ชาตรี ประกิตนนทการ : ความทรงจำ และ อำนาจ บนถนนราชดำเนิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทความทางวิชาการของอาจารย์หนุ่มจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอในงานประชุมทางวิชาการไทยคดีศึกษา ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าด้วยถนนราชดำเนิน ถนนแห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย

  
หมายเหตุ การอภิปรายเรื่อง History of Architecture and Urban Space I เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2551 เวลา 10.00 น. ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมทางวิชาการไทยคดีศึกษา ครั้งที่ 10 (The 10th International Conference on Thai Studies) ซึ่งจัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 9-10 มกราคม 2551 "ชาตรี ประกิตนนทการ" อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำเสนอเรื่อง "ความทรงจำ และอำนาจ บนถนนราชดำเนิน"  ต่อไปนี้คือบทความภาษาไทยฉบับสมบูรณ์
 
 
 
ความทรงจำมิใช่เป็นเพียงแค่การจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเฉยๆ เท่านั้น แต่ความทรงจำคือการจดจำอดีตที่มีพลังในการอธิบายเชื่อมโยงมาสู่การกระทำในปัจจุบันและอนาคต
 
ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ คือการเลือกจดจำอดีตบางอย่างเอาไว้ และลืมอดีตอื่นๆ ที่เราคิดว่าไม่สำคัญหรือไม่อยากจำ  การเลือกจำหรือไม่จำอะไรย่อมขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม  ความทรงจำที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์กับโครงสร้างอำนาจในปัจจุบันพึงถูกเก็บซ่อนหรือคัดทิ้ง ขณะที่ความทรงจำซึ่งหนุนเสริมโครงสร้างอำนาจในปัจจุบันย่อมถูกเลือกมาจดจำ ผลิตซ้ำ และเผยแพร่ให้กลายเป็นความทรงจำร่วมของสังคม
 
อย่างไรก็ตาม ความทรงจำที่ถูกคัดทิ้งในยุคสมัยหนึ่งก็อาจถูกเลือกมาจดจำและผลิตซ้ำในอีกสมัยหนึ่งได้ ในขณะที่ความทรงจำที่เคยถูกจดจำมากในสมัยหนึ่งก็อาจถูกกดทับและลืมเลือนได้เช่นกัน หากความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคมเปลี่ยนแปลงไป เมื่อความทรงจำและอำนาจเป็นเสมือนสองด้านของเหรียญเดียวกันเช่นนี้  พื้นที่แห่งความทรงจำจึงเป็นสนามประลองที่ต้องมีการแย่งชิงต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา  
 
ดังนั้น ในบทความนี้จึงพยายามที่จะศึกษาประเด็นการแย่งชิงความทรงจำทางประวัติศาสตร์และการนิยามความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางสังคมในปริมณฑลอื่นที่นอกเหนือจากตำราประวัติศาสตร์ โดยผู้เขียนสนใจที่จะศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านการต่อสู้แย่งชิงความทรงจำบนพื้นที่ถนนราชดำเนิน
 
ตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ถนนราชดำเนินได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นฉากทางประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทยหลายต่อหลายครั้ง ความทรงจำที่เกิดขึ้น มิได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแต่อย่างใด แต่กลับเต็มไปด้วยความหลากหลายที่ขัดแย้งและไม่ลงรอยกัน แต่ละความทรงจำต่างแย่งชิงการนำ และพยายามเบียดขับความทรงจำอื่นให้พ้นออกไปอยู่ตลอดเวลา
 
หากมองเปรียบเทียบระหว่างถนนราชดำเนินกับตำราประวัติศาสตร์ ในฐานะที่เป็นวัตถุที่บรรจุความทรงจำร่วมของสังคมเอาไว้ การศึกษาความทรงจำในตำราประวัติศาสตร์ จะกระทำผ่านการวิเคราะห์ตีความเรื่อง โครงเรื่องและภาษา ในขณะที่การศึกษาความทรงจำบนพื้นที่สาธารณะเช่นถนนราชดำเนิน จะต้องกระทำผ่านการวิเคราะห์องค์ประกอบทางกายภาพของพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น ตึก อาคาร ถนน ต้นไม้ อนุสาวรีย์ ป้ายโฆษณา ฯลฯ โดยองค์ประกอบเหล่านี้เป็นเสมือนภาษาในอีกแบบหนึ่ง ที่จะขอเรียกว่าเป็น "ภาษาสถาปัตยกรรม"
 
ภาษาสถาปัตยกรรมเหล่านี้มีไวยกรณ์เฉพาะที่สัมพันธ์กับบริบทในแต่ละยุคสมัย  การทำความเข้าใจจะต้องอาศัยการศึกษาและทำความใจในไวยกรณ์ของภาษาดังกล่าวภายใต้บริบทของยุคสมัย ถึงจะสามารถถอดความหมายที่แฝงอยู่ในองค์ประกอบเหล่านั้นออกมาได้
 
ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การแย่งชิง ความทรงจำ และ อำนาจ บนถนนราชดำเนินตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะวนเวียนอยู่แวดล้อมประเด็นปัญหาว่าด้วยโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มอำนาจหลักๆ ในสังคมไทย
 
การต่อสู้แย่งชิงความทรงจำและอำนาจดังกล่าวทิ้งร่องรอยให้ปรากฏเห็นได้อย่างชัดเจนจากองค์ประกอบต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ถนนราชดำเนิน  รายละเอียดทั้งหมดจะอภิปรายและชี้ให้เห็นในหัวข้อต่อๆ ไป
 
จาก ราชดำเนิน สู่ ราษฎรเดินนำ : จุดเริ่มการแย่งชิงความทรงจำและอำนาจ
ถนนราชดำเนินประกอบด้วยถนนสามสายคือ ราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน  ถนนราชดำเนินนอกถูกตัดขึ้นเป็นสายแรกโดยเป็นถนนถมดินปูอิฐ เริ่มตัดในเดือนสิงหาคมปี พ.ศ. 2442 เพื่อใช้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินสู่วังสวนดุสิต  ใช้เวลาตัดสองปี
 
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2444 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนราชดำเนินกลางต่อในทันที  ส่วนถนนราชดำเนินในคงเริ่มสร้างในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน  ถนนสามสายถูกเรียกรวมว่า "ถนนราชดำเนิน" ตลอดแนวถนนพาดผ่านคลองสำคัญสามสายคือ คลองคูเมืองเดิม คลองรอบกรุง และคลองผดุงกรุงเกษฒ รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงโยธาธิการก่อสร้างสะพานสมัยใหม่ด้วยรูปแบบศิลปะตะวันตกขึ้นเพื่อเชื่อมร้อยถนนราชดำเนินทั้งสามให้ต่อเนื่องเป็นสายเดียวกันคือ สะพานผ่านพิภพลีลา ผ่านฟ้าลีลาศ และมัฆวานรังสรรค์
 
ถนนราชดำเนิน คือสัญลักษณ์ที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ "สยามเก่า" คือ พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพื้นที่ "สยามใหม่" คือ พระราชวังดุสิตและวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งเป็นการสะท้อนความเปลี่ยนแปลงอุดมคติทางการเมืองแบบจักรพรรดิราชมาสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ องค์ประกอบที่แวดล้อมถนนราชดำเนิน ไม่ว่าจะเป็นสะพาน พระราชวัง วัง และตำหนัก ที่สร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก คือภาพสะท้อนของพระราชอำนาจสมัยใหม่และศูนย์กลางจักวาลสมัยใหม่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
 
นอกจากนี้ ถนนราชดำเนินยังทำหน้าที่เป็น "ฉากแห่งความศิวิไลซ์" ของสยามที่แสดงต่อนานาอารยประเทศ และเป็นรูปธรรมของสัญลักษณ์ในการนำพาประเทศสยามก้าวเข้าสู่ความเจริญก้าวหน้าแบบสมัยใหม่อย่างชาญฉลาดและทันท่วงที จนสยามรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมไปได้ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้ร่มพระบารมีของรัชกาลที่ 5 กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี โดยมีสัญลักษณ์แห่งความทรงจำที่สำคัญที่สุดคืออนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าและพระที่นั่งอนันตสมาคมที่ปลายสุดของถนนราชดำเนินนอก
 
แต่นัยเชิงสัญลักษณ์นี้จะเริ่มถูกแย่งชิงความหมายไป ภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร
 
คณะราษฎรพยายามสร้างความทรงจำใหม่ว่าด้วยเส้นแบ่งทางประวัติศาสตร์ระหว่าง "สยามเก่า" กับ "สยามใหม่" ขึ้น โดยในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2475 คือยุค "สยามเก่า" ที่ล้าหลัง ในขณะที่ช่วงหลังปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา สยามได้ก้าวเข้าสู่ "สยามใหม่" ที่ทันสมัย ความทรงจำว่าด้วยรัชกาลที่ 5 นำความศิวิไลซ์มาสู่บ้านเมือง ถูกแทนที่ด้วยความทรงจำว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยคือความเจริญก้าวหน้าที่แท้จริงของบ้านเมือง  เส้นแบ่งทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ สถาปัตยกรรม ภาษา วรรณกรรม การแต่งกาย เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรูปแบบที่ตัดขาดจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกือบจะสิ้นเชิง
 
ถนนราชดำเนินกลางคือพื้นที่สำคัญที่ถูกสร้างให้เป็นสัญลักษณ์ของความทรงจำใหม่นี้ ในปี 2480 รัฐบาลคณะราษฎรเริ่มทำการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ถนนราชดำเนินกลางใหม่ทั้งหมด เริ่มจากการตัดต้นมะฮอกกานีที่ปลูกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลง ทำการขยายถนน สร้างอาคารพาณิชย์ โรงแรม ศูนย์การค้า และที่สำคัญที่สุดคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งถูกสร้างขึ้นกลางถนนราชดำเนินกลาง เพื่อเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยสัดส่วนความกว้าง ความสูง ตลอดจนรายละเอียดของการออกแบบอนุสาวรีย์ล้วนถอดออกมาจากตัวเลขที่สัมพันธ์กับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทั้งสิ้น
 
อาคารสองฟากฝั่งถนนราชดำเนินกลางถูกออกแบบด้วย "สถาปัตยกรรมแบบทันสมัย" (ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบสถาปัตยกรรม Modern Architecture ในยุโรป) ที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากสถาปัตยกรรมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสิ้นเชิง รูปแบบสถาปัตยกรรม มีความเรียบง่ายในรูปแบบและองค์ประกอบ ตัดทิ้งซึ่งลวดลายตกแต่งทางสถาปัตยกรรม ตัดขาดจากฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรม สิ่อถึงนัยแห่งความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย ที่ราษฎรเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มิใช่กษัตริย์อีกต่อไป
 
ราชดำเนินในยุคนี้ โดยเฉพาะราชดำเนินกลางได้ถูกแทนที่ความทรงจำแบบเดิมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ซึ่งมีสัญลักษณ์คือสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตกในแบบต่างๆ และอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า) ด้วยความทรงจำใหม่ของคณะราษฎร (ซึ่งมีสัญลักษณ์คือสถาปัตยกรรมแบบทันสมัยและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย)
 
โครงการที่เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนินในยุคนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจเฉพาะระหว่าง "สถาบันกษัตริย์" กับ "รัฐ" (คณะราษฎร) ที่เพิ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา เป็นเพียงการแย่งชิงและต่อรองอำนาจกันระหว่างชนชั้นนำ โดยมิได้กระจายไปสู่ประชาชนในวงกว้างแต่อย่างใด ความสัมพันธ์ของกลุ่มอำนาจสองกลุ่มนี้ดำเนินไปในแบบ โครงสร้างอำนาจในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
 
"สถาบันกษัตริย์" ดำรงสถานะเป็นเพียงสัญลักษณ์ มิได้มีอำนาจใดๆ แม้แต่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่สองฟากฝั่งถนนราชดำเนินกลาง ก็มีสถานะเป็นหน่วยงานราชการ ภายใต้กำกับดูแลของรัฐโดยเด็ดขาด ผ่านกระทรวงการคลัง
 
