Skip to main content
sharethis


 


สืบเนื่องจากกรณีที่ นายวิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อดีตลูกจ้างชั่วคราวของสถานีพัฒนาป่าชายเลนที่ 8 ได้ร่วมกับชาวบ้านที่อยู่โดยรอบของพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึงแห่งนี้ ร้องเรียนเจ้าหน้ารัฐให้ตรวจสอบเรื่องเอกสารสิทธิ์ของโครงการก่อสร้างโรง ถลุงเหล็ก และเฝ้าระวังการทำลายป่ามากว่า 1 ปี โดยนายวิฑูรย์กล่าวว่าตนและชาวบ้านไม่ได้ต้องการถามทางโครงการว่า "มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่" แต่อยากทราบว่า "มีเอกสารสิทธิ์ได้อย่างไร" ซึ่งทางกลุ่มทุนโครงการโรงถลุงเหล็กได้ออกมายืนยันว่า ได้เอกสารสิทธิ์มาอย่างถูกต้องโปร่งใส โดยมีการอ้างถึงความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานที่ดินส่วนแยกบางสะพาน, นายอำเภอบางสะพาน เป็นต้น


 


ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านแม่รำพึงจึงรวมตัวกันร้องเรียนต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้มีการสำรวจที่ดินที่ตั้งโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก และกรมที่ดิน อำเภอบางสะพาน ซึ่งการสำรวจได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2550 ล่าสุด มีหนังสือคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ให้มี การเพิกถอนที่ดิน ตามเอกสารเลขที่ ๓๔๑๓/๒๕๕๐ เรื่องตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน


 


เนื้อความในเอกสารระบุว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ 418 ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 36 ไร่ - งาน 51 ตารางวา ซึ่งปัจจุบันมีชื่อของ "ประจวบพัฒนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด" เป็นผู้ถือครอง และ ได้จดทะเบียนจำนองเพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันไว้กับ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ผ่านการตรวจสอบจากกรมที่ดิน ตามที่ชาวบ้านร้องเรียนทั้งหมด 17 แปลงแล้ว ปรากฏว่า มีการนำเอกสารสิทธ์ ส.ค.1 เลขที่ 94 หมู่ที่ 1 ตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นหลักฐานสำหรับที่ดินแปลงอื่น มาใช้เป็นหลักฐานในการออก น.ส.3 เป็นผลให้ น.ส.3 ก.เลขที่ 417 (หรือที่เรียกกันว่า ส.ค.บิน) ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับนี้ต่อไป



 



 


นายวิฑูรย์ ระบุว่า "ที่ดิน ทุกแปลงที่ชาวบ้านแม่รำพึงร้องเรียนไป ล้วนแล้วเป็นลักษณะเดียวกัน คือไม่สามารถทำประโยชน์ได้ตลอดมา เนื่องจากดินเป็นกรดสูง เป็นพื้นที่ป่าพรุ เป็นป่าชุ่มน้ำ ตามหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2519, 2535, 2545 ก็คงยังเป็นสภาพป่าที่ไม่มี ร่องรอยการทำกินมาก่อน และที่สำคัญ ที่ดินดังกล่าวติดกับเขตวนอุทยานแม่รำพึง 1,200 ไร่ กำลังจะประกาศยกระดับให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ ก็มีสภาพเดียวกันกับที่ดินที่อ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ทุกประการ ซึ่งทางด้าน กสม.จะมีการทำรายงานสรุปให้กรมที่ดินพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินต่อ ไปอีกหลายแปลง"


 


ทางด้าน นายสุพจน์ ส่งเสียง ชาวบ้านหมู่ 7 ตำบลแม่รำพึง กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ตนมีอาชีพทำป้าย และได้มีชาวบ้านขอให้ช่วยทำป้ายค้านการเช่าป่าช้าสาธารณะ และได้รับรู้เรื่องโครงการโรงถลุงเหล็กที่จะเกิดขึ้นติดกับชุมชนหลายหมู่ บ้าน จึงร่วมกันศึกษาข้อมูล แต่ทางบริษัทกลุ่มทุนกลับฟ้องตนและกลุ่มชาวบ้านที่ร่วมกันตรวจสอบราย ละเอียดของโครงการว่า บุกรุกที่ดิน ซึ่งการปิดบังและบิดเบือนข้อมูลต่างๆ ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบไม่อาจรับโครงการที่มีมลพิษสูงอย่างโรงถลุงเหล็กแห่งนี้ได้


 


"1 ปี 5 เดือนที่ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่มีหน่วยงานของรัฐ หรือผู้นำชุมชนคนไหนเข้ามาใส่ใจดูแล ต่างก็อ้างว่าต้องมี "ความเป็นกลาง" ทั้งที่รู้ดีว่าความเดือดร้อนจะตกอยู่กับชาวบ้านตลอดไป หากปล่อยปะละเลย โดยเฉพาะนายอำเภอบางสะพาน ที่บอกในที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านประจำเดือนมกราคม 2551 ว่า เหตุการณ์ที่มีกลุ่มอันธพาลเสื้อแดงทำร้ายชาวบ้านด้วยไม้ ด้วยท่อนเหล็ก ทั้งที่ชาวบ้านไปยื่นหนังสือตามรัฐธรรมนูญด้วยมือเปล่า ที่ อบต.แม่รำพึง เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2550 จนได้รับบาดเจ็บ กลับบอกว่า (ผู้ที่บาดเจ็บ) เป็นชาวบ้านอำเภอทับสะแก ทั้งที่จริงเป็นชาวบ้านรอบโครงการในตำบลแม่รำพึง แต่กลุ่มอันธพาลส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด คือชุมพรบ้าง รอบนอกอำเภอบางสะพานบ้าง แต่เหตุที่ไปเข้าโรงพยาบาลทับสะแก เนื่องจากชาวบ้านหมดความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยที่โรงพยาบาลบางสะพาน"


 


นอกจากนี้ ได้มีการอ้างถึงกรณีที่นายอำเภอบางสะพานกล่าวว่า การที่กลุ่มอันธพาลทำร้ายชาวบ้านนักอนุรักษ์ได้รับบาดเจ็บ เป็นเพียงการปะทะกันของชาวบ้าน 2 กลุ่ม แสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจปัญหาภายในท้องที่อย่างมาก ซึ่งชาวบ้านทราบว่าท่านนายอำเภอเอาเวลาไปศึกษาต่ออยู่ จึงรู้ไม่จริง


 


"กลุ่ม ชาวบ้านอนุรักษ์แม่รำพึงต่อสู้จนพบความผิดเรื่องที่ดิน ได้พบความหลากหลายทางชีวภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ โดยเฉพาะได้ศึกษาโครงการโรงถลุงฯ จาก EIA (การทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม) อย่างละเอียดกว่า 1 ปี รู้ถึงพิษภัยที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมมหาศาล โดยเฉพาะอาชีพประมงและเกษตร จนมีกลุ่มผู้รู้จริงเข้ามาศึกษามากกว่า 40 กลุ่ม แต่ทางกลุ่มอันธพาลที่เกิดขึ้นไม่ถึง 2 เดือน ไม่มีตัวตนแกนนำ ไม่มีเนื้อหาการสนับสนุนโครงการ รวมกลุ่มกันดื่มเหล้า เฮฮา ทำตะปูเรือใบ ทำอาวุธใช้ไม้ตอกตะปู คอยทำร้ายชาวบ้าน นี่หรือกลุ่มพัฒนาบางสะพาน นี่หรือที่ท่านนายอำเภอเรียกว่า "กลุ่มชาวบ้านผู้สนับสนุน" คนรู้กันทั้งเมืองว่ากลุ่มนี้เกิดมาได้อย่างไร ยกเว้นก็แต่ท่านนายอำเภอบางสะพาน" นายสุพจน์กล่าว


 



 


และเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2551 นางพรทิพย์ ปั่นเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นางนิศานาถ สถิรกุล รองเลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และนายประลอง ดำรงไทย ผู้อำนวยการสำนักตรวจและประเมินผล ปฏิบัติราชการปลัดกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นคณะผู้ตรวจการจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ลงตรวจพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึงเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี หลังจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงร้องเรียนให้หน่วยงานภาครัฐตรวจสอบ เอกสารสิทธ์ของโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก อำเภอบางสะพาน ซึ่งมีชื่อของบริษัท ประจวบพัฒนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ถือครอง


 


การลงพื้นที่ของส่วนราชการครั้งนี้ ได้รับฟังปัญหาจากชาวบ้านกรณีพื้นที่จะกระทบปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง หากมีการก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก 1,142 ไร่กลางชุมชนแม่รำพึง และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ รองรับน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งสร้างระบบห่วงโซ่อาหารที่สำคัญของอ่าวบางสะพาน และแหลมแม่รำพึง และผลกระทบจากโครงการเก่าที่มีอยู่แล้วในพื้นที่


 


ด้านตัวแทนกลุ่มชาวบ้านระบุว่า ฝากความหวังและความจริงใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่อชุมชน และต่อระดับชาติ โดยควรระงับ EIA และตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่เกรงใจกลุ่มทุน เพราะทุกวันนี้โครงการดังกล่าวได้สร้างความแตกแยกครั้งใหญ่ใน อ.บางสะพาน อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net