บทความ : 2551 : กำเนิดกลุ่มการเคลื่อนไหวทางเลือกที่สาม?

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์


Siam Intelligence Unit

 

หมายเหตุ: ตอนแรกผู้เขียนตั้งใจจะใช้ชื่อบทความว่า "กำเนิดพรรคการเมืองทางเลือกที่สาม" แต่ตัดสินใจเปลี่ยนด้วยเหตุผลซึ่งจะกล่าวต่อไปในบทความ

 

 

 

คนไทยจำนวนมากคาดหวังว่าวิกฤตทางการเมืองซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปลายปี 2548 และลากยาวมาถึงปัจจุบันจะสิ้นสุดลงได้ด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพาทหารกลับเข้ากรมกอง และนำประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาด้านความขัดแย้งของคนในชาติเลย ในทางตรงข้ามกลับรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ซึ่งแสดงออกความต้องการที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงผ่านการสนับสนุนพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่

 

(สาเหตุของปรากฏการณ์นี้ สุรศักดิ์ ธรรมโม ได้แสดงความเห็นไว้ในบทความ "ประเทศไทยหลัง 23 ธันวาคม 2550" [1] ว่าเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมพื้นฐาน การกระจายรายได้ที่เหลื่อมล้ำ ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ)

 

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจึงแสดงให้เห็นว่า การเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการเมืองเชิงภูมิภาค (คนใต้เลือกนายกชวน คนสุพรรณเลือกบรรหาร) มาเป็นการเมืองเชิงชนชั้น (คนชั้นกลางในเมืองเลือกประชาธิปัตย์ คนชั้นล่างในต่างจังหวัดสนับสนุนพลังประชาชน) ถึงแม้ว่าจะมีพรรคการเมืองอีกจำนวนหนึ่งที่ชนะการเลือกตั้งเฉพาะท้องถิ่น แต่ด้วยจำนวน ส.ส. ที่ไม่มากจนมีนัยยะสำคัญ แสดงให้เห็นว่าการเมืองเชิงภูมิภาคกำลังมีความสำคัญลดลงอย่างรวดเร็ว

 

คำถามที่ตามมาก็คือ คนไทยเองพอใจกับทางเลือกแบบใหม่เพียงแค่สองทางหรือไม่ ???

 

ปฏิกิริยาที่ผู้เขียนได้รับมาตลอดตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง นอกจากประเภท "ด่าสมัคร เชียร์อภิสิทธิ์" และ "เชียร์สมัคร ด่าอภิสิทธิ์" แล้ว ความคิดเห็นที่มีมากจนน่าสนใจก็คือ "ไม่รู้จะเลือกใคร ไม่ชอบทั้งคู่"

 

ความคิดเห็นเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่า คนไทยกำลังโหยหาทางออกการการเมืองทางเลือกใหม่เป็นอย่างยิ่ง ถ้าให้ประเมินอย่างคร่าวๆ พรรคการเมืองในอุดมคตินี้ต้องภาพลักษณ์สมัยใหม่ ดูซื่อสัตย์สุจริต (ซึ่งพลังประชาชนให้ไม่ได้) และทำงานตอบสนองความต้องการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ (ซึ่งประชาธิปัตย์ถูกโจมตีมาตลอดว่าไม่มี) พูดง่ายๆ ว่าตอบสนองความต้องการของทั้งชนชั้นกลางและชนชั้นล่างได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพรรคการเมืองชนิดนี้ไม่มีอยู่จริง (และด้วยกรอบเงื่อนไขทางการเมืองระบอบรัฐสภา เราก็อาจสรุปได้ว่าไม่มีทางเกิดขึ้นจริงในอนาคตเช่นกัน)

 

แต่ถึงแม้เราจะยอมตัดความเป็นอุดมคติออกไปจากพรรคการเมืองที่สามแล้ว พรรคการเมืองที่สามก็ยังไม่มีอยู่จริงเช่นเดิม (ในกรณีนี้เราไม่สนใจพรรคการเมืองขนาดเล็กอื่นๆ ซึ่งยังไม่สามารถก้าวข้ามการเมืองเชิงท้องถิ่นมาเป็นการเมืองเชิงอุดมการณ์หรือนโยบายได้) ซึ่งทำให้สุดท้ายแล้วคนกลุ่ม "สองไม่เอา" นี้ลงเอยด้วยการโนโหวต หรือไม่ก็ตัดสินใจให้คะแนนแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยเหตุผลเฉพาะบุคคลที่ต่างกันไป

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนสังเกตว่าตลอดปี 2550 นี้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดย่อมๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น การชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหารที่ท้องสนามหลวงในช่วงกลางปี, การเคลื่อนไหวล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ช่วงเดือนตุลาคม จนมาถึงการเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการผ่านร่างกฎหมายในเดือนธันวาคม

 

จุดร่วมของการเคลื่อนไหวเหล่านี้คือมีขนาดไม่ใหญ่นัก ผู้เข้าร่วมมีทั้งชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในเมือง คนส่วนใหญ่มีอุดมการณ์เฉพาะเรื่องร่วมกัน และมักนำโดยนักวิชาการนอกกระแส (ซึ่งโจมตีปัญญาชนสาธารณะที่เห็นด้วยกับรัฐประหาร) หรือไม่ก็เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมหน้าใหม่ ที่ "ตื่นตัวทางการเมือง" หลังรัฐประหาร 19 กันยา

 

จุดที่น่าสนใจคือการเคลื่อนไหวเหล่านี้ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง (มีประสิทธิภาพสูงเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่ใช้) มีการจัดองค์กรอย่างเป็นระบบ ผสมผสานการเคลื่อนไหวหลากรูปแบบ และใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เรียกได้ว่าเป็นการสร้างระดับมาตรฐานของการเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ที่นักเคลื่อนไหวในอนาคตต้องปฏิบัติตาม

 

ผู้เขียนจึงเกิดคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่การเมืองทางเลือกที่สามจะต้องอยู่ในรูปพรรคการเมือง การต่อสู้ทางการเมืองในอนาคต จึงอาจเกิดจากกลุ่มเคลื่อนไหวอิสระที่รวมตัวกันเรียกร้องทางนโยบายต่อพรรคการเมืองในสภา โดยมีเครื่องต่อรองเป็นคะแนนเสียงที่กลุ่มต่อสู้เหล่านี้ยินดีจะโหวตให้พรรคการเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการของตัวเอง

 

การเคลื่อนไหวทางเลือกที่สามในอนาคตไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปกลุ่มต่อสู้ทางการเมืองขนาดใหญ่เพียงกลุ่มเดียว แต่จะเป็น "เครือข่าย" การเคลื่อนไหวร่วมกันของกลุ่มย่อยขนาดเล็กหลายกลุ่ม กลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้จะดำเนินงานอย่างอิสระ ไม่มีโครงสร้างตายตัว และไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องต่อข้อเสนอเดียวกันเสมอไป มารวมกันต่อเมื่อมีข้อเสนอร่วม และแยกกันเคลื่อนไหวในกรณีที่เห็นต่าง

 

ในอดีตเราเห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มวิชาชีพหรือกลุ่มเฉพาะถิ่นมามาก (เช่น คาราวานคนจน, สมาคมชาวไร่อ้อยหรือกรีดยาง) การเคลื่อนไหวของเครือข่ายทางเลือกที่สามแบบที่ผู้เขียนเสนอก็คล้ายคลึงกันในเชิงอุดมการณ์ เพียงแต่ในทางปฏิบัติแล้ว เครือข่ายทางเลือกที่สามนี้ก้าวข้ามการเคลื่อนไหวบนท้องถนนเพียงอย่างเดียว ไปสู่การเคลื่อนไหวแบบบูรณาการที่มีประสิทธิผลสูงกว่าหลายเท่า รู้จักต่อรองผลประโยชน์อย่างชาญฉลาดและ "รู้ทัน" นักการเมืองมากกว่าที่เคย

ผู้เขียนเองก็ยังมองภาพไม่ชัดว่าภาพรางๆ ของเครือข่ายทางเลือกที่สามนี้สุดท้ายจะวิวัฒนาการไปในรูปแบบไหน ระยะเวลาหลังรัฐประหาร 19 กันยานั้นถือเป็นแค่ระยะตั้งไข่ของเครือข่ายที่ว่าเท่านั้น หลังจากการเลือกตั้ง 23 ธันวาคมเป็นต้นไป จะเป็นช่วงที่เครือข่ายต้องค้นหาที่ยืนของตัวเอง สร้างสมกำลังและอิทธิพลเพื่อไปให้ถึงจุดที่มีอำนาจต่อรองสูงพอ และเรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของการต่อสู้ทางการเมืองนอกสภาแบบใหม่ ซึ่งไม่เคยมีใครมีประสบการณ์มาก่อน

 

ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ สุดท้ายแล้วการเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงอยู่ดี

 

สุดท้ายแล้ว ผู้เขียนขอยกคำสัมภาษณ์ของเกษียร เตชะพีระ [2] ที่ว่า ถ้าไม่มีทางเลือกที่ 3 มันก็เป็นการพ่ายแพ้ของประชาชนอย่างเราแล้ว ไม่สามารถโทษใครอื่นได้


 

อ้างอิง :

[1]สุรศักดิ์ ธรรมโม, ประเทศไทยหลัง 23 ธันวาคม 2550 - Siam Intelligence
Unit , 24
ธันวาคม 2550

[2] สัมภาษณ์ เกษียร เตชะพีระ : ถึงกัลยาณมิตร "ถ้าไม่มีทางเลือกที่ 3 มันก็เป็นการพ่ายแพ้ของเรา" - ประชาไท , 23 พฤษภาคม 2550
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท