Skip to main content
sharethis


สันติ  ธรรมประชา


 


"ที่ใดมีการกดขี่  ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้" คำกล่าวดังกล่าวนับเป็นสัจธรรมของชีวิตสังคมมนุษย์ ไม่ว่าสังคมในอดีตที่ทาสลุกขึ้นต่อต้านนายทาส เพื่อปลดปล่อยความเป็นทาสให้หมดสิ้นไป สังคมปัจจุบันที่นายทุนเอารัดเอาเปรียบกรรมกรคนงาน กรรมกรคนงานทั่วโลกก็ลุกขึ้นสู้ทวงสิทธิ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   


 


เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา คนงานบริษัทโฮย่ากลาสดิสก์(ประเทศไทย) รวมตัวกัน และได้จัดชุมนุมและเข้าชื่อคนงาน 3,286 คน ยื่นข้อเรียกร้องสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของคนงานโฮย่ากลาสดิสก์ เพื่อเปลี่ยนสภาพการจ้างที่เอารัดเอาเปรียบคนงานโฮย่ากลาสดิสก์ 


 


บริษัทโฮย่ากลาสดิสก์นั้น ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดลำพูน เมื่อปีพ.ศ. 2538 บริษัทนี้เจ้าของเป็นคนสัญชาติญี่ปุ่น ที่เข้ามาลงทุนทำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็คโทนิค


 


ยื่นข้อเรียกร้องทวงสิทธิกรรมกรตามกฎหมาย


แถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของคนงานระบุว่า  การยื่นข้อเรียกร้องเป็นวิธีการที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ปี พ.ศ. 2518 เพื่อให้ลูกจ้างได้ใช้สิทธิของตนเองในการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น และเป็นธรรมต่อลูกจ้างมากขึ้น


 


เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทโฮย่ากลาสดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้มีการปรับค่าจ้าง รวมถึงการปรับสวัสดิการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันภาวะค่าครองชีพของพนักงานสูงมากขึ้น  อาทิเช่น ค่าน้ำมัน ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ในขณะที่บริษัทฯ ไม่ได้มีการปรับค่าน้ำมันให้กับพนักงานมานานหลายปีแล้ว 


 


การปรับอัตราค่าจ้างในแต่ละปีก็ไม่สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น อีกทั้งการปรับอัตราค่าจ้างประจำปีก็ไม่ได้มีมาตรฐานที่ชัดเจน ทำให้มีความเหลื่อมล้ำ และไม่เป็นธรรมกับพนักงาน และที่สำคัญ บริษัทฯ ยังได้มีความพยายามที่จะตัดสวัสดิการที่เคยให้พนักงานมาตลอด คือค่ายืน ซึ่งมีความพยายามหลาย ๆ อย่างเพื่อให้พนักงานเซ็นต์ชื่อยินยอมให้บริษัทฯ ตัดค่ายืนให้ได้ ซึ่งการกระทำดังนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างเป็นอย่างมาก 


 


การทำงานท่าเดียว เช่น ยืนทำงาน ส่องกล้องทำงานเพื่อทำงานในรายละเอียดขนาดเล็กของอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ และไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้พนักงานมีปัญหาสุขภาพ มีความเครียดจากการทำงาน ดังนั้น การเรียกร้องของพนักงานในครั้งนี้ ก็เพื่อเปิดการเจรจากับทางบริษัทในการปรับสวัสดิการ และกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับการทำงานของพนักงานมากขึ้น


นอกจากนี้แล้ว  พนักงานได้รับการบีบคั้น และกดดันในการทำงานมาตลอด เช่น กฎระเบียบในการทำงาน และสวัสดิการที่เคยได้รับก็จะถูกตัดออกไป โดยที่พนักงานไม่สามารถที่จะต่อรองอะไรได้ จึงเป็นที่มาให้พนักงานต้องออกมาเรียกร้อง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป  รายได้จึงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพราะต้องทำงานล่วงเวลาจาก 8 ชั่วโมง เพิ่มเป็นวันละ 12 ชั่วโมง     


จากสภาพปัญหาดังกล่าวนั้น ล้วนสะท้อนถึงความแปลกแยกของชนชั้นคนงานผู้ใช้แรงงานทำการผลิตที่ต้องทำงานด้วยความจำเจซ้ำซาก แต่ไร้ซึ่งความมั่นคงของชีวิต ไร้ซึ่งสวัสดิการพื้นฐาน  ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจใดๆทั้งสิ้น เป็นการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงของระบบทุนนิยมภายใต้การแสวงหากำไรสูงสุดของนายทุน


อย่างไรก็ตาม  การยื่นข้อเรียกร้องของพนักงานนั้นได้มีการคุ้มครองทางกฎหมายไว้คือ  มาตรา 31 ในพรบ. แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 บัญญัติไว้ว่า "เมื่อมีการยื่นข้อเรียกร้องแล้ว ...ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย ...ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง หรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง...." 


มาตรา 121 ในพรบ. แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 บัญญัติไว้ว่า "ห้ามมิให้นายจ้าง (1) เลิกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นผลให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง .... ไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้าง หรือสหภาพแรงงานได้ชุมนุมทำคำร้อง ยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา....."


การต่อสู้ของคนงานโฮย่าในครั้งนี้  จึงเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนทุกสาขาอาชีพรวมกลุ่มกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ของตนเองได้เหมือนดั่งเช่นการรวมกลุ่มกันของสมาคมหอการค้า  สมาคมนายธนาคาร  สมาคมนายจ้าง ฯลฯ


เสียงของมวลกรรมกรในครั้งนี้หาใช่เสียงอ้อนวอนขอความปราณี                                           


แต่เป็นเสียงเพื่อเรียกร้องสิทธิ์เสรีที่ถูกย่ำยี่กดขี่มานาน !!


 


ข่าวประชาไทต่อเนื่อง


พนักงานโรงงานโฮยานิคมลำพูนยื่นข้อเรียกร้อง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ, ประชาไท, 11/12/2550


คนงานนิคมจ.ลำพูนรวมใจสู้-ร้องนายจ้างปรับปรุงสวัสดิการ-สภาพการทำงาน, ประชาไท, 12/12/2550


คนงานโฮยาชุมนุมรอฟังการเจรจานัดแรก แต่ผลยังไม่คืบหน้า, ประชาไท, 14/12/2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net