"สถาบันกษัตริย์" ไม่มีพื้นที่ในการแสดงสัญลักษณ์ความเป็นตัวแทนของตนเองออกสู่สาธารณะได้ พระราชพิธีต่างๆ ถูกยกเลิกไปโดยมาก เช่นพิธีโล้ชิงช้า พิธีแรกนาขวัญ พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งคงเนื่องมาจากในช่วงเวลานี้ กษัตริย์ประทับอยู่นอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่อีกส่วนหนึ่งก็คงปฏิเสธได้ยากถึงโครงสร้างอำนาจทางสังคมในยุคนี้ ที่ไม่เปิดที่ทางมากนักแก่ "สถาบันกษัตริย์" ในขณะที่ "รัฐ" มีความเข้มแข็งมาก สามารถกำหนดนโยบายต่างๆ ได้อย่างอิสระ และควบคุมพื้นที่สาธารณะและควบคุมความทรงจำบนพื้นที่สาธารณะได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังจะเห็นได้จากตัวแบบบนถนนราชดำเนินที่ได้ยกมา
 
การสร้างความทรงจำใหม่ของคณะราษฎรบนถนนราชดำเนินดูจะไม่มีลักษณะหักล้างสัญลักษณ์แห่งความทรงจำในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากนัก เพราะสัญลักษณ์ดูจะแบ่งพื้นที่กันอย่างชัดเจน โดยความทรงจำแบบคณะราษฎรจะปรากฏอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง ส่วนความทรงจำแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะปรากฏอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก
 
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในลักษณะนี้ก็คงอยู่เพียงไม่นานคือ เพียงราว 15 ปีเท่านั้น โดยหลังจากเหตุการณ์สวรรคตอันลึกลับของรัชกาลที่ 8 ในปี พ.ศ. 2489 และหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งทำให้คณะราษฎรถูกเบียดขับตกไปจากเวทีแห่งอำนาจ พร้อมๆ กับการรื้อฟื้นกลับมาของพลังอนุรักษ์นิยมที่ต้องการรื้อฟื้นพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ให้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดได้ส่งผลต่อโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรูปแบบใหม่ และกระทบต่อการสร้างความทรงจำใหม่ๆ บนถนนราชดำเนินด้วย
 
ถนนราชดำเนินกับการแย่งชิงความทรงจำว่าด้วยกำเนิดประชาธิปไตย
เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า หลังปี พ.ศ. 2490 เป้นต้นมา พลังอนุรักษ์นิยมที่แสดงออกในแนวทางการเมืองแบบ "กลุ่มนิยมเจ้า" (Royalist) ได้เริ่มเข้ามามีบทบาททางสังคมและการเมืองมากขึ้น ในขณะเดียวกับที่อุดมการณ์ของคณะราษฎรได้แตกสลายลงไป
 
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้านายทั้งหลายได้รับบรรดาศักดิ์คืนและได้รับอนุญาตให้มีบทบาททางการเมืองได้ ในแง่รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูฐฉบับปี พ.ศ. 2490 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉบับ พ.ศ. 2492 โดยสาระสำคัญ ได้มีการถวายพระราชอำนาจแด่กษัตริย์มากขึ้น กษัตริย์มีพระราชอำนาจในทางการเมือง เช่น การแต่งตั้ง ถอดถอนนายกรับมนตรีและคณะรัฐมนตรี การเลือก การแต่งตั้งวุฒิสภา เป็นต้น   แม้ว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามจะยังสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรับมนตรีได้อีกครั้งก็ตาม แต่ในคราวนี้ จอมพล ป. พิบูลสงครามก็เข้ามาในแบบที่สลัดทิ้งอุดมการณ์คณะราษฎรออกไปจนเกือบสิ้น และต้องประนีประนอมกับกลุ่มนิยมเจ้าเป็นอย่างมาก
 
ภายใต้บรรยากาศแบบนิยมเจ้า ความทรงจำของเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ก็ได้เริ่มถูกรื้อสร้างความหมายใหม่ โดยกลุ่มปัญญาชนนิยมเจ้าหลายคนที่เริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคหลัง 2490 ที่สำคัญได้แก่ ม.ร.ว. เสนีย์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
 
ม.ร.ว. เสนีย์ ได้เริ่มนิยามกำเนิดประชาธิปไตยใหม่ โดยให้คำอธิบายว่าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย  มิใช่เพิ่งมาเริ่มมีในปี 2475 โดยให้ความเห็นว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงคือรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ซึ่งเท่ากับแสดงว่าระบอบประชาธิปไตยมีมาก่อนนานแล้วตั้งแต่ยุคสุโขทัย
 
นอกจากนี้ ม.ร.ว. เสนีย์ ยังเป็นบุคคลแรกๆ ที่เริ่มสร้างความทรงจำว่าด้วยรัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตย เป็นกษัตริย์ที่ริเริ่มจะให้สยามได้ก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และกำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ไทยเป็นประชาธิปไตยมาก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรด้วยซ้ำ  ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของความทรงจำว่าด้วย "การชิงสุกก่อนห่าม" ของคณะราษฎรในเวลาต่อมา
 
การแย่งชิงความทรงจำว่าด้วยกำเนิดรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว ในมิติของความพยายามสร้างความทรงจำบนถนนราชดำเนินได้เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2494 ซึ่งคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ประชุมและลงมติให้ทำการจัดสร้าง อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ขึ้น โดยให้ทำการรื้อป้อมกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยลง และนำอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่มีขนาดใหญ่ 3 เท่าตัวคนไปตั้งแทน โดยคณะกรรมการมีความเห็นว่า พานรัฐธรรมนูญเป็นเพียงสิ่งของเท่านั้น ทำไมจึงไม่นำพระบรมรูปไปตั้งแทนเพราะเหมาะสมกว่าในแง่ที่เป็นการระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
 
เห็นได้ชัดถึงความพยายามในการลบความทรงจำว่าด้วยกำเนิดประชาธิปไตยโดยคณะราษฎรลง และแทนที่ด้วยความทรงจำว่าด้วยกำเนิดประชาธิปไตยโดยการพระราชทานของรัชกาลที่ 7 ลงไปบนพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแทน อย่างไรก็ตาม จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้ว่าจะประนีประนอมกับฝ่ายนิยมเจ้ามากเพียงใด ก็ยังไม่ยอมที่จะให้โครงการดังกล่าวได้สร้างจริง โดยอ้างว่างบประมาณหมด จากนั้นโครงการก็เงียบหายไป
 
ความสำเร็จในแง่วัตถุสัญลักษณ์ของความทรงจำบนถนนราชดำเนินว่าด้วย ประชาธิปไตยอันเกิดจากการพระราชทานนั้นจะมาเกิดขึ้นจริงภายหลัง แต่มิได้เกิดขึ้นบนพื้นที่ถนนราชดำเนินโดยตรง โดยในปี พ.ศ. 2517 มีการสร้างอาคารรัฐสภาบนถนนอู่ทองใน ปลายสุดของถนนราชดำเนินนอก ทางด้านเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้มีการตั้งอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ขึ้นไว้หน้าอาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นนัยที่แสดงถึงความทรงจำว่าด้วยกษัตริย์ประชาธิปไตยได้อย่างชัดเจนยิ่ง
 
การสร้างความทรงจำของสถาบันกษตริย์บนถนนราชดำเนินและพื้นที่ต่อเนื่อง
นอกจากอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 แล้ว บนพื้นที่หน้าอาคารกระทรวงยุติธรรมที่สร้างขึ้นโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2482 เพื่อเป็นอาคารที่ระลึกในการที่ประเทศไทยได้รับเอกราชสมบูรณ์ (เอกราชทางการศาล) ก็มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ขึ้นใน พ.ศ. 2507 ภายใต้ความทรงจำ "พระบิดาแห่งการศาล" ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์แห่งความทรงจำชุด "พระบิดา" ในสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ชุดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นนับตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา อันเป็นปรากฏการณ์หนึ่งในหลายๆ ประการของกระแส "นิยมเจ้า" ที่เพิ่มสูงขึ้นในยุคนั้น อนุสาวรีย์ชุดดังกล่าวได้สร้างอำนาจและพลังในการอธิบายที่สำคัญยิ่งต่อสังคมไทยในปัจจุบัน เป็นพลังแห่งความทรงจำใหม่ที่อธิบายความเจริญก้าวหน้าในทุกศาสตร์สาขาวิชาชีพภายใต้ร่มพระอัจฉริยภาพของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ต่างๆ
 
ในพื้นที่สองฟากฝั่งถนนราชดำเนินนอก ยุคหลัง พ.ศ. 2490 ได้เกิดการสร้างอาคารที่ทำการกระทรวง ตลอดจนอาคารราชการอื่นๆ อีกหลายหลังขึ้น อาทิเช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2499 กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2497 (สนามเสือป่า) ศาลาสันติธรรม พ.ศ. 2496 (เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ - ปัจจุบันรื้อลงแล้ว) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นต้น
 
กลุ่มอาคารเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นด้วยรูปแบบ "สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์" ภายใต้นโยบายชาตินิยมทางวัฒนธรรมของจอมพล ป. พิบูลสงครามในยุคหลังปี พ.ศ. 2490 ซึ่งกระแสความคิดได้หวนทวนย้อนกลับมาสู่แนวทางที่เป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น สอดคล้องเป็นอย่างดีกับแนวคิดของ "กลุ่มนิยมเจ้า" ที่สร้างความทรงจำว่าด้วย "ความเป็นไทย" ที่ต้องยึดโยงสัมพันธ์กับความเป็นไทยแบบจารีตโบราณอย่างแนบแน่น มิใช่ความเป็นไทยใหม่แบบที่ยุคคณะราษฎรเคยกระทำไว้ให้แก่สถาปัตยกรรมสองฟากฝั่งถนนราชดำเนินกลางในทศวรรษที่ 2480

ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพทั้งหมดบนถนนราชดำเนินในทศวรรษที่ 2490 นี้ เป็นภาพสะท้อนของการรื้อฟื้นพระราชอำนาจของ
"สถาบันกษัตริย์" ในสังคมไทย ที่แสดงออกผ่านโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนิน ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรบนถนนราชดำเนินแทบจะเลือนหายไปหมดสิ้น
 
รูปธรรมที่ที่สำคัญอีกประการที่แสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจของ "สถาบันกษัตริย์" ที่เพิ่มขึ้นคือ การถือกำเนิดขึ้นของ "โครงการพระราชดำริ" ที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2494 ในขณะที่อำนาจของ "รัฐ" กลับมีทิศทางที่สวนกัน คืออำนาจเริ่มจะลดน้อยลง กรณีตัวอย่างบนถนนราชดำเนินที่สะท้อนโครงสร้างความสัมพันธ์นี้ได้ดีคือ การออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. 2491 ที่ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กลายสถานะเป็นองค์กรอิสระอยู่นอกเหนือรัฐ การดูแลบริหารจัดการเกิดขึ้นจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยตรงจากกษัตริย์ ซึ่งผลจากพระราชบัญญัตินี้ได้ทำให้พื้นที่สองฟากฝั่งถนนราชดำเนินในหลายๆ ส่วนกลายมาอยู่ภายใต้องค์กรในพระราชอำนาจโดยตรง
 
หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในปี พ.ศ. 2500 และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2502 จนข้ามมาถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2516 ในช่วงระยะเวลาราว 15 ปีนี้ ถือได้ว่าอำนาจ "รัฐ" ได้ตกมาอยู่ในกลุ่มทหาร รัฐไทยมีลักษณะเผด็จการที่ขาดความชอบธรรม แต่ได้อาศัยอ้างอิงความชอบธรรมด้วยการแสดงบทบาทสนับสนุนการรื้อฟื้นพระราชอำนาจของ "สถาบันกษัตริย์" ให้เพิ่มสูงขึ้น สถาบันกษัตริย์ได้เริ่มกลายมาเป็นแกนกลางแห่งความเป็นชาติไทย เริ่มกลายเป็นสถาบันหลักที่สำคัญที่สุดแห่งความเป็นชาติ
 
ในยุคนี้พื้นที่สาธารณะต่างๆ จะถูกจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ที่แวดล้อมและเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้น  อำนาจ "รัฐ" แม้ว่าจะเข้มแข็งแต่ต้องอิงอาศัยกับพระราชอำนาจเป็นสำคัญ มีการรื้อฟื้นพระราชพิธีต่างๆ ที่ถูกยกเลิกไปในปี 2475 ให้กลับมามีบทบาทและที่ทางในสังคมอีกครั้ง
 
นอกจากรื้อฟื้นพระราชพิธีเก่าแล้ว ยังมีการสร้างพระราชพิธีใหม่ด้วย ที่สำคัญในช่วงเวลานี้คือ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 3 รอบ ในปี พ.ศ. 2506 ซึ่งเป็นพระราชพิธีพิเศษเฉพาะในรัชกาลปัจจุบัน มีการสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติและประดับประดาไฟตามถนนหนทาง โดยเฉพาะถนนราชดำเนิน  ที่สำคัญคือมีการรื้อฟื้นการเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ซึ่งที่ผ่านมาจะกระทำเฉพาะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น  แต่เนื่องจากในรัชกาลปัจจุบันมิได้ทรงกระทำเมื่อคราวบรมราชาภิเษก รัฐบาลจึงจัดให้มีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น "ประเพณีประดิษฐ์ใหม่" เฉพาะในรัชกาล
 
กระบวนเสด็จในการเสด็จเลียบพระนครยาตราออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปตามถนนหน้าพระลาน เข้าถนนราชดำเนิน ถนนพระสุเมรุ ไปยังวัดบวรนิเวศ ประกอบพิธีในพระอุโบสถ เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับยังพระบรมมหาราชวัง
 
พระราชพิธีดังกล่าว เป็นสัญลักษณ์สำคัญอีกครั้งในการสร้างความทรงจำร่วมทางสังคมที่ "สถาบันกษัตริย์" ได้เริ่มก้าวเข้ามาเป็นศูนย์กลางจิตใจของคนไทยทั้งชาติอย่างจริงจัง โดยมีฉากที่สำคัญคือถนนราชดำเนิน
 
การแบ่งส่วนความทรงจำของคนชั้นกลางบนถนนราชดำเนิน
ผลกระทบที่สำคัญอีกด้านของสมัยเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ที่สืบเนื่องมายังสมัยจอมพลถนอมคือ สังคมไทยได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในทางเศรษฐกิจ เกิดสภาพัฒนาเศรษฐกิจฯ เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศมากมาย เกิดมหาวิทยาลัยในภูมิภาคขึ้นหลายแห่ง เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมภายใต้การกำกับของรัฐ ฯลฯ
 
ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิด "กลุ่มคนชั้นกลางใหม่" ในปริมาณที่สูงขึ้น คนชั้นกลางใหม่เหล่านี้เริ่มไม่พอใจต่อรัฐบาลเผด็จการทหารที่รวบอำนาจเอาไว้แต่เพียงกลุ่มเดียว กลุ่มคนชั้นกลางใหม่เหล่านี้ โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงสร้างอำนาจมากขึ้น ต้องการการปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตย ต้องการรัฐธรรมนูญ
 
ความไม่พอใจต่อระบบเผด็จการทหารได้ขยายตัวจนนำไปสู่การรวมพลังกันเป็นมหาชนขนาดใหญ่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งอาจถือว่าเป็นปฏิวัติของคนชั้นกลางใหม่ เพื่อขับไล่เผด็จการทหารที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน
 
ผลกระทบสืบเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คือการก้าวเข้ามามีส่วนแบ่งในโครงสร้างอำนาจของกลุ่มชนชั้นกลางใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ และจากการที่ถนนราชดำเนินได้กลายเป็นเวทีในการแสดงพลังที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมครั้งสำคัญของกลุ่มคนชั้นกลางใหม่เหล่านี้ ได้ทำให้ถนนราชดำเนินถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ต่อรอง และเรียกร้องความต้องการต่างๆ ของกลุ่มคนชั้นกลางใหม่ ในความหมายของการเป็น "ถนนประชาธิปไตย"
 
นอกจากนั้น ภาพมหาชนที่คราคร่ำเต็มถนนราชดำเนินและรายล้อมอยู่โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ทำให้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ก่อนหน้านี้มีความเป็นประชาธิปไตยแต่เพียงชื่อ ได้กลายความหมายมาเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
 
ด้วยเหตุนี้ ถนนราชดำเนินหลัง 14 ตุลาฯ จึงมิได้บรรจุเพียงความทรงจำที่สะท้อนอำนาจเฉพาะของ "สถาบันกษัตริย์" และ "รัฐ" เพียงเท่านั้น แต่ได้เพิ่มความทรงจำว่าด้วยการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของประชาชน (คนชั้นกลาง) เอาไว้ด้วย การผลักดันของพลังนักศึกษาปัญญาชนให้ทำการก่อสร้าง "อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา" ในปี พ.ศ. 2517 คือสิ่งที่ยืนยันถึงอำนาจของคนชั้นกลางที่อยากจะขอร่วมแบ่งพื้นที่แห่งความทรงจำบนถนนราชดำเนินแห่งนี้
 
แต่ภายหลังจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ทารุณโหดร้ายอย่างยิ่งกลางท้องสนามหลวงและในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ก็ได้ทำให้เกิดรอยแยกทางความทรงจำที่ยังไม่อาจหาจุดบรรจบได้ระหว่างสถาบันกษัตริย์ รัฐ และ นักศึกษาปัญญาชน (ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของคนชั้นกลางในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ) จนส่งผลทำให้โครงการอนุสรณ์สถานฯ ถูกระงับไป
 
โครงการก่อสร้าง "อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา" จะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่อย่างจริงจังอีกครั้ง หลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ในปี พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คนชั้นกลางได้แสดงพลังเพื่อต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนิน  หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว กระแสเรียกร้องเพื่อที่จะให้มีการบรรจุความทรงจำของเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬลงไปบนถนนราชดำเนินก็เพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ ในที่สุด "อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา" ก็ทำก่อสร้างแล้วเสร็จ บนพื้นที่หัวมุมของสี่แยกคอกวัว ริมถนนราชดำเนินกลาง ได้มีการทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2544
 
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่การออกแบบสถาปัตยกรรมแล้ว คงต้องกล่าวว่า อนุสรณ์สถานแห่งนี้ออกแบบโดยยังไม่สามารถที่จะบรรจุความทรงจำที่แสดงออกถึงพลังของมหาชนที่ร่วมต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยได้ดีเพียงพอ  ส่วนที่เป็นจุดเน้นสำคัญที่สุดของอนุสรณ์สถานคือสถูปวีรชน ซึ่งแสดงถึงนัยของการระลึกถึงต่อผู้เสียชีวิตในรูปแบบของสถูปเจดีย์ แน่นอนว่าเป็นการให้เกียรติต่อวีรชนที่เสียชีวิตไป แต่ข้อด้อยที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนของการเลือกใช้สัญลักษณ์สถูปเจดีย์คือ การหายไปของพลังมวลชนอันยิ่งใหญ่หลายแสนคนที่มารวมตัวกันบนถนนราชดำเนิน ด้วยเป้าหมายในการต่อต้านอำนาจเผด็จการทหาร เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาชาธิปไตย เพราะสถูปเจดีย์ด้วยสัญลักษณ์ของตัวมันเองที่อิงอยู่กับคติทางพุทธศาสนา ทำให้เมื่อเรามองดูสถูปเจดีย์จึงมักจะเกิดความรู้สึกไปในทางสงบนิ่งและปล่อยว่าง มากกว่าที่จะรู้สึกถึงพลังอันเร่าร้อนและรุนแรงของมหาชนที่ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับเผด็จการ
 
แม้ว่าคนชั้นกลางจะสามารถพลักดันให้เกิดกระแสสังคมในการบรรจุความทรงจำของตนเองลงบนถนนราชดำเนินได้ และสามารถสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นกลางได้มากขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา แต่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ ก็ได้ละเลยในการบรรจุความทรงจำที่สำคัญที่สุดลงไปคือ พลังอันยิ่งใหญ่ของมหาชนและจิตสำนึกประชาธิปไตยที่เร่าร้อนของคนรุ่นหนุ่มสาวบนถนนราชดำเนินในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
 
สาเหตุประการหนึ่ง (ที่สำคัญที่สุดในทัศนะผู้เขียน) ซึ่งทำให้ความทรงจำที่สำคัญนี้หายไปจาก "อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา" คือ ชัยชนะของมวลชนในเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้รับการอธิบายภายใต้ความทรงจำอีกชุดหนึ่ง ที่ดูเสมือนว่ากำลังแย่งชิงความทรงจำหลักของเหตุการณ์ 14 ตุลา ไปแล้วคือ ความทรงจำเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในการยุติการนองเลือดในเหตุการณ์ 14 ตุลา
           
ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย: ชัยชนะของสถาบันกษัตริย์บนถนนราชดำเนิน
สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดต่อกระบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนชั้นกลางใหม่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 คือในการต่อสู้กับเผด็จการทหารที่ยึดครองอำนาจรัฐ กลุ่มคนชั้นกลางใหม่เหล่านี้กลับเลือกใช้สัญลักษณ์ของ "สถาบันกษัตริย์" มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งทำให้ไม่เพียงแต่รัฐบาลเผด็จการทหารเท่านั้นที่อาศัยอ้างอิงความชอบธรรมจาก "สถาบันกษัตริย์" แต่ขบวนการนักศึกษาปัญญาชนคนชั้นกลางที่เรียกร้องประชาธิปไตยก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันในการยก "สถาบันกษัตริย์" ให้สูงเด่นมากยิ่งขึ้น
 
การยกพระราชดำรัสเฉพาะบางตอนในกรณีสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านเผด็จการทหาร การหวังพึ่งพระบารมีโดยนำพระบรมฉายาลักษณ์มาเป็นสัญลักษณ์นำในการต่อสู้ จนมาถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ในตอนหัวค่ำของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เพื่อให้ทุกฝ่ายระงับความรุนแรง และทรงแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
 
เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นความทรงจำกระแสหลักอันหนึ่งที่ในบางมุมก็เสมือนว่าสอดคล้องและหนุนเสริมกับความทรงจำว่าด้วยพลังมวลชนต่อสู้เผด็จการ แต่ในอีกแง่หนึ่งความทรงจำนี้ก็กลับแย่งชิงอำนาจนำในการอธิบายเหตุการณ์ 14 ตุลา ให้หลุดออกจากมือของประชาชนไปด้วยในเวลาเดียวกัน
 
การแย่งชิงความทรงจำในลักษณะดังกล่าว ในทัศนะผู้เขียนเห็นว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ไม่สามารถแสดงความทรงจำของพลังมวลชนออกมาได้อย่างชัดเจน
 
"สถาบันกษัตริย์" ในบริบทสังคมนี้ แม้ในทางทฤษฎีจะเป็นกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ด้วยบทบาทในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่ผนวกเข้ากับโครงการพระราชดำริที่เข้าไปแก้ไขปัญหาแบบโดยตรงกับประชาชน ก็ทำให้ "สถาบันกษัตริย์" มีพระราชอำนาจมากกว่าที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมากนัก
 
ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า คุณูปการที่สำคัญของปัญญาชนคนชั้นกลางในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 คือการสร้างวาทกรรมพระราชอำนาจนำให้เกิดขึ้นแก่สถาบันกษัตริย์ โดยเรียกว่าเป็นวาทกรรม "ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย" อันเกิดขึ้นจากการผสมระหว่างวาทกรรม "ราชาชาตินิยม" กับวาทกรรม "กษัตริย์ประชาธิปไตย"
 
วาทกรรมราชาชาตินิยม คือความทรงจำว่าด้วยพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 5 ในการรักษาเอกราชของสยามไว้ได้จากการคุกคามของมหาอำนาจยุโรป พร้อมๆ ไปกับการนำพาประเทศไปสู่ความศิวิไลซ์ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ส่วนวาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตยก็คือ ความทรงจำที่ว่าด้วยประชาธิปไตยมิได้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 แต่เกิดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว และจุดเน้นหลักคือความเป็นนักประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่คนไทย ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในช่วงก่อนนี้
 
ความสุกงอมของความทรงจำว่าด้วยกษัตริย์ประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้แสดงออกมาให้เห็นผ่านการปรากฏขึ้นของอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 หน้าอาคารรัฐสภาที่สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2517 อันเป็นการฝังรากทางความคิดว่าด้วยกำเนิดประชาธิปไตยโดยการพระราชทานของพระองค์ (มิใช่มาจากคณะราษฎร) ได้อย่างมั่นคงยิ่ง จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน
 
การปรากฏตัวขึ้นของคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2521 เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลทิศทางการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นรูปธรรมที่แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อการสร้างและตอกย้ำความทรงจำที่มีศูนย์กลางคือสถาบันกษตริย์
 
หากพิจารณาแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ จะพบว่ามีเป้าหมายหลักๆ คือ การเปิดมุมมองต่อโบราณสถานสำคัญระดับชาติ (ซึ่งส่วนใหญ่คือ วัด วัง สถานที่ราชการ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5) การเปิดพื้นที่สีเขียว (ทำสวนสาธารณะ) และลดความแออัดภายในพื้นที่ลงด้วยการย้ายสถานที่ราชการออก
 
ภาพสะท้อนของแนวคิดนี้ถูกถ่ายทอดให้เห็นชัดที่สุดในแผนการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานภายในกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อคราวฉลองกรุงครบรอบ 200 ปีในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งประกอบด้วยการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์โบราณสถาน 9 โครงการ การรื้อฟื้นโบราณสถาน 2 โครงการ และอีกหลายโครงการย่อยทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระราชวัง วัด และโบราณสถานสำคัญที่เป็นมรดกแบบ "วัฒนธรรมชั้นสูง" เกือบทั้งหมด
 
การรื้อโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยในปี พ.ศ. 2532 เพื่อเปิดมุมมองต่อโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม และการสร้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ขึ้นมาแทน เป็นหมุดหมายสำคัญอีกชิ้นที่แสดงให้เห็นพระราชอำนาจและความทรงจำแบบราชาชาตินิยมบนถนนราชดำเนิน ซึ่งกำลังเบียดขับความทรงจำของคณะราษฎร (สัญลักษณ์คือโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยที่ถูกรื้อไป) ที่เหลือเพียงน้อยนิดให้ยิ่งตกพ้นเวทีแห่งความทรงจำของสังคมออกไปทุกทีๆ
 
การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในตึกกรมโยธาธิการเดิม บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ใน พ.ศ. 2544 เป็นสัญลักษณ์ของการตอกย้ำวาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตยของรัชกาลที 7 อีกครั้งลงบนพื้นที่ถนนราชดำเนินกลาง
 
สิ่งที่น่าสังเกตที่สุดที่ปรากฏขึ้นอย่างมากและถี่ขึ้นทุกทีบนถนนราชดำเนินคือ การก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวาระโอกาสต่างๆ
 
ธรรมเนียมการสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติอย่างเป็นกิจลักษณะนั้น อาจกล่าวได้ว่าเริ่มขึ้นมาจากการสร้างซุ้มรับเสด็จในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อคราวรับเสด็จกลับจากสิงค์โปร์ปี พ.ศ. 2439 ในครั้งนั้น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างจัดตกแต่งซุ้มรับเสด็จหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  แต่ครั้งที่สำคัญและยิ่งใหญ่มากที่สุดคือ การสร้างซุ้มรับเสด็จรัชกาลที่ 5 จากการเสด็จเยือนยุโรปครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2450
 
ซุ้มรับเสด็จเฉพาะที่เป็นซุ้มหลักในคราวนั้นมีทั้งหมด 10 ซุ้ม ตั้งวางไว้ตลอดแนวถนนราชดำเนิน โดยแต่ละซุ้มจะรับผิดชอบโดยกระทรวงต่าง เช่น ซุ้มกระทรวงยุติธรรมที่ถนนราชดำเนินกลางถัดจากสี่แยกถนนดินสอ  ซุ้มกระทรวงนครบาลเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ  ซุ้มกระทรวงธรรมการบริเวณสี่แยกถนนจักรพรรดิ  ซุ้มกระทรวงเกษตราธิการบริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นต้น
 
การสร้างซุ้มรับเสด็จในครั้งนั้นได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญต่อการสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติในรัชกาลปัจจุบัน เช่นในคราวพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2539  และในคราวพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในปี พ.ศ. 2549
 
ซุ้มเฉลิมพระเกียรติเหล่านี้ปรากฏอยู่ในทุกมุมของถนนราชดำเนิน และยังปรากฏอยู่ทั่วไปในบริเวณเกี่ยวเนื่อง  ซุ้มเหล่านี้คือสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจที่แผ่กระจายครอบคลุมไปทั่วถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่แผ่ไปทั่วประเทศไทย ณ ปัจจุบันด้วยเช่นกัน
 
พระราชอำนาจบนถนนราชดำเนิน: สัญลักษณ์และความหมาย
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า พระราชอำนาจของ "สถาบันกษัตริย์" ที่แสดงออกมา จะมีสถานะเช่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงเป็นดั่งสมมติเทพที่ทรงคุณธรรมและจริยธรรม ด้วยสถานภาพดังกล่าวนี้เอง ที่พระองค์จะทรงคอยทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจที่ฉ้อฉลของนักการเมืองและระบอบการเมืองที่คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า เต็มไปด้วยความไม่ซื่อสัตย์ คอรัปชั่น และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว พระองค์จะทรงทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยแบบใสสะอาด มีจริยธรรม และคุณธรรม โดยพระองค์จะสถิตอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง
 
ภาพลักษณ์ของพระราชอำนาจในลักษณ์เช่นนี้ ได้รับการตอกย้ำและผลิตซ้ำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในพื้นที่สาธารณะต่างๆ โดยแสดงออกมาในรูปปรำปราคติแบบจารีตของสังคมไทย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือแนวคิดในการก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติในคราวพระราชพิธีกาญจนาภิเษก
 
ในครั้งนั้นคณะผู้จัดสร้างได้กำหนดให้มีการก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติหลัก 7 ซุ้ม โดยมีแนวคิดในการออกแบบที่อิงมาจากคติความเชื่อเรื่อง "จักรพรรดิราช" ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา จักรพรรดิราชในทางพุทธศาสนานั้นคือพระมหากษัตริย์ที่ทรงคุณธรรม อันประกอบด้วยทศพิธราชธรรมเป็นหลัก เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใดได้รับการยกย่องให้เป็นพระจักรพรรดิราชก็จะปรากฏ "แก้ว 7 ประการ" ขึ้นประกอบพระบารมี "แก้ว 7 ประการ" นั้นประกอบไปด้วย จักรรัตนะ (จักรแก้ว) หัตถีรัตนะ (ช้างแก้ว) อัศวรัตนะ (ม้าแก้ว) มณีรัตนะ (มณีแก้ว) อิตถีรัตนะ (นางแก้ว) คหปติรัตนะ (ขุนคลังแก้ว) และสุดท้ายคือ ปริณายกรัตนะ (ขุนพลแก้ว)
 
จะเห็นได้ว่า ภาพลักษณ์ของพระราชอำนาจที่ปรากฏในความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทย ได้ถูกสื่อความใหม่ผ่านคติเก่าได้อย่างลงตัวและแนบเนียนยิ่ง ฉะนั้นจึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เหตุใดหากเปรียบเทียบกับซุ้มรับเสด็จรัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จกลับจากยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2450 นั้น  ซุ้มเฉลิมพระเกียรติในยุคปัจจุบันจึงดู "ย้อนยุค" มาก และหันกลับไปใช้คติโบราณ ที่แม้แต่รัชกาลที่ 5 เองก็ยังไม่ได้ทรงใช้อีกต่อไปแล้ว
 
ซุ้มรับเสด็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนใหญ่เป็นซุ้มแบบทันสมัยด้วยรูปทรงสถาปัตยกรรมยุโรป  บางซุ้มถูกสร้างขึ้นด้วยรูปแบบที่ล้ำสมัยอย่างไม่น่าเชื่อ  นั่นก็เป็นเพราะว่าการจัดวางพระราชอำนาจระหว่างรัชกาลที่ 5 กับรัชกาลปัจจุบันมีลักษณะที่แตกต่างกัน
 
รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กำลังนำพาประเทศก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ที่มีสังคมยุโรปเป็นแบบจำลอง ภายใต้บริบทดังกล่าว คติจารีตแบบโบราณถูกมองด้วยสายตาดูแคลน เป็นของล้าหลังไร้อารยะ  โลกใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีต้นแบบคือความเจริญสมัยใหม่แบบยุโรป
 
ในขณะที่ปัจจุบัน แม้ว่าโลกจะก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นกว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างเทียบกันไม่ได้  ทั้งๆที่สถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยปัจจุบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การบริหารราชการแผ่นดินกระทำผ่านองค์กรของรัฐที่มีที่มาจากอำนาจของประชาชนทุกคนในสังคมไทยผ่านกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
 
แต่สถาบันกษัตริย์กลับจัดวางพระราชอำนาจให้สัมพันธ์กับคติธรรมราชาและจักรพรรดิราช โดยเน้นอำนาจศักดิ์สิทธิ์และพระบารมีตามคติแบบโบราณแทน นอกจากซุ้มเฉลิมพระเกียรติแล้ว สิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นก็จะเลือกใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจารีตโบราณมาเป็นแนวทางหลักในการออกแบบ  ตัวอย่างล่าสุดคือ โครงการก่อสร้างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่ บริเวณสนามหลวง ที่อยู่ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยจะทำการรื้ออาคารศาลเก่าที่เป็นตัวแทนความทรงจำของยุคคณะราษฎรออกไป และสร้างอาคารที่เป็นตัวแทนความทรงจำใหม่ลงไปแทน โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ถูกเลือกมาใช้คือ "รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์" รูปทรงอาคารประหนึ่งว่าจะสร้างให้อาคารศาลแห่งนี้เป็นดั่งวิมาน ตัวอาคารจะเต็มไปด้วยลวดลายและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบจารีตในอดีต ซึ่งเป็นการย้อนยุคสมัยทางสถาปัตยกรรมเป็นอย่างยิ่ง
 
ราชดำเนิน: การเดินทางเพื่อกลับไปที่เดิม?
ความสำคัญของภาพลักษณ์กษัตริย์ในแบบจารีตคือการมีพระราชอำนาจอันจำกัด แต่มีพระบารมีอันไพศาล  ความรู้สึกของราษฎรต่อกษัตริย์ในอุดมคตินี้ จะมีลักษณะน่าเคารพ ยำเกรง หรือออกไปทางเกรงกลัว  กษัตริย์แบบนี้จะมีความยิ่งใหญ่ เปรียบเสมือนเทวดา อยู่เหนือพ้นสภาพจากราษฎรทั่วไป นี่เป็นแบบจำลองโครงสร้างอำนาจของกษัตริย์ที่ปรากฏอยู่ในโครงร่างรัฐธรรมนูญที่รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานแก่ราษฎรในงานฉลองพระนครครบ 150 ปี ซึ่งได้ยกกษัตริย์ออกจากการบริหารราชการแผ่นดินทางตรง โดยมีนายกรัฐมนตรีและองค์กรอื่นๆ มารับภาระนี้แทน อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาให้ดีก็จะพบว่า กษัตริย์ก็ยังคงอยู่เบื้องหลังและกุมอำนาจขั้นสุดท้ายไว้อยู่นั่นเอง เป็นแต่เพียงมีองค์กรอื่นขึ้นมาออกหน้ารับผิดชอบแทนเท่านั้น
 
ในการเดียวกันนี้ รัชกาลที่ 7 ทรงพยายามนำเสนอภาพลักษณ์และบทบาทใหม่ของสถาบันกษัตริย์ในมิติของพระราชกฤษฎาภินิหารและพระบรมเดชานุภาพตามอุดมคติแบบจารีตของสยาม (จักรพรรดิราช) ที่เน้นบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ ให้หวนกลับมามีความหมายขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยเข้ามาแทนที่ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเพิ่งถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5
 
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิเคราะห์อนุสาวรีย์ปฐมบรมราชานุสรณ์เชิงสะพานพุทธ (รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริให้สร้างไว้) อย่างน่าคิดว่าภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ที่ปรากฏในปฐมบรมราชานุสรณ์นั้นเน้นพระเกียรติแบบจารีต เป็นกษัตริย์ที่เน้นอำนาจบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่รัชกาลที่ 7 ทรงพยายามนำเสนอขึ้นใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างอำนาจในรัฐธรรมนูญฉบับพระราชทาน
 
โครงสร้างอำนาจแบบที่รัชกาลที่ 7 พยายามจะสถาปนาเมื่อ 75 ปีที่ผ่านมานั้น มีความสอดคล้องกันกับโครงสร้างอำนาจที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน
 
หากเราลองเดินไปตามเส้นทางถนนราชดำเนิน เริ่มตั้งแต่ราชดำเนินในจนไปสุดที่ปลายทาง คือถนนราชดำเนินนอก โดยเดินไปพร้อมๆ กับการมองหาความทรงจำและอำนาจที่แฝงเร้นอยู่ในองค์ประกอบสองข้างของถนน  เมื่อเราเดินไปจนสุดถนน เราอาจจะพบความจริงว่า ตลอดระยะเวลา 75 ปีที่ผ่านมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สังคมไทยกำลังเดินทางเพื่อ "กลับไปสู่ที่เดิม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท