สัมภาษณ์ พระกิตติศักดิ์ : คดีพระสุพจน์ไม่คืบ: อนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม

"องอาจ เดชา"

 





 

 

 

พระสุพจน์ สุวโจ

(ที่มาภาพ : http://www.semsikkha.org)

 

คงจำกันได้ กับกรณีเหตุการณ์คนร้ายสังหาร พระสุพจน์ สุวโจ พระนักกิจกรรมในกลุ่มเสขิยธรรม กลุ่มพุทธทาสศึกษา และเจ้าอาวาสสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงู ต.สันทราย อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2548 จนมรณภาพ และได้กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง

 

คดีดังกล่าว ได้สั่นสะเทือนต่อพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เพราะถือว่า พระสุพจน์ เป็นพระนักปฏิบัติสายท่านพุทธทาส ซึ่งมีคนนับถือทั่วประเทศ และเป็นการฆาตกรรมพระอย่างโหดร้ายทารุณ ด้วยของมีคมไม่ทราบชนิดและขนาดจากคนร้ายไม่ทราบจำนวน มีบาดแผลฉกรรจ์กว่า 20 แผล ทั้งที่ ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ มือ แขน และลำตัว กระทั่งถึงแก่มรณภาพ ห่างจากกุฏิที่พักกว่า 300 เมตร ริมทางเดินซึ่งอยู่ห่างจากถนนระหว่างหมู่บ้าน ประมาณ 10 เมตร ในเขตสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงูใน ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

 

คดีนี้เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่าง ที่นักอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม นักเผยแผ่ด้านศาสนธรรม ได้สละชีพเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนที่อาศัยอยู่ ท่ามกลางกระแสของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่จับมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ใช้อำนาจอันป่าเถื่อนเข้าไปทำลายชีวิตของผู้คนชาวบ้านที่ขัดขวางผลประโยชน์ เพื่อเข้ากอบโกยทรัพยากรในชุมชนและอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

หลายคนอาจมองว่า คดีนี้อาจจะเป็นเพียงคดีฆาตกรรมทั่วไป ที่ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือนักบวชก็มีสิทธิ์สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อในยุคสมัยอันมืดมนอย่างปัจจุบัน แต่เมื่อหากพินิจพิเคราะห์จากรายละเอียดเรื่องราวต่อจากนี้ไป เราจะเห็นความเชื่อมโยงและปัญหาในมุมที่กว้างขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่แค่การฆ่าพระที่ อ.ฝาง ไม่ใช่แค่การฆ่าพระที่เชียงใหม่ และมันไม่ใช่การฆ่าพระที่ประเทศไทย ปัญหานี้มันยิ่งใหญ่กว่านั้นหลายเท่านัก

 

ซึ่งว่ากันว่า นี่คือปัญหาการช่วงชิงทรัพยากรของโลกนี้ โดยกลุ่มนายทุน-ชนชั้นปกครอง เพื่อนำไปแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มตนเอง

 

ในห้วงขณะที่นโยบายของรัฐและกระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นอ่อนเปลี้ยเสียขาลงไปทุกชั่วขณะ

กระทั่งสังคมไทยเริ่มตั้งคำถามกันว่า แล้วในที่สุดประชาชนจะหวังพึ่งใคร!?

 

ล่าสุด "ประชาไท"ได้สัมภาษณ์ "พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ" ประธานมูลนิธิเมตตาธรรม เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของคดีพระสุพจน์ สุวโจ ซึ่งได้ชี้ชัดว่า นี่คืออนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมรัฐไทย !

 

 

 

 

"พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ"

ประธานมูลนิธิเมตตาธรรม

 

 

อยากให้เล่าถึงความคืบหน้าคดีพระสุพจน์ สุวโจ ?

นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 นี้ ก็ย่างเข้าเดือนที่ 31 ของการจากไปของพระสุพจน์ สุวโจ ซึ่งก็เหมือนกับทุกครั้งที่คุยกัน คือเป็นที่น่ากลุ้มใจของญาติผู้สูญเสีย ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถเอาตัวผู้ทำผิดมาลงโทษได้ ตอนนี้คนที่ฆ่าพระสุพจน์ ยังลอยนวล ไม่มีการออกหมายจับ หรือระบุเจาะจงได้ชัดเจน หรือกระทั่งคนที่บงการ หรือใครก็ตาม บัดนี้หน่วยงานของรัฐ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ ที่เคยแสดงเจตน์จำนงไว้ ก็ไม่แน่ชัดว่าคดีดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงกับใครบ้าง

 

สมมุติฐานต่างๆ ที่เป็นคำถาม เป็นที่คาดหวังฝ่ายพ่อแม่ ญาติ เชื่อว่าความตายของพระสุพจน์ เกิดจากการกระทำของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพระสุพจน์ และฝ่ายผู้มีอิทธิพล แต่สุดท้ายก็คือคนร้ายยังคงลอยนวลและหน่วยงานรัฐก็ลอยตัวเหนือปัญหา ไม่ยื่นมือมาช่วยใดๆ ทั้งสิ้น

 

และตอนนี้ก็ยังมีการยกเลิกกระบวนการคุ้มครองพยาน ยกเลิกการสอบสวนสืบสวนทั้งทางตรงทางลับ สรุปข้อเท็จจริงก็คือ ญาติของพระสุพจน์ไม่ได้ทราบความคืบหน้ามาครึ่งปีแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์อีกคดีหนึ่ง ที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของการสืบสวนสอบสวนคดี ของกระบวนการยุติธรรมของไทยได้อย่างชัดเจน

 

ทำไมจู่ๆ ถึงมีการยกเลิกการคุ้มครองพยานอย่างนี้ ?

คือนับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา สิ้นปีงบประมาณ ก็มีการยกเลิกโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น บ้างก็พูดกันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งให้ยกเลิกการคุ้มครองพยานคดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เคยบอกว่า ถ้าทางตำรวจไม่ได้ให้การคุ้มครอง จะติดต่อทหารกองทัพภาค 3 โดย พันเอกปิยวัตร กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็เคยพูดแล้วก็เงียบหายไป ไม่ได้รับการติดต่อเลย

 

ส่วนทางสำนักงานคุ้มครองพยาน กระทรวงยุติธรรม ก็เคยติดต่อมา ว่ายังมีการคุ้มครองอยู่หรือไม่ แต่เมื่อบอกว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจถอนตัวไป เขาก็บอกว่าระยะหลังเรื่องการคุ้มครองพยานอยู่ในส่วนของ ดีเอสไอ การเบิกจ่ายต่างๆ อยู่กับดีเอสไอ

 

พอไม่มีการคุ้มครองพยาน แล้วมีการคุกคามอยู่บ้างไหม ?

ตอนนี้เมื่อไม่มีการคุ้มครองพยาน การคุกคามยังมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีการยิงปืน มีคนแปลกหน้าเข้ามาในสวนปฏิบัติธรรม ในยามวิกาล ซึ่งได้แจ้งให้ดีเอสไอทราบ แต่ก็ไม่ได้รับการดำเนินการใด ในตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ จาก สภอ.ฝาง มาประจำการในสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม จันทร์ -พุธ เช้าถึงเที่ยง แล้วก็กลับไป ซึ่งในแง่ของสัญลักษณ์ หรือว่าการรักษาความปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้สร้างความมั่นอกมั่นใจได้นัก แต่ก็เป็นเมตตา มีน้ำใจของผู้กำกับการตำรวจ สภอ.ฝาง ที่ยังส่งเจ้าหน้าที่มา และก็เป็นหน่วยงานเดียวที่ส่งมา ถามว่ามีผลต่อการคุ้มครองหรือรักษาความปลอดภัยหรือไม่ คงพูดได้ยาก

 

ในส่วนความคืบหน้าของคดี ท่านมองว่าพอจะมีทางขับเคลื่อนไปได้อย่างไรบ้าง?

โอกาสของการรวบรวมพยานหลักฐาน ข้อมูลต่างๆ ถ้าพูดแบบสามัญสำนึก เป็นเรื่องผกผันของระยะเวลา เพราะถ้านานไปเท่าไหร่ ความทรงจำจะเลือนไป วัตถุต่างๆ จะเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา โอกาสที่จะสืบหาตัวผู้กระทำผิดก็น้อยลง แย่ไปกว่านั้นแล้ว ถ้าสืบได้เค้าราง ใครคนใดคนหนึ่ง ก็ยากที่จะเอาตัวมาลงโทษตามกฎหมาย เพราะว่าขาดพยานที่มีน้ำหนัก ขาดหลักฐานที่สมบูรณ์ ขาดองค์ประกอบในทางคดี หน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย ใช้เวลาเป็นตัวทำลายความยุติธรรม ทำลายความจริง บ่อนเซาะจิตใจต่อผู้เกี่ยวกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความเหนื่อยล้า องค์กรต่างๆ ก็ต้องมีภาระ มีงานขับเคลื่อน กาลเวลาทำให้คดีนี้ น่าเศร้าเสียใจ โดยเฉพาะเป็นการฆ่าพระในเวลากลางวันแสกๆ ในที่เปิดเผย แต่ว่าอำนาจรัฐ ทั้งๆ ที่มีเครื่องมือ มีบุคลากร แต่กลับไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมได้ ซึ่งถือได้ว่านี่เป็น "อนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลว" อย่างแท้จริง

 

ดูเหมือนว่าไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนๆ ก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อคดีนี้เลย ?

ใช่ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นในยุคใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ภายใต้ร่มเงาของ คมช. หรือภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 คดีนี้กลับถูกจำกัดชั้นความสำคัญ เมื่อเข้าไปพบ รมว.ยุติธรรม ก็บอกว่าเรื่องนี้ต้องรอไว้ก่อน เพราะมีเรื่องสำคัญต้องทำก่อน เลยถามว่าเรื่องใดบ้าง บอกว่า เช่น การทุจริตของรัฐบาลทักษิณ สนามบินสุวรรณภูมิ การปกปิดและการเคลื่อนย้ายเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สะท้อนภาพให้เห็นว่า เมื่อคนในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ ดีเอสไอ คิดอย่างนี้ ผู้ที่ปฏิบัติก็ไม่สามารถทำงานได้มาก ทำได้แค่ว่าอยู่ในความรับผิดชอบ มีคดีสำคัญแซงหน้า

 

คิดผิดหรือไม่ที่มีการโอนคดีพระสุพจน์ไปให้ดีเอสไอดูแล ?

อาจจะสรุปได้ว่า เป็นความผิดพลาดที่เราให้ ดีเอสไอ มารับคดีนี้ เช่นเดียวกับ คดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือกรณีคดีการฆ่าคุณเจริญ วัดอักษร ซึ่งทุกคดีล้วนไม่มีความคืบหน้า เป็นความล้มเหลวของหน่วยงานและบุคลากรที่ทำอยู่

 

ซึ่งหน่วยงานนั้นๆ เป็นโครงสร้างที่มีความบกพร่อง เป็นเหตุของการขัดแย้งภายใน ทั้งที่เป็นข่าว มีปัญหาต่างๆ อดีตตำรวจ อดีตทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่ทำงานใน ดีเอสไอ ต่างมีความขัดแย้งกันไม่สามารถแก้ไขได้ ประจวบเหมาะ ดีเอสไอ กลับถูกนำไปใช้ในทางการเมืองเพื่อการกำจัดฝ่ายตรงข้าม ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ถือได้ว่าเป็นความล้มเหลว น่าเสียดายเงินภาษีของประชาชน

 

หรืออาจเป็นเพราะกลไกสืบสวนเบื้องต้นบกพร่อง จึงทำให้คดีดังกล่าวล้มเหลว ?

เอาเข้าจริง กระบวนการยุติธรรมของไทยภายใต้กฎหมายไทย เป็นเรื่องของการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์สิ่งที่เกิดขึ้นตามข้อกล่าวหา ถ้ากลไกเบื้องต้น เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทำสำนวนเบื้องต้นบกพร่อง กระบวนการจะล้มเป็นโดมิโน่ ดังนั้น ผู้ที่มีอิทธิพลที่รู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมจะมักใช้ช่องว่างตรงนี้ เช่นเดียวกับคดีทนายสมชายถูกฆ่า แต่ไม่สามารถระบุได้ แต่เป็นแค่บุคคลสูญหาย ในคดีพระสุพจน์เองก็เหมือนกัน ในช่วงต้น มีนักกฎหมายบางคนตั้งข้อสงสัย เป็นคดีที่ไม่สามารถระบุผู้ต้องสงสัยได้ เพราะไม่มีใครพบเห็น ไม่มีประจักษ์พยาน

 

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขในเรื่องนี้กระบวนการยุติธรรมจะล้มตั้งแต่เบื้องต้น ล้มโดยคนที่รวบรวมหลักฐาน คนที่สอบสวนเบื้องต้น เจตนาเบี่ยงเบนประเด็น ตั้งสมมติฐานผิด ตัวผู้พิพากษาก็ไม่สามารถจะอำนวยความยุติธรรมได้ เพราะผู้พิพากษาคือผู้ที่พิจารณาคดี ตามที่เจ้าหน้าที่เบื้องต้นรวบรวมไป ถ้าเป็นลักษณะนี้ ก็คงเหมือนกับที่ชาวบ้านพูดกันว่า คนรวยไม่ติดคุก คนฉลาดไม่ติดคุก มีแต่คนโง่และคนจนเท่านั้นที่ติดคุก

 

เพราะฉะนั้น เราคาดหวังไม่ได้ว่าจะมีผู้บงการที่ใหญ่โต ที่ชักใยวงจรอุบาทว์ในเรื่องของการกระทำผิดกฎหมาย การกระทำที่ชั่วช้าสามานย์ต่างๆ ไม่มีทางมั่นใจไปได้ว่าจะถูกลงโทษ ไม่ต้องพูดถึงการยกระดับอื่นๆ เช่น ผู้มีอิทธิพลเหล่านี้มาจากระบบอุปถัมภ์ เชื่อมโยงไปถึงการเมือง เศรษฐกิจ เชื่อมโยงวิถีชีวิตชุมชนเชิงวัฒนธรรม สุดท้าย กลไกลรัฐก็ไม่สามารถแก้ไขได้ นั่นเท่ากับว่า รัฐกำลังผลักคนของรัฐให้ไปซูฮกกับผู้มีอิทธิพลเพื่อขอความเป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็น

 

คดีพระสุพจน์ จึงไม่ใช่เรื่องของพระสุพจน์เพียงรูปเดียว หรือญาติพี่น้อง หรือว่าเครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกันเท่านั้น แต่ถือว่าคดีพระสุพจน์ เป็นภาพสะท้อนของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ของผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ แต่ไม่สามารถมองภาพรวมเชื่อมโยงเหตุปัจจัยเหล่านี้ได้ ไม่มีทางจะแก้ไขปัญหา ไม่มีทางในการยกระดับในกระบวนการยุติธรรมได้เลย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท