ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร : ความไร้สาระของ "การสมานฉันท์" และความหมายที่แท้ของ "การเมือง"

หมายเหตุ เรียงเรียงจากการนำเสนอบทความเรื่อง "การเมืองกับความเป็นการเมือง" (Politics and the Political) ของ รศ.ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ครั้งที่ 8 (พ.ศ.2550) "การเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน" ที่ไบเทค-บางนา เมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคม 2550

 

ไชยรัตน์เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า ในทางทฤษฎีมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแยกแยะสิ่งที่เรียกว่า "การเมือง" (politics) กับ "ความเป็นการเมือง" (the political) ออกจากกัน ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ

 

ประการที่หนึ่ง คำว่า "การเมือง" มีความสลับซับซ้อน และแตกต่างหลากหลายจนหาข้อยุติไม่ได้ ขึ้นกับว่า ใครใช้ และใช้ในความหมายใด โดยทั้งหมดเข้าใจร่วมกันเพียงบางส่วน และโต้เถียงกันอย่างมากในส่วนที่เหลือ นอกจากนี้การเข้าใจคำว่า "การเมือง" ยังต้องเข้าใจคำอื่นๆ ในชุดเดียวกันที่ประกอบกันเป็นความหมายของคำว่า "การเมือง" เช่น การจะเข้าใจคำว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องเข้าใจความหมาย ของคำว่า การตัดสินใจ การมีส่วนร่วม เสรีภาพ ความเสมอภาค นโยบาย ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การปกครองโดยกฎหมาย ผลประโยชน์ ฯลฯ

 

ประการที่สอง  ความหมายของคำว่า "การเมือง" ในการรับรู้ของสาธารณชนทั่วไปนั้นเป็นไปในทางลบ  ถูกผูกโยงกับสิ่งไม่ดี เป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง และสาขาวิชารัฐศาสตร์เองก็ศึกษา "การเมือง" ในระดับแคบและยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ด้านลบ ที่สำคัญ ยังแยกการเมืองออกจากชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม ให้การเมืองเป็นเรื่องเชิงสถาบันการเมือง-การปกครอง เช่น รัฐสภา พรรคการเมือง กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฯ นิยามของการเมืองก็เป็นเพียงการจัดสรรอำนาจ และใช้อำนาจเพื่อจัดแบ่งทรัพยากร นิยามการเมืองเช่นนี้เป็นการเมืองในแบบโครงสร้าง-หน้าที่ ส่งผลให้ความหมายของ "การเมือง" มีลักษณะอนุรักษ์นิยมสูง และเก็บกดปิดกั้นไปพร้อมกัน เน้นการสร้างความสมานฉันท์ ความเห็นพ้องต้องกันเพื่อจัดสรรสิ่งของมีค่าในสังคม ในแง่นี้ "การเมือง" จึงเป็นเพียงการปกครองและบริหารจัดการเท่านั้น

 

 

ประการที่สาม ปัจจุบัน "การเมือง" ยังถูกทำให้เป็นเรื่องเทคนิคกลไก กลายเป็นกิจกรรมของ "นักการเมือง" และ "ผู้นำทางการเมือง" กลุ่มเล็กๆ การเมืองสมัยใหม่ทั่วโลกถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของนักปฏิบัติ ตามแบบลัทธิปฏิบัตินิยม (pragmatism) ไม่ใช่เรื่อง หลักคิด อุดมการณ์ อุดมคติ อีกต่อไป ลัทธิปฏิบัตินิยมเป็นปรัชญาแขนงหนึ่งที่พัฒนาโดย ชาร์ล เอส เพอร์ช (Charles S. Peirce) กับ วิลเลี่ยม เจมส์ (William James) เน้นมองโลกจากข้อเท็จจริงดังตัวอย่างความสำเร็จทางการเมืองของพรรคแรงงานในอังกฤษ นำโดย โทนี่ แบลร์ (Tony Blair) ที่สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์จากพรรคเดิมที่ยึดติดอุดมการณ์สังคมนิยมให้มาเป็นพรรค "แรงงานใหม่" ที่ไม่ใช่ทั้งซ้ายและขวา แต่เป็นตรงกลางที่วิพากษ์ ขณะเดียวกัน "แรงงานใหม่" ก็คือลัทธิเสรีนิยมที่สนับสนุนโลกาภิวัตน์ 

 

ประการที่สี่ โลกยุคโลกาภิวัตน์/ยุคหลังสงครามเย็น เกิด "สามัญสำนึกร่วม" ชุดใหม่ว่า โลกได้พัฒนามาถึงจุดที่ไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองอีกต่อไป โลกกลายเป็นหนึ่งเดียว มีการปกครองแบบประชาธิปไตย โลกเสรีมีชัยชนะเหนือโลกคอมมิวนิสต์ เอกลักษณ์ทางการเมืองแบบแบ่งขวา-ซ้ายหมดความสำคัญ ไม่มีศัตรูร่วมที่ต้องต่อสู้อีกต่อไป ความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องของอดีต และปัจจุบันคือความสมานฉันท์

 

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้หมดสิ้นไปในโลกยุคหลังสงครามเย็น แต่เปลี่ยนรูปไปจากเดิม เดิมอาจจะเป็นความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง ซ้าย กับ ขวา  ปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างถูก-ผิด หรือ ดี-เลว พูดอีกทีก็คือ ปัจจุบันมีความพยายามยกระดับความขัดแย้งทางการเมืองสู่มิติของศีลธรรม ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์อีกต่อไปแล้ว กรณีการต่อต้านการร้ายเป็นตัวอย่างรูปธรรมของการยกความขัดแย้งเป็นเรื่องของดี-ชั่ว

 

กล่าวอีกนัยหนึ่งสาระสำคัญของการเมืองในอดีตที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์แบบมิตรศัตรู ระหว่างพวกเรา กับ พวกเขาหรือเธอ  ปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่ แต่เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ และศัตรูทางการเมืองก็ต้องถูกทำลายล้างให้หมดสิ้นไปไม่ต่างจากโลกยุคสงครามเย็น  ในโลกยุคหลังสงครามเย็น ใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับสามัญสำนึกร่วมแบบนี้ก็จะถูกติดป้ายว่าเป็นพวก "ศัตรูของประชาธิปไตย" ซึ่งไม่ต่างกับป้ายของ "คอมมิวนิสต์"

 

ความคิดเรื่องความเห็นพ้องต้องกัน รวมตลอดถึงความคิดเรื่องสมานฉันท์ ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย เพราะมันเป็นการเก็บกดปิดกั้นมากกว่าการเปิดกว้าง ที่สำคัญเป็นความคิดที่ไม่มีพื้นที่ว่างให้กับความแตกต่างและความเห็นขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์ ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาธิปไตยแบบที่เน้นความเห็นพ้องต้องกันหรือความสมานฉันท์ในโลกยุคหลังสงครามเย็น กลับทำให้สังคมแตกแยกและจับขั้วมากขึ้น

 

จากเหตุผล 4 ประการข้างต้น ทำให้สิ่งที่เรียกว่า "การเมือง" ถูกลดลักษณะวิพากษ์ ท้าทาย การเมืองกลายเป็นคำศัพท์เชิงเทคนิคกลไกที่ใช้ในการบริหารจัดการกิจการภาครัฐเป็นสำคัญ ไม่มีที่ว่างให้กับการโต้แย้งหรือการแสดงความไม่เห็นด้วย หรือการตั้งคำถามกับระบบ ระเบียบจารีตปฏิบัติต่างๆ ที่กำหนดเราอยู่ การตั้งคำถามถึงสิ่งที่ดำรงอยู่ เราถือว่าเป็นปริมณฑลของ "การเมือง"

 

สิ่งที่สามัญสำนึกร่วมในปัจจุบันทำก็คือ ตอกย้ำเส้นแบ่งระหว่างพวกเรา กับ พวกเขาและเธอ ผ่านศัพท์คำว่า สมานฉันท์

 

นักทฤษฎีแนววิพากษ์ยุคใหม่ เสนอมโนทัศน์เรื่องความเป็นการเมืองเพื่อคืนลักษณะท้าทาย วิพากษ์กลับไปให้กับการเมืองอีกครั้ง หลังจากที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องการคิดแบบเทคนิคกลไก เรื่องความเห็นพ้องต้องกัน และความสมานฉันท์

 

ความเป็นการเมืองของบรรดานักทฤษฎีแนววิพากษ์ยุคใหม่เหล่านี้คือความสามารถในการตั้งคำถาม โต้แย้ง สงสัย ตั้งคำถามกับระบบระเบียบที่ดำรงอยู่ที่ทำหน้าที่แบ่งแยกการรับรู้ของคนในสังคม เพื่อเปิดที่ว่างให้กับความเฉพาะเจาะจง

 

ความเป็นการเมืองคือพื้นที่หรือปริมณฑลที่หาข้อยุติลงตัวไม่ได้ เปิดให้มีการโต้แย้ง หากมีข้อยุติลงตัวเมื่อไร เราจะเรียกว่าเป็นปริมณฑลของสังคม นี่คือความต่าง ฉะนั้น ตรรกะของสังคมกับตรรกะของความเป็นการเมืองจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตรรกะของสังคมคือตรรกะแบบตำรวจที่ทำหน้าที่ควบคุม จัดระบบ ระเบียบ ภายใต้ภาษาการเมืองอย่างคำว่า สมานฉันท์ ความเห็นพ้องต้องกัน หรือเสียงส่วนใหญ่อย่างเช่นคำว่า ประชาชนชาวไทย ส่วนตรรกะของความเป็นการเมืองคือ การไม่เห็นด้วย การตั้งคำถาม การแสดงความคิดเห็นแย้งกับระเบียบระบบ ถ้าการเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องเทคนิคกลไก เรื่องของการแก้ปัญหา เรื่องของนักปฏิบัติ เรื่องของความเห็นพ้องต้องกันแล้ว ความเป็นการเมืองก็ถูกทำให้สลายหายไปหมดสิ้น และนี่คือเหตุผลและความจำเป็นที่นักทฤษฎีแนววิพากษ์ยุคใหม่หันมาเปิดพื้นที่ให้กับความเป็นการเมืองในการเมืองแบบประชาธิปไตยในปัจจุบัน

 

นักทฤษฎีแนววิพากษ์ยุคใหม่ อย่างมูฟ ( Mouffe) เห็นว่า ความเป็นการเมืองคือ การขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์ที่ลดทอนเป็นอะไรไม่ได้อีกแล้ว สำหรับทมูฟ การแยกระหว่างพวกเราและพวกเขา พวกเธอ ไม่ใช่ปัญหา แต่คือสาระสำคัญของการเมือง เพียงแต่มูฟไม่ได้มองพวกเขาหรือเธอว่าเป็นศัตรูที่ต้องถูกทำลายล้างให้หมดสิ้นไปในวิธีคิดแบบแยกมิตรศัตรูของ คาร์ล ชมิท์ท (Carl Schmitt) นักทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมันในค่ายอนุรักษ์นิยม ส่วนความสำเร็จหรือความสามารถของการเมืองแบบประชาธิปไตย ก็คือ การแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์แบบมิตร-ศัตรู ของชมิท์ท ให้กลายเป็นความสัมพันธ์แบบคู่ต่อสู้ ศัตรูกับคู่ต่อสู้ไม่เหมือนกัน ศัตรูคือสิ่งที่เราต้องทำลายล้างให้สิ้นซากไป แต่คู่ต่อสู้หมายความว่าสู้กันบนกฎเกณฑ์กติกาที่ยอมรับ เรายอมรับในความชอบธรรมและการดำรงอยู่ของคู่ต่อสู้

 

การเมืองแบบประชาธิปไตยคือความสามารถในการแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ตรงนี้ ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เรื่องของความสมานฉันท์ ความเห็นพ้องต้องกัน แต่เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนศัตรูให้เป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง ยอมรับในกฎเกณฑ์ กติกา ของประชาธิปไตย เช่น ยอมรับในระบบรัฐสภา การต่อสู้ในรัฐสภาเมื่อแพ้คะแนนเสียงก็ยอมรับ เป็นต้น 

 

ในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ การลงคะแนนเสียงในรัฐสภาก็ดี การลงคะแนนเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งก็ดี คือวิธีการยุติความขัดแย้ง และเป็นวิธีการที่ยอมรับกันในสังคม แม้ว่าประชาธิปไตยจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่การกระทำทางการเมืองเป็นกิจกรรมทางสังคม ฉะนั้น ก่อนที่จะมีการกระทำทางการเมือง ปัจเจกบุคคลต้องสามารถระบุตัวเองกับเอกลักษณ์กลุ่มให้ได้ว่า เป็นพวกเขา หรือ พวกเธอ หรือพวกเรา ดังนั้น ก่อนที่จะมีการกระทำทางการเมืองต้องมีพวกเราก่อน เอกลักษณ์ร่วมทำให้สิ่งที่เรียกว่าประชาชน มีตัวตนทางการเมืองขึ้นมา การเมืองจึงจำเป็นต้องมีมิติของความรักใคร่ ชอบพอในบางสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นชอบในนโยบาย ชอบในอุดมการณ์ หรือแม้แต่ชอบในบุคลิกของผู้นำทางการเมือง ซึ่งเป็นทางร่วมในการสร้างเอกลักษณ์กลุ่ม เพื่อจะพัฒนามาเป็นความคิดเรื่องพวกเรา

 

ขณะเดียวกันก็ต้องมีพวกเขาและพวกเธอ เพื่อให้เส้นแบ่งของสิ่งที่เรียกว่าการเมืองเกิดขึ้น พวกเขาและพวกเธอคือเขตแดน หรือปริมณฑลของการเมือง ถ้าไม่มีพวกเขาหรือพวกเธอ ก็ไม่มีพวกเรา

 

การเมืองแบบประชาธิปไตยจึงไม่จำเป็นต้องเข้าใจความเห็นพ้องต้องกัน ความสมานฉันท์ อย่างที่การเมืองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมพยายามนำเสนอ แต่การเมืองแบบประชาธิปไตยมีมิติของความขัดแย้ง เป็นปฏิปักษ์ การเลือกฝ่าย การเมืองจึงเป็นเรื่องของการเลือกข้าง ถ้าไม่มีฝักฝ่าย ก็ไม่มีการเมือง

 

ประชาธิปไตยแบบสมานฉันท์จึงทำลายความเป็นการเมืองลง หากพิจารณาจากมุมมองจากความเป็นการเมืองแล้ว การเผชิญหน้าระหว่างฝักฝ่ายทางการเมืองที่ไม่มองว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูที่ต้องทำลายล้างให้หมดสิ้น แต่เป็นคู่ต่อสู้ภายใต้กติกาที่ยอมรับร่วมกัน จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียหายอะไร แต่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเมืองแบบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ การเมืองแบบประชาธิปไตยต้องสามารถรับมือกับความขัดแย้ง ความเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองระหว่างฝักฝ่ายทางการเมืองแบบต่างๆ โดยไม่นำไปสู่ความรุนแรง และการแก้ปัญหานอกระบบอย่างการทำรัฐประหาร หรือว่าการปะทะกันระหว่างกลุ่มประชาชนต่างๆ ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน

 

สังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยต้องมีที่ว่างให้กับความไม่เห็นด้วย การโต้แย้ง ถกเถียง เพื่อหาทางเลือกแบบอื่น ฝักฝ่ายอื่น การเห็นพ้องต้องกันต้องดำรงอยู่ควบคู่ไปกับการไม่เห็นด้วย เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับความเป็นการเมือง ความเป็นการเมืองคือความสามารถในการสลาย ตัดข้ามเส้นแบ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ เพื่อเปิดทางเลือกแบบอื่นให้กับคนในสังคม เพื่อที่จะนำไปสู่ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมไม่สามารถสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นได้จริง แต่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมใช้ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันเป็นเสียงหลักในการปกครอง

 

นี่คือเหตุผลที่เราต้องกลับมาขบคิดเรื่อง "ความเป็นการเมือง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท