็ไม่ใช่อะไรอื่นแต่คือการเข้าไปควบคุมระดับครัวเรือน การผลักดันให้ชาวบ้านเข้าเป็นผู้ผลิตในระบบทุนนิยมอย่างว่าง่าย กรณีเศรษฐกิจพอเพียงทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ได้ชัด การส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านวิจัย ผมพูดได้เลยว่าไม่มีใครสนใจว่าจริงๆมันคืออะไร สำหรับข้าราชการมันคือที่มาของงบประมาณ การสร้างผลงานให้ได้ตามเป้า (แต่แค่ "สร้างภาพ" ว่ามีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง) สำหรับชาวบ้านบางส่วนก็อาจดีใจว่ามีงบประมาณอัดฉีดเข้ามาในหมู่บ้าน สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายอื่นๆ ก็เป็นการสร้างพื้นที่หรือบทบาทตรวจสอบกำกับชีวิตชาวบ้านให้มากขึ้น ในที่สุดเศรษฐกิจพอเพียงก็กลายเป็นเครื่องมือสร้างผลงานให้หน่วยงาน ช่วยตอกย้ำค้ำจุนอุดมการณ์หลักของชาติ และก็ชี้หน้าชาวบ้านว่าจนเพราะไม่เจียม ให้อยู่อย่างเชื่องๆ ต่อไป


 


ความรุนแรงที่สำคัญในอีกลักษณะหนึ่งมาจากสิ่งที่เรียกว่า "กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น" (Local Powers) มันไม่ได้เป็นอำนาจรัฐที่เป็นทางการโดยตรง แต่เป็นการร่วมมือของคนใหญ่คนโตในท้องถิ่น ที่สมคบกับเจ้าหน้าที่ และแอบอิงอำนาจรัฐหาประโยชน์ทั้งในทางที่ชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และใครที่เข้ามาขวางทางก็จะมีจุดจบอย่างหาคนผิดมารับผิดชอบไม่ได้ ผมอยากจะเอ่ยนามคุณครูประเวียน บุญหนัก คุณเจริญ วัดอักษร ตลอดจนทนายสมชาย นีละไพจิตร และคนอื่นๆอีกมาก คนเหล่านี้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องความเป็นธรรมและต้องสังเวยชีวิตให้อำนาจเถื่อน


 


สถานการณ์ที่กล่าวมานี้เราจะพบได้ทั่วไปในภาคอีสานในรูปแบบแตกต่างกัน ที่ปากมูนชาวบ้านเผชิญหน้ากับศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของ กอ.รมน. หมู่บ้านรอบๆภูพาน หรือพื้นที่สีแดงเก่า เวลาประชุมชาวบ้านจะมีเจ้าหน้าที่มาสอดส่องการประชุม ตามแนวชายแดนเรื่องคนหายก็ยังมีให้ได้ยินบ่อยๆ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ผมเรียกว่าเป็นปฏิบัติการของการสร้างความยินยอมและความกลัว (ด้วยอุดมการณ์ครอบงำและความรุนแรง) ซึ่งในที่สุดก็คือ การทำให้ชาวบ้านไม่มีตัวตนในอีกรูปแบบหนึ่ง


 


ที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าแม้ไม่มี พ.ร.บ.ความมั่นคง การควบคุมด้วยความกลัวก็ทำงานอย่างแข็งขันมีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้ว พ.ร.บ.นี้ก็คงสร้างปัญหาทวีคูณ จากประสบการณ์เรารู้ว่า ที่ใดที่มีอำนาจมาก และไม่มีการตรวจสอบ การใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลก็ยิ่งมาก เชื่อได้เลยว่าการหากินกับทรัพยากร ของเถื่อน ธุรกิจเถื่อน การค้ามนุษย์ หวย บ่อน ซ่อง อาวุธสงคราม หรืองบประมาณหลวงจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ผู้นำชาวบ้านจะต้องสังเวยชีวิตมากขึ้นอีก ชาวบ้านจะต้องปิดปากเงียบไร้ตัวตนมากขึ้นอีก


 


 


ทำไมนักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทต่อสังคมมีน้อย ไม่ค่อยมีใครออกมาพูด ออกมาทำอะไร เพื่อผลักดันสังคมไปในทางที่ดี พวกเขาทำอะไรกันอยู่หรือคิดอะไรกันอยู่


ผมคิดว่าที่จริงก็มีไม่น้อย ถ้าเราไม่จำกัดว่าการมีบทบาทต่อสังคมคือการมาพูดในเวทีสาธารณะ ในเรื่องการบ้านการเมืองโดยตรงเท่านั้น แต่การแสดงออกอาจมีระดับหรือรูปแบบแตกต่างกันไป ในวงวิชาการอาจารย์หลายท่านพยายามที่จะปรับเปลี่ยนกรอบคิดมุมมองและทิศทางการวิจัยให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ด้อยอำนาจมากขึ้น มีงานที่ท้าทาย น่าสนใจไม่น้อย อย่างในกรณีการประชุมไทยศึกษาที่ผ่านมาก็เป็นงานที่คึกคักมาก ผมกลับคิดว่าสังคมไทยต่างหากที่กำลังมีปัญหาอย่างหนัก มันมีกรอบทางจารีตที่คอยเซ็นเซอร์ความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ มันมีกลไกดูดกลืนให้ความคิดที่ท้าทายแหลมคมหายเงียบไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในกรณีไทยศึกษามีการพูดคุยที่ท้าทายความคิดที่สำคัญ แต่แล้วความรู้นั้นได้เผยแพร่ออกมามีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อในสังคมไทยหรือไม่ แทบไม่มีเลย ในมุมของผม อาจไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านที่ไร้ตัวตน แต่คนไทยทั้งหมดก็ไร้ตัวตน และนี้คือปัญหาใหญ่ที่สุดที่เราต้องช่วยกัน


 


หมายเหตุ: ที่มาของภาพประกอบหน้าเว็บ


http://www.flickr.com/photos/pittaya/251401050/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net