Skip to main content
sharethis



 


ในสังคมไทยคงไม่ง่ายนักที่จะหาคนที่ไม่รู้จัก "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" ในฐานะใดฐานะหนึ่งเช่น อดีตผู้นำนักศึกษา นักปฏิวัติ นักวิชาการ นักคิด นักเขียน นักอนุรักษ์ ศิลปิน ฯลฯ ในความสับสนทางการเมืองปัจจุบันนับเป็นโอกาสที่ดียิ่งที่เราท่านจะได้อ่านความคิดของเขาผ่านคำปาฐกถาที่เขาได้แสดงในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ณ หอประชุม ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.50 เพื่อนำมาศึกษาทบทวนและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน และนี่เป็นรายงานฉบับย่อ จากเนื้อหาประมาณ  20 หน้า


000


 


เสกสรรค์เริ่มต้นโดยใช้ หลักธรรม 3 ข้อ ได้แก่ หลักอนิมิตตาซึ่งเป็นหลักพุทธศาสนานิกายเซนที่สอนให้มองความจริงตามที่มันเป็นอยู่ไม่ใส่ทัศนะ ทฤษฎี หรือจินตภาพใดๆ เข้าไป หลักอิทัปปัจจยตาที่สอนให้มองเชื่อมโยงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นั้น และหลักอนิจจาก็คือการมองให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลของสรรพสิ่งมาอธิบายปรากฏการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน


นักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของไทยเสนอว่า แกนกลางปัญหาของรัฐไทยในปัจจุบันก็คือเรื่องอำนาจ  ปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นมีหลายมิติ ทั้งในทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม การเกิดและการสั่งสมอำนาจรัฐไทยเริ่มจากยุค ธนบุรี รัตนโกสินทร์ และการเข้ามาของทุนนิยมโลก จนทำให้รัฐไทยเข้าสู่ความทันสมัยแต่ก็ยังมีสถาบันทางการเมืองและวัฒนธรรมเก่าตกค้างอยู่ ความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมไทยจึงเป็นความขัดแย้งในเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่ใช่ความขัดแย้งเรื่องวิถีการผลิต ทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนถึงปัจจุบันความขัดแย้งทางการเมืองไทยก็ยังคงอยู่ในแบบแผนเดิม ทิศทางสังคมไทยก็ยังเดินไปตามแนวทางเสรีนิยมใหม่และโลกาภิวัฒน์


ปัญหาจึงอยู่ที่แหล่งที่มาของอำนาจในสังคมไทยที่มีสถาบันทางการเมืองทั้งก่อนสมัยใหม่ (pre modern) รูปแบบสถาบันการเมืองการปกครองและบรรทัดฐานด้านความถูกต้องสมัยใหม่ (modern) และยังเสริมด้วยวัฒนธรรมไร้รากและรูปการจิตสำนึกไร้พรมแดน ซึ่งเสกสรรค์จัดให้อยู่ในยุคหลังสมัยใหม่ (post  modern) จึงเกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซับซ้อนขัดแย้ง


เขามองว่าความชอบธรรมของอำนาจประกอบด้วย ที่มา จุดหมายและวิธีการที่จะต้องมีความชอบธรรม แต่กลุ่มทุนที่ขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองหลังรัฐธรรมนูญปี 40 ละเลยในองค์ประกอบความชอบธรรมดังกล่าวจึงก่อให้เกิดวิกฤติการเมืองขึ้น โดยที่ประชาชนมีพื้นที่ทางการเมืองอยู่บ้าง ทำให้ทุกขั้วของคนชั้นนำยังต้องวางตัวเองอยู่ในกรอบ ประชาธิปไตยอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นเสกสรรค์เรียกมันว่า วิกฤตฉันทานุมัติ


รัฐธรรมนูญมีอยู่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งก็คือการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชนชั้นนำหลายๆ กลุ่มและการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับสังคม ในอีกด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญจะต้องมีด้านที่เป็นอุดมคติทางการเมืองด้วย ซึ่งลักษณะทั้งสองด้านนี้จะต้องสมดุลกัน รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีความพยายามที่จะจัดความสมดุลดังกล่าว นี่เป็นมุมมองของอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516


วิกฤติการเมืองที่องค์ปาฐกฯ มองว่ามีความรุนแรงที่มากกว่า ได้แก่ ความสงสัยว่าอำนาจรัฐที่มีอยู่ยังเหลืออยู่มากแค่ไหน รัฐไทยได้ผูกติดตัวเองอยู่กับทุนนิยมโลก รัฐไทยมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนซึ่งรวมถึงการกำหราบคนยากคนจนที่ขัดแย้งต่อแนวทางการพัฒนา การลงมาช่วยเหลือคนยากคนจนจึงมีลักษณะอุปถัมภ์ เนื่องจากนักการเมืองไม่สามารถที่จะผลักดันนโยบายในการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างได้ ในขณะเดียวกันเขาก็มีความสงสัยว่าคนในสังคมไทยที่ยังยึดถือ "ความเป็นชาติ" จริงๆ แล้วยังเหลืออยู่เท่าไร


จากความสงสัยข้างต้นเมื่อรวมกับคนชั้นนำในเวทีการเมือง เสกสรรค์สรุปว่า  "วิกฤติฉันทานุมัติในระดับอำนาจรัฐไม่อาจถูกชดเชยด้วยความชอบธรรมอันพึงมีในระบอบประชาธิปไตย"  เสกสรรค์ยืนยันว่าไม่ได้พุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจก่อนการรัฐประหาร 19 กันยาเท่านั้น แต่ความแตกต่างที่เกิดขึ้นมาจากความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่มีอยู่อย่างสุดขั้ว  เขามองว่า ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ได้ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอลงในสังคมไทย  การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมีข้อดีเพียงแค่เป็นการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่อย่างสันติเท่านั้น  นอกจากนั้นยังประเมินว่า นักการเมือง สถาบันชั้นสูงจะลดการกระทบกระทั่งกัน


องค์ปาฐกฯ เสนอว่า หากนักการเมืองต้องการได้รับอำนาจหรือความชอบธรรม  นักการเมืองจะถือว่าการเลือกตั้งเป็นฉันทานุมัติจากประชาชนแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้  แต่จะต้องมีการขอฉันทานุมัติจากประชาชนเป็นเรื่องๆ เมื่อมีประเด็นที่ส่งผลกระทบถึงประชาชน  นอกจากนั้นยังต้องจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจกับประชาชนใหม่ ให้ประชาชนมีอำนาจทางตรงมากขึ้น ให้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อเป็นการถ่วงดุลกับทุนนิยมโลกาภิวัฒน์  กระแสชาตินิยมเพียงอย่างเดียวไม่พอเพียงที่จะให้เกิดความสมดุลได้


ผู้นำทางการเมืองจะต้องมีคุณธรรมและศิลปะในการปกครองควบคู่  โดยอ้างถึงคัมภีร์ อัคคัญสูตร ในพระไตรปิฎก แนวคิดเรื่องผู้นำของเพลโต จากหนังสือ Republic และศิลปะในการปกครองคนจากคัมภีร์ เต๋าเต๊กเก็ง ของปราชญ์ เหล่าจื๊อ ตำรารัฐศาสตร์นับร้อยเล่มถูกย่อไว้ในคัมภีร์เต๋าเต๊กเก็งเพียง 2-3 บรรทัด


สุดท้ายอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุม นำหลักอิทัปปัจจัยตา มาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เป็นการประนีประนอมที่อาจจะไม่ตรงตามอุดมคติของทุกคนและอาจจะไม่สมเหตุสมผล แต่เสกสรรค์ยืนยันว่าไม่ใช่การประนีประนอมอย่างไร้หลักการ แต่เป็นการมองอย่างองค์รวม เป็นเรื่องของวุฒิภาวะและการเติบโต ซึ่งมันจะทำให้เป็นความขัดแย้งที่ไม่หลุดจากกรอบขององค์รวม ไม่ขัดแย้งจนถึงขั้นแตกหัก


 


 


หมายเหตุ  ติดตามอ่านปาฐกถาฉบับเต็มได้ในวันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net