Skip to main content
sharethis

กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (Freedom Against Censorship Thailand) หรือ FACT ออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้เปิดเว็บไซต์และเว็บบอร์ดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ระบุการปิดครั้งนี้คือการก่อการร้ายในโลกไซเบอร์ เตรียมฟ้องผู้รับผิดชอบการปิดเว็บในกรณีนี้ นอกจากนี้จดหมายเปิดผนึกนี้ยังได้รายงานรายละเอียดและความเสียหายที่เกิดกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้


0 0 0



การก่อการร้ายในโลกไซเบอร์ยังดำเนินต่อไปในประเทศไทย

เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน http://www.sameskybooks.org/) เจ้าของวารสารวิพากษ์วิจารณ์สังคมชื่อเดียวกันรายสามเดือน ได้ถูกปิดโดยบริษัท เน็ตเซอร์วิส จำกัด ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยอ้างเหตุผลว่ามีข้อความ "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" บนกระดานสนทนาสาธารณะของเว็บฟ้าเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ กระทรวงไอซีทีเคยขอความร่วมมือจากฟ้าเดียวกันให้ดำเนินการเซ็นเซอร์ข้อความที่มีลักษณะดังกล่าวบนกระดานสนทนา และที่ผ่านมาฟ้าเดียวกันก็ให้ความร่วมมือโดยดี อย่างไรก็ตาม การปิดเว็บในครั้งนี้เกิดขึ้นโดยปราศจากคำเตือนใดๆ ล่วงหน้า

เมื่อเย็นวันที่ 4 มกราคม 2551 ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของฟ้าเดียวกัน คือบริษัท เน็ตเซอร์วิส จำกัด ได้ส่งอีเมล์ถึงคุณธนาพล อิ๋วสกุล เจ้าของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและหนึ่งในผู้ลงชื่อสนับสนุนคำร้องของกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (Freedom Against Censorship Thailand หรือ FACT) ให้รัฐยุติการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต แจ้งให้คุณธนาพลทราบว่า บริษัท Otaro ซึ่งเป็น Data Center ที่บริษัทเน็ตเซอร์วิสใช้บริการฝากเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ได้ทำการปิดเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่โฮสเว็บฟ้าเดียวกัน ซึ่งเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกปิดไปดังกล่าวยังใช้โฮสเว็บไซต์อื่นๆ ด้วย ทำให้เว็บไซต์เหล่านั้นถูกปิดไปด้วยโดยปริยาย

นั่นหมายความว่าข้อมูลต่างๆ ของฟ้าเดียวกัน รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลขององค์กรและข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ตัวนั้น ได้ "หาย" ไปทั้งหมด

นอกจากนี้ บริษัท Otaro ยังได้ปฏิเสธที่จะโฮสฟ้าเดียวกันในอนาคต โดยให้เหตุผลว่าเพื่อคุ้มครองตัวเอง ตลอดจนลูกค้าบริษัทอื่นๆ ที่ Otaro ให้บริการโฮสติ้ง

กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟ้าเดียวกันเดือดร้อนจากข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก่อนหน้านี้ เนื้อหาบางส่วนในวารสารฟ้าเดียวกันก็ถูกเพ่งเล็งว่าวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ส่งผลให้วารสารฉบับหนึ่งถูกยึดภายใต้บทบัญญัติที่ให้อำนาจรัฐเซ็นเซอร์ ใน พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนทางศาล

กรณีปิดเว็บฟ้าเดียวกันในครั้งนี้มีส่วนคล้ายคลึงอย่างมากกับกรณีที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ( HYPERLINK " http://www.midnightuniv.org/" http://www.midnightuniv.org/) ถูกกระทรวงไอซีทีปิดหลังจากที่เกิดรัฐประหารในเมืองไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ต่อมา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และได้รับการคุ้มครองชั่วคราวโดยคำสั่งของศาลปกครองเพื่อปกป้องการเซ็นเซอร์แบบ "เหมารวม" เช่นนี้อีกในอนาคต

คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองดังกล่าว คุ้มครองเฉพาะเว็บของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่ได้คุ้มครองเว็บไซต์อื่นๆ ด้วย

กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) เชื่อว่าการปิดเว็บฟ้าเดียวกันในครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) เนื่องจากการเซ็นเซอร์ในลักษณะที่เกิดขึ้นจะต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีเท่านั้น และเจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีจะต้องส่งหนังสือสอบถามก่อนที่จะยื่นคำร้องต่อศาล ไม่มีใครมีอำนาจสั่งปิดเว็บใดๆ ทันทีตามอำเภอใจ

นอกจากนั้น ควรหรือไม่ที่ธุรกิจทั้งองค์กรต้องถูกปิดไป เพียงเพราะข้อความที่บุคคลธรรมดาคนหนึ่งโพสในกระดานสนทนาขององค์กร? เว็บไซต์อื่นๆ ที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ตัวเดียวกันเป็นเพียง "ลูกหลง" ที่ไร้ความสำคัญใช่หรือไม่?

ก่อนหน้านี้ บุคคลธรรมดาสองคนได้ถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ไปแล้วในปี 2550 ในข้อหาโพสข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งพวกเขาโพสโดยไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงในกระดานสนทนาภาษาไทยบนอินเทอร์เน็ต ตัวตนของพวกเขาถูกค้นพบและจับกุมโดยตำรวจที่สืบค้นจากข้อมูลไอพีแอ็ดเดรส

ในกรณีของผู้ถูกจับกุมสองคนดังกล่าว ภาครัฐตัดสินใจไม่ดำเนินคดีต่อในชั้นศาล แต่สามารถรื้อคดีขึ้นมาดำเนินการเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 10 ปี ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากเชื่อว่า เหตุผลที่ภาครัฐตัดสินใจเช่นนี้คือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มีช่องโหว่ทางกฎหมายบางประการที่ทำให้มันเป็นกฎหมายที่ไร้ประสิทธิผล นั่นอาจเป็นเหตุผลที่รัฐไม่ได้อ้าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการประโคมข่าวกันอย่างครึกโครม ในการสั่งปิดฟ้าเดียวกันในครั้งนี้

คำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 5 ซึ่งมอบอำนาจให้กับกระทรวงไอซีทีในการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยมติคณะรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม 2550 การปิดเว็บฟ้าเดียวกันเป็นการกระทำที่ผิดมาตรา 14-14.5 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการฟ้องร้องผู้รับผิดชอบการปิดเว็บในกรณีนี้

การปิดเว็บในครั้งนี้ส่งผลให้บริษัท Otaro ละเมิดเงื่อนไขในสัญญาที่บริษัททำกับบริษัท เน็ตเซอร์วิส จำกัด และส่งผลให้บริษัทหลังละเมิดสัญญาที่ทำกับ สนพ. ฟ้าเดียวกันด้วย

สนพ. ฟ้าเดียวกันกำลังวางแผนที่จะใช้เว็บโฮสในต่างประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจขององค์กรต้องหยุดชะงักอีกในอนาคต กระทรวงไอซีทีต้องการส่งเสริมอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยด้วยการกดดันให้บริษัทสัญชาติไทยออกไปใช้บริการอินเทอร์เน็ตในต่างแดนอย่างนั้นหรือ?

การปิดเว็บฟ้าเดียวกันไม่ต่างอะไรกับการก่อการร้ายในโลกไซเบอร์ เราขอเรียกร้องให้เปิดฟ้าเดียวกัน!


 


หมายเหตุ :  ขอขอบคุณ สฤณี อาชวานันทกุล ผู้แปลจดหมายฉบับนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net