Skip to main content
sharethis



หมายเหตุ : การนำเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ความยากจน แรงงาน และสวัสดิการ: โจทย์สำหรับรัฐและชุมชน" จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2550 ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.


 


หัวข้อเสวนาในช่วงเช้า คือ "แรงงานและสวัสดิการแรงงาน: สภาพปัญหา สถานะความรู้ และทางออก"


การนำเสนอในประเด็นต่างๆ ได้แก่ "แรงงานนอกระบบ" โดย ผศ.ดร.วัชรียา โตสงวน คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "แรงงานข้ามชาติ" โดย ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "คนจนในชุมชนเมือง" โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ., "สวัสดิการแรงงาน" โดย ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มธ., "ระบบประกันสังคม" โดย อภิชาต สถินิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.


 


หัวข้อเสวนาในช่วงบ่าย คือ "สวัสดิการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน: สภาพปัญหา สถานะความรู้ และทางออก" มีการนำเสนอประเด็น ได้แก่ "มาตรการทางการคลังเพื่อคนยากจนและด้อยโอกาส" โดย ศ.ดร.ปราณี ทินกร คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม" โดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "การคลังท้องถิ่นกับสวัสดิการสังคม" โดย รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ" โดย รศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "นโยบายสังคมและสวัสดิการสังคม" รศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุล คณะสังคมสังเคราะห์ศาสตร์ มธ., "องค์กรการเงินชุมชน" โดย คุณภีม ภคเมธาวี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


 


ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.


 


ทั้งหมดนี้ "ประชาไท" จะทยอยนำเสนอ โปรดติดตาม


 


 


 


 


ดร.กิริยา กุลกลการ นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอเกี่ยวกับ "แรงงานข้ามชาติ" เสนอให้มีการกระจายอำนาจในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากที่ผ่านมาประจักษ์ชัดแล้วว่า รัฐบาลยังค่อนข้างอ่อนหัดอยู่มากต่อการจัดการปัญหา ไม่มีนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน และเปลี่ยนไปทุกครั้งทุกปี เมื่อถึงเวลาต่ออายุค่อยมาคิดว่าจะจัดการอย่างไรดี ผู้ปฏิบัติเองก็ไม่มีความเคร่งครัดพอในการจัดการ ถ้ามีการจับกุมการคอรัปชั่นที่เป็นอยู่ ปัญหาอาจจะดีกว่านี้ บางทีรัฐบาลอาจจะต้องกำหนดนโยบายระยะยาวออกมากลางๆ อันหนึ่ง แล้วกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้จัดการกันเอง เพราะมันมีลักษณะเฉพาะตัวในแต่ละจังหวัดอยู่


 


นอกจากนี้ ในเรื่องที่กังวลกันว่า แรงงานข้ามชาติอาจจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและอัตราค่าจ้างของแรงงานไทยนั้น ดร.กิริยาชี้ว่า ผลการศึกษาจากหลายสถาบันให้คำตอบที่ไม่ตรงกันนัก อย่างไรก็ดี ในงานวิจัยของเธอ ที่ได้ศึกษาและทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ "The "Impact of Immigration on Labor Market Outcomes and Foreign Direct Investment (2007)" ตอบโจทย์นี้ว่า การเข้ามาของแรงงานข้ามชาิตินั้น ไม่พบว่ามีผลต่อการลดค่าจ้างของแรงงานไทย


 


 


 


000


 


"แรงงานข้ามชาติ"


ดร.กิริยา กุลกลการ


คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.


 



 


 


 


แรงงานข้ามชาติเข้ามาสมัยที่เศรษฐกิจของเราเติบโต ตั้งแต่ปี 1900 ลงมา และต้องการคนงานมากขึ้น เราจึงเริ่มมีแรงงานเข้ามาในประเทศของเรา ปัจจุบันเรายังไม่มีตัวเลขชัดเจนของจำนวนแรงงานข้ามชาติ ถ้าฟังจากทีดีอาร์ไอก็จะอยู่ที่ 1.2 ล้าน ถ้าฟังจาก ILO ก็จะอยู่ที่ 1.8 ล้าน ถ้าฟังจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็จะอยู่ที่ 2 ล้าน หรือถ้าฟังจากรายการชีพจรโลกของคุณสุทธิชัย หยุ่น ก็จะอยู่ที่ 2.5 ล้าน


 


ในจำนวนนี้ มีจำนวนแรงงานที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมดประมาณ 7 แสน แต่ตัวเลขขึ้นทะเบียนก็ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แล้วแต่นโยบายของรัฐบาล ถ้าเคร่งครัดมากก็จะมีจำนวนคนขึ้นทะเบียนมาก ซึ่งไม่ได้สะท้อนจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่จริงในประเทศไทย


 


ลักษณะแรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ มาจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้านของเรา คือ พม่า ลา่ว กัมพูชา โดย 90% ของแรงงานเหล่านี้มาจากประเทศพม่า ซึ่งหากเราคิดว่ามีแรงงานข้ามชาติอยู่ประมาณ 1.8 ล้านนั้น แรงงานข้ามชาติจะคิดเป็นแรงงาน 5-6% ของกำลังแรงงานในไทย ซึ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ นับแต่ปี 1997 ซึ่งมีจำนวนราว 2%


 


เหตุผลของการเข้ามาของแรงงานนั้น เข้ามาด้วย 2 เหตุผลใหญ่คือ การเมือง และเศรษฐกิจ


 


เหตุผลด้านการเมืองก็ชัดเจนมากในเรื่องของพม่า ส่วนเหตุผลทางเศรษฐกิจก็ถือว่าทั้งสามประเทศนี้จนกว่าประเทศไทยค่อนข้างมากมากเมื่อเทียบค่าจีดีพีต่อหัว


 


แรงงานข้ามชาติไม่ได้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ แต่จะกระจุกตัวหนาแน่นในจังหวัดแนวชายแดน เช่น ตาก แม่สอด แม่สาย ระนอง และเข้ามาในกรุงเทพฯ และสมุทรสาคร ซึ่งมีอุตสาหกรรมใหญ่


 


สังเกตได้ว่าเขาจะเดินทางไปในจังหวัดที่มีความต้องการแรงงานอยู่ ถ้าจังหวัดในภาคอีสานจะไม่ค่อยมีแรงงานต่างด้าวอยู่เท่าไร


 


แรงงานต่างด้าวจะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรม 4 ประเภท ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยไม่ค่อยทำกันแล้ว คือ อุตสาหกรรมเกษตร 25% (เมื่อเทียบกับแรงงานไทย แรงงานไทยยังอยู่ในภาคเกษตร 40% ของกำลังแรงงาน) ประมง 15% (เทียบกับคนไทย ทำประมงประมาณ 2% ของกำลังแรงงาน) ก่อสร้าง 14% (เทียบกับแรงงานไทยซึ่งมี 6% ของกำลังแรงงาน) และทำงานในบ้าน เป็นคนรับใช้ ซึ่งพบว่ากว่าครึ่งของคนทำงานบ้าน เป็นคนต่างด้าว


 


ค่าจ้างของแรงงานเหล่านี้ บางอุตสาหกรรมได้เป็นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่จากรายงานหลายๆ ที่ก็ชี้ว่า แรงงานเหล่านี้ได้ค่าจ้างค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ทำให้นายจ้างอยากจ้างงานแรงงานเหล่านี้


 


ถ้าเราดูตั้งแต่ต้นถึงนโยบายของแรงงานต่างด้าว ประเทศไทยไม่เคยมีนโยบายที่จะรับคนงานไม่ว่าจากชาติไหนก็ตาม เข้ามาทำงานไร้ฝีมือ จะมีก็แต่กฎหมายที่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานได้ใน 27 อาชีพ แต่เมื่อมีจำนวนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมากขึ้นในประเทศไทย รัฐบาลก็เริ่มอ่อนตาม โดยเริ่มเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 1992 เปิดที่จังหวัดชายแดนก่อน จนปี 1993 ก็เปิดที่จังหวัดชายฝั่งทะเลต่างๆ เริ่มเปิดมากขึ้นประมาณ 37 จังหวัดใน 7 อุตสาหกรรม


 


หลังปี 1993 มา ไม่มีการจดทะเบียนใหม่ มีแต่การต่ออายุ จนมารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่มีการเปิดการจดทะเบียนครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ไม่จำกัดอาชีพ นโยบายก็คือต้องการควบคุมแรงงานเหล่านี้ ให้รู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน ทำให้เรามีข้อมูล และค่อนข้างเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงนั้น


 


หลังปี 2001 ก็เปิดให้ต่ออายุเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันก็มีแรงงานลักลอบเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ในเรื่องการจับกุม การปกป้องชายแดน ป้องกันคนเข้ามา ก็ปัญหาอยู่ตลอด และมีปัญหาเรื่องการคอรัปชั่น


 


พอปี 2003 มีนวัตกรรมใหม่ คือ เราทำ MOU กับประเทศลาว กัมพูชา และพม่า นโยบายคือเราต้องการที่จะนำเข้าแรงงานเหล่านี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คือ ออกพาสปอร์ตให้ ทำวีซ่าให้ และนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย แรงงานที่มีอยู่ก็พยายามส่งกลับ พยายามตรวจพิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะกัมพูชาและลาว เราจะพยายามจับกุมคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน แล้วพิสูจน์สัญชาติ แล้วส่งกลับแล้วให้เข้ามาใหม่โดยการไปขอพาสปอร์ต ทำเรื่องให้ถูกต้องตามกฎหมาย


 


กรณีนี้ทำได้ค่อนข้างดีกับลาวและกัมพูชา แต่กับพม่านั้นมีปัญหามากในการตรวจพิสูจน์สัญชาติ เพราะคนพม่าส่วนใหญ่เป็นคนมอญ เมื่อจับได้แล้ว คนพม่าเองก็ไม่ยอมรับว่าคนกลุ่มนี้เป็นพม่า ก็ไม่สามารถทำการพิสูจน์สัญชาติได้


 


ส่วนกรณีลาวและกัมพูชา แม้จะพิสูจน์สัญชาติได้ แต่ปัญหาคือมันมีต้นทุนค่อนข้างสูงมาก ถ้าเอาคนกลับออกไป เขาต้องไปทำพาสปอร์ต เดินทางเข้าเมืองหลวง แล้วยังต้องจ่ายเงินให้หน่วยงานที่ได้รับสัมปทานในการหาคนเข้าประเทศไทย เมื่อเข้ามาประเทศไทยก็ต้องมาเสียอีกรอบ มาตรวจสุขภาพ เสียค่าใบอนุญาตทำงาน เบ็ดเสร็จใช้เงินราว 3 หมื่นบาท และใช้เวลา 3 เดือนในการทำเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้เข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย


 


ในขณะที่เปรียบเทียบกับคนที่เข้ามาผิดกฎหมาย เขาจ่ายแค่ไม่เกิน 7 พันบาท และสามารถเข้ามาได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ ฉะนั้นมันจึงง่ายกว่าที่จะเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ในขณะที่รัฐบาลไทยหรือตำรวจทหารเองก็ไม่ได้ตรวจสอบอย่างเคร่งครัด การจะเข้ามาถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมายก็ไม่ต่างกัน แรงงานก็ไม่ได้กลัวอะไรมากมาย นายจ้างก็ไม่ได้กลัว


 


MOU นี้พยายามจะใช้ แต่ไม่สำเร็จมากนัก มีคนเข้ามาภายใต้ MOU เพียงแค่ไม่กี่พันคนเท่านั้น ปีนี้รัฐบาลก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี จะเปิดขึ้นทะเบียนอีกรอบดีไหม เพราะที่ผ่านมา จากการขึ้นทะเบียนครั้งแล้วครั้งเล่า ข้อมูลก็ยังไม่ดี ปัญหาคือ ชื่อของแรงงาน เช่นแรงงานพม่าก็อาจจะมีแค่ชื่อ ไม่มีสกุล ก็เป็นปัญหาในการเก็บข้อมูลของไทย บางทีนายจ้างก็ไปตั้งชื่อไทยให้ใหม่ ซึ่งเขาก็จำชื่อไทยไม่ได้ พอครั้งหน้าจดทะเบียนใหม่ก็จำไม่ได้ ดังนั้น ข้อมูลของการจดทะเบียนเหล่านี้เลยใช้ไม่ได้เลย ขณะเดียวกันก็มีคนลักลอบเข้ามาเยอะมากขึ้นด้วย


 


ถ้าเราดูนโยบายของรัฐบาล รัฐบาลก็ยังค่อนข้างอ่อนหัดอยู่มากต่อการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ไม่มีนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน และเปลี่ยนไปทุกครั้งทุกปี เมื่อถึงเวลาต่ออายุค่อยมาคิดว่าจะจัดการอย่างไรดี ผู้ปฏิบัติเองก็ไม่มีความเคร่งครัดพอในการจัดการ ถ้ามีการจับกุมการคอรัปชั่นที่เป็นอยู่ ปัญหาอาจจะดีกว่านี้


 


บางทีรัฐบาลอาจจะต้องกำหนดนโยบายระยะยาวออกมากลางๆ อันหนึ่ง แล้วกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ท้องถิ่นจัดการกันเอง เพราะมันมีลักษณะเฉพาะตัวในแต่ละจังหวัดอยู่ อย่างระนอง สมุทรสาคร เขามีโมเดลของเขาเองในการจัดการ ควบคุมแรงงานต่างด้าว


 


เช่น ผู้ว่าฯ ระนอง มีการให้ป้ายชื่อแก่แรงงานต่างด้าว แม้จะเข้ามาผิดกฎหมาย แต่ทางกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงแรงงานบอกว่านั่นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำไมไม่จับกุมแล้วจัดการตามกฎหาย ทางสมุทรสาครก็มีโมเดลของเขาเอง


 


บางทีอาจจะต้องมีนโยบายกลาง แล้วกระจายอำนาจให้ทางจังหวัดจัดการกันเอง ต้องพิจารณาถึงการดำเนินการให้เป็นไปตามที่เราตกลงกัน


 


ในเรื่องกฎหมาย ปัจจุบันไทยไม่มีกฎหมายแรงงานต่างด้าว บางประเทศมี เช่นที่ไต้หวัน ที่มีกฎหมายแรงงานต่างด้าวแยกเฉพาะจากแรงงานของเขาเอง คือถ้าขึ้นทะเบียนแล้วก็เข้าระบบประกันสังคมได้่


 


ทางฝ่ายประกันสังคมเองก็ไม่อยากรับแรงงานต่างด้าวเข้าระบบประกันสังคม ก็ยังมีปัญหาเหล่านี้อยู่


 


เรื่องการจัดสวัสดิการ การคุ้มครองสิืทธิแรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติไม่สามารถรวมตัวกันตั้งเป็นสหภาพ แต่มีเอ็นจีโอที่ช่วยแรงงานเหล่านี้อยู่ ซึ่งไม่แน่ใจว่าช่วยมากเกินไปหรือเปล่า


 


ทางกระทรวงแรงงานแม้จะมีกรรมการกลุ่มต่างๆ ที่พยายามจัดการ และบริหาร แต่ก็ไม่มีกลุ่มที่เข้ามาดูแลจัดการแรงงานเหล่านี้


 


เรื่องการศึกษา ลูกของแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียน จริงๆ แล้วตามกฎหมายสามารถเข้าเรียนได้ แต่ไม่มีประกาศนียบัตร ล่าสุด เด็กทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้าเรียนได้ แต่ก็ปรากฏว่าเด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้เข้าเรียน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องภาษา หรือไม่รู้ว่ามีสิทธิส่งลูกเข้าเรียน หรือมีปัญหาเรื่องไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียน แม้จะมีการศึกษาฟรีก็ตาม


 


เรื่องทัศนคติ ความกังวลของคนไทย ต่อเรื่องแรงงานข้ามชาติ ยังมีอยู่บ้าง ไม่ว่าจะปัญหาเรื่องอาชญากรรม มีปัญหาเรื่องการใช้บริการของโรงพยาบาล ซึ่งมีการศึกษาของอ.กฤตยา ... ที่พบว่า จริงๆ แล้วแรงงานข้ามชาติเสียค่าขึ้นทะเบียนเมื่อเทียบเป็นภาษีแล้ว มากกว่าที่เขามาใช้ประโยชน์จากโรงพยาบาลเสียอีก เพราะเขาไม่รู้ว่ามีสิทธิ์ หรือไม่สามารถสื่อสารกับหมอพยาบาลได้


 


โพลล์ของเอแบค บอกทัศนคติของคนไทยว่า 83% เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติมีผลในการลดค่าจ้าง 59% คิดว่ารัฐบาลไม่ควรนำเข้าแรงงานข้ามชาติให้จำนวนเพิ่มขึ้นอีก 80% จดจำข่าวอาชญากรรมร้ายแรงต่างๆ ที่แรงงานข้ามชาติทำ และมีเพียง 10% ที่คิดว่าควรนำเข้าแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น


 


ในส่วนที่ได้ทำการศึกษาในวิทยานิพนธ์นั้น ศึกษาว่า แรงงานข้ามชาติมีผลอย่างไรต่อตลาดแรงงานไทย มีผลอย่างไรต่อค้าจ้างและการจ้างงานของคนไทย ตามทฤษฎีแล้ว ถ้าแรงงานเหล่านี้มีทักษะเหมือนแรงงานไทยเขาจะเข้ามาทดแทน แรงงานก็จะชุกขึ้น อุปทานมากขึ้น ค่าจ้างต่ำลง แต่ถ้าแรงงานไม่เหมือนกัน แรงงานข้ามชาติก็จะเข้ามาทำงานเสริมแรงงานที่มีทักษะในไทย แรงงานเหล่านี้ก็จะได้ประโยชน์ ค่าจ้างก็จะสูงขึ้น นี่เป็นตามทฤษฎี


 


ในการศึกษา ถ้าเราดูตลาดแรงงานอเมริกา สัดส่วนของแรงงานต่างชาติของอเมริกาสูงกว่าของไทยมาก เขาไม่พบปัญหาว่าแรงงานข้ามชาติทำให้ค่าจ้างลดลง หรือทำให้การตกงานของคนอเมริกันลดลง งานศึกษาจำนวนมากมายไม่พบปัจจัยทางลบต่อตลาดแรงงานอเมริกัน


 


สำหรับของไทยเอง ทีดีอาร์ไอทำการศึกษาพบว่าแรงงานซึ่งมีอยู่ 2% ของกำลังแรงงาน หรือราว 7 แสนคน มีผลในการลดอัตราค่าจ้าง 3.5% ทางสภาพัฒน์ (สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) พบว่ามีผลในการลดอัตราค่าจ้าง 0.4% คือไม่เยอะมาก และล่าสุด งานวิจัยของอาจารย์ที่มหิดลก็พบว่ามีผลในทางลบต่อค้าจ้างของไทย แต่การศึกษาจากวิทยานิพนธ์เองไม่พบว่ามีผลต่อการลดค่าจ้าง


 


ข้อจำกัดของการศึกษาคือ มีข้อมูลน้อยมาก ข้อมูลที่ใช้ก็มาจากข้อมูลที่ได้จดทะเบียน ขึ้นทะเบียนไว้ ทางสำนักงานสถิติพยายามทำสำมะโนอยู่ พยายามรวบรวมให้ครอบคลุมถึงแรงงานต่างด้าวให้มากขึ้น ปัญหาคือแรงงานเหล่านี้ไม่อยากทำแบบสำรวจ มันเป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และข้อมูลที่ได้จากการขึ้นทะเบียนก็ยังเป็นปัญหาอยู่


 


ในช่วงท้าย มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันเพิ่มเติม โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ค่าแรงแรงงานพม่าถูกกว่าแรงงานคนไทย คนไทยจะได้ค่าจ้างประมาณ 120 บาท แต่คนงานพม่าได้ประมาณ 60 -90 บาท เรื่องนี้น่าสนใจในมุมมองแง่ของสิทธิ ขณะเดียวกัน เรื่องสิทธิของคนไทยที่จะมีโอกาสในการเข้าถึงการจ้างงานก็ต้องคำนึงถึงเช่นกัน


 


ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มธ. กล่าวว่า คำถามสำคัญตอนนี้ สังคมไทยจะมีทัศนคติอย่างไรต่อแรงงานข้ามชาติ เพราะมันเกี่ยวข้องกับนโยบายที่เราจะจัดการ การมีแรงงานข้ามชาติเข้ามามากนั้น ความจริงมาจากแรงผลักดันทางเศรษฐกิจที่นำเข้ามาแทนแรงงานไทย และเป็นแรงงานราคาถูก และไม่มีอำนาจการต่อรอง


 


นักวิชาการจากสำนักบัณฑิตอาสาสมัครกล่าวต่อไปว่า เมื่อเราต้องการประโยชน์จากเขา สิ่งที่จะตอบแทนให้เขาจะเป็นอย่างไร ปัจจุบันเราพบว่าภาพของแรงงานข้ามชาติที่ถูกเสนอผ่านสื่อเป็นภาพที่ค่อนข้างแย่ ถามว่ามีจริงหรือไม่กับกรณีที่แรงงานข้ามชาติฆ่านายจ้าง ตอบว่า..มี แต่ถ้าเทียบสัดส่วนนั้นจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด..อาจจะไม่ถึง 1% ขณะที่ภาพส่วนใหญ่ไม่ถูกนำเสนอ นำเสนอเฉพาะในภาพลบซึ่งมีผลต่อทัศนคติ ที่มีการมองว่าแรงงานข้ามชาติสกปรก มีเชื้อโรค ยังมีอีกภาพหนึ่งด้วยคือการที่แรงงานข้ามชาติอยู่ในชุมชนแล้วเขาถูกกระทำในการใช้ชีวิตในชุมชน เช่น เขาเช่าบ้านอยู่แล้วถูกโจรเข้าไปจี้ถึงในที่พักแล้วเขาจะไม่กล้าไปแจ้งตำรวจ ส่วนคนในชุมชนจะไม่สนใจเพราะมองเป็นคนอื่น หรือเมื่อนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างแล้วรู้ว่าเขาเป็นแรงงานข้ามชาติก็ถูกบังคับให้จ่ายเงิน ถ้าไม่จ่ายจะนำไปส่งโรงพัก นี่เป็นอีกภาพ อยู่ที่ว่าเราจะมองเขาด้วยทัศนะแบบไหน และจะจัดการอย่างไรในระยะสั้นและระยะยาว มันมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนอยู่


 


ดร.กิริยา กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องพึ่งแรงงานข้ามชาติ แต่เป็นเรื่องยาก หลายประเทศไม่ยอมเปิดและมีปัญหาสังคมวัฒนธรรมที่ซับซ้อนตามมา เรื่องอาชญากรรมไม่มีข้อมูลสถิติชัดเจน แต่ความเชื่อของคนไทยบางส่วนมองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นคนโหดร้ายโดยไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าเขาก่ออาชญากรรมเยอะกว่าคนไทยหรือไม่ เรื่องลูกแรงงานข้ามชาติที่เชื่อว่ามีเยอะนั้น สถิติก็พบว่าไม่ได้มีอัตราที่แตกต่างไปกับคนไทย ยังมีภาพที่ผิดๆ บิดเบือนอยู่ นอกจากนี้ เรื่องภาพที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ แต่ละที่ก็ต่างกัน แม่สอดก็แบบหนึ่ง สมุทรสาครก็แบบหนึ่ง การแก้ปัญหาจะกำหนดเป็นนโยบายครอบจักรวาลเหมือนปัจจุบันไม่ได้ จะต้องลงไปดูพื้นที่แล้วกำหนดนโยบายต่างๆ


 


 


รายงานอื่นๆ ที่น่าสนใจ :


นฤมล นิราทร : แล้ว "คนจน" ก็จะ "จน" ต่อไป ?


วัชรียา โตสงวน: คนส่วนใหญ่ไร้สวัสดิการ! ไม่ใช่เรื่องต้อง"ช่วยเหลือ"แต่คือความบกพร่องที่ต้อง"แก้ไข"


ปราณี ทินกร : ดู "ความจริงใจ" ของรัฐบาลได้จากงบประมาณที่ใช้ในการแก้ปัญหาของ "ประชาชน"


มัทนา พนานิรามัย : สังคมจะเตรียมตัวอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ได้อย่างมี "คุณภาพ" ?


ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ : แรงงานนอกระบบก็มีบำนาญได้ : แนวทางสวัสดิการ "การออมพันธมิตร" รัฐ+ชุมชน


นภาพร อติวานิชพงศ์ : ชุมชนแรงงานเป็นโต้โผ แล้วรัฐสนับสนุน - ทางออกการจัดการสวัสดิการสังคม


 


 


ชมเทปบันทึกงาน เสวนา "ความยากจน แรงงาน และสวัสดิการ: โจทย์สำหรับรัฐและชุมชน"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net