Skip to main content
sharethis

6 ธันวาคม 2550  มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เดินทางสู่วัดวชิรธรรมสาธิต แม้จะเป็นคืนแรกของการสวดอภิธรรมศพ แต่ผู้คนจากหลากหลายแวดวงต่างหลั่งไหลมารวมกันที่นี่ เพื่อร่วมรำลึก ไว้อาลัย หรือกระทั่งทักทายกับเธอผู้เป็นที่รักของพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย


 


 


ต่อจากนี้คือ "มด" ในความทรงจำของใครหลายๆ คน


 


 


0000


 


 


 


เริ่มรู้จักอาจารย์วนิดาตั้งแต่ปี 2532 เมื่อครั้งที่มีการเริ่มสร้างเขื่อนปากมูล และได้ต่อสู้ร่วมกัน เขาติดดินเหมือนกับพี่น้องเรา ประทับใจที่เขามาร่วมต่อสู้กับเรา ไม่ว่าจะอยู่อย่างไรเขาก็อยู่ได้ กินอะไรก็กินด้วยกัน


 


ชาวบ้านก็นับถือเขา แม้พวกเราเป็นเพียงชาวบ้านแต่เขาก็ไม่ถือตัว ไปร่วมกับเราด้วยตลอด ไปยังไงก็ไปด้วยกัน มีการปรึกษาหารือคุยกันโดยที่เขาไม่ได้เป็นคนสั่งการให้ทำอย่างนี้อย่างนั้น แต่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันว่าทำอย่างนี้ดีไหม ถ้าทำอย่างนี้พอทำได้ไหมพี่น้อง เขาคือคนที่พาพี่น้องต่อสู้


 


อาจารย์วนิดาเข้ามาร่วมในการคัดค้านการสร้างเขื่อนมาด้วยกันตั้งแต่ต้น แต่มันก็ยั้งไม่อยู่แล้ว ในสมัยนั้นมันเป็นช่วงที่มีกฎอัยการศึก จึงตกลงเป็นว่าเรียกร้องค่าชดเชยที่จะมีการเวนคืนให้ได้บ้าง พี่น้องจึงหันมาร่วมกันเยอะขึ้นเพราะศรัทธาในการกระทำของอาจารย์วนิดา และสิ่งที่พี่น้องได้มานั้น ถ้าไม่มีการต่อสู้ก็คงไม่ได้อะไรเลย


 


พี่น้องเราไม่รู้วิธีการต่อสู้ เขาก็พาไปเรียนรู้ไปสัมมนา พวกเราจะได้กล้ารักษาสิทธิตัวเอง


 


เมื่อก่อนชาวบ้านจะกลัวเจ้ากลัวนาย หากรู้ว่าเจ้านายจะเข้ามาจับกุม ชาวบ้านก็จะหยุดการเคลื่อนไหว อาจารย์วนิดาจึงพาชาวบ้านไปสัมมนาไปเรียนรู้กับคนที่มีประสบการณ์มาก่อน เราจึงได้กล้ารักษาสิทธิตัวเอง จากที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไร


 


สิ่งที่ชาวบ้านทำต่อรัฐบาล ต่อเจ้าต่อนาย เป็นเหมือนตีนช้างเหยียบปากนก ตีนครกเหยียบปากสาก (คนที่ใหญ่กว่าเหยียบย่ำคนที่เล็กกว่า) เขาว่าอย่างไรมาเราก็ว่าอย่างนั้น เขาว่าจะสร้างอะไรก็ให้เขาสร้าง แต่อาจารย์วนิดาได้สอนให้พวกเรารู้จักรักษาสิทธิของเรา มรดกตกทอดของเรา สิ่งแวดล้อมของเรา เกาะแก่งธรรมชาติของเรามันเป็นอะไรที่สวยงาม เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องอนุรักษ์ไว้ การจะทำอะไรต้องมีการพูดคุยกัน


 


ในพื้นที่เองก็มีความคิดที่หลากหลาย บางคนก็ไม่ต้องการที่นา พูดง่ายๆ ว่าเขาไม่พอใจกับที่นาที่มีอยู่ เพราะผลผลิตที่ได้มันไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อเขาไม่พอใจก็ขายให้กับการไฟฟ้าเพื่อจะได้เงิน ต่อมาชาวบ้านในส่วนนั้นก็หันมาหาเราเพราะไม่ได้รับการชดเชย จากที่เคยมีการพูดคุยกันในครั้งแรกๆ ว่าในเบื้องต้นจะมีการชดเชยให้ครึ่งหนึ่งของราคาประเมินต่อไร่ ถ้าอาจารย์วนิดาไม่พาพวกเรามาต่อสู้เราก็ไม่รู้ว่าจะมารักษาสิทธิของเราได้อย่างไร ค่าชดเชยไร่ละ 30,000 บาท ถ้าเราไม่ต่อสู้ก็คงไม่ได้


 


เขาสามารถเรียกร้องพี่น้องให้เข้ามาหาทั้งๆ ที่รู้ว่ามีส่วนหนึ่งไม่อยากร่วมคัดค้าน อยากขายดิน ส่วนหนึ่งไม่สนใจกับดิน เพราะนาเขาเป็นนาขี้กระต่าย เป็นนาที่ได้ผลผลิตเพียงเล็กๆ น้อยๆ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่สุดท้ายเขาก็ยังมาหาเรา มาร่วมต่อสู้ด้วยกัน มาคัดค้านด้วยกัน


 




แม่ลำดวน เสระทอง


ชาวบ้านอำเภอโขงเขียม จังหวัดอุบลราชธานี


 


 


 


 


เราเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ปี 2517 เข้าธรรมศาสตร์ปีเดียวกัน เท่าที่ได้เป็นเพื่อนและทำงานร่วมกันมาตั้งแต่สมัยนักศึกษาจะเห็นว่าเขาเป็นคนมีความมุ่งมั่นในการทำงาน มีความชัดเจน เช่นตอนที่อยู่ธรรมศาสตร์ เขาก็จะไปช่วยกรรมกร ไปเรียนรู้ ไปอยู่ที่โรงงาน เพื่อดูว่ากรรมการเขาอยู่กันยังไง ค่าแรงถูกกดยังไง เพราะช่วงนั้นค่าแรงกรรมกรน้อยมากแค่วันละ 10 กว่าบาท


 


ส่วนในความทรงจำช่วงที่ทำงานเรื่องปากมูนด้วยกัน มดเป็นคนที่มีความชัดเจนในการทำงานกับผู้ยากไร้ กับชาวบ้าน เป็นคนที่ไม่กลัว เพราะคนที่เป็นเอ็นจีโอส่วนมากมักจะระมัดระวังเรื่องบทบาทที่จะไปสู้ร่วมกับชาวบ้าน แต่มดเขาชัดเจนมากที่จะไม่รีรอ เขาจะไปร่วมต่อสู้กับชาวบ้านเลย เขาอาจถูกฝ่ายตรงกันใส่ร้าย พูดในทางไม่ดี แต่ก็ไม่สนใจ นี่คือสิ่งที่มดเขาต่างออกไป เขาชัดเจนว่าเราต้องเป็นผู้ร่วมต่อสู้กับชาวบ้าน ปัญหาของชาวบ้านก็คือปัญหาของเราเหมือนกัน แม้ว่าคนอื่นจะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ถ้าชาวบ้านเข้าใจเราก็ทำงานร่วมกันต่อสู้ร่วมกันได้


 


เขาเป็นคนที่ดีมาก นอกจากช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว เพื่อนฝูงที่มีความทุกข์ใจก็คุยกับเขา เรานำสิ่งที่ได้รับในการทำงานร่วมกับเขามาใช้ในการทำงานของตัวเองอยู่เสมอ เช่น เขาจะบอกว่าในสถานการณ์นี้ เราแก้ปัญหาได้แค่นี้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องไปวิตกกังวลอะไร อาจจะแก้สำเร็จ ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ปัญหาเกิดแบบนี้ เราคิดได้แค่นี้ก็ทำไปแค่นี้ ไม่ต้องวิตกถึงวันหน้าอะไรมาก ทำวันนี้ให้ดีที่สุด


 


สิ่งสำคัญที่สุดที่หลงเหลือไว้ก็คือ การร่วมก่อตั้งสมัชชาคนจน ซึ่งมันเป็นการรวมคนเล็กคนน้อย เมื่อแยกกันพลังของเขามีน้อย มดช่วยทำให้ชาวบ้านมารวมกันเป็นพลังที่ใหญ่ขึ้นจากหลายๆ ปัญหา หลายๆ พื้นที่ เพื่อต่อรองกับผู้มีอำนาจ เรียกร้องความเป็นธรรม คงต้องพูดถึงประเด็นปากมูลด้วย เขาได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านจนประเด็นนี้เป็นประเด็นระดับโลก เป็นกรณีตัวอย่างที่นักนิเวศทั่วโลกนำไปศึกษา


 


 


วัชรี  เผ่าเหลืองทอง


กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือก


 


 


 


 


ตั้งแต่จำความได้ เขาเป็นคนที่ไม่ได้พักเลยนะ ทำกิจกรรมทำงานเพื่อสังคมมาตลอด เข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็ทำงานสายกรรมกรมาตลอด ช่วงมีปัญหาปากมูนแกก็ไปปากมูน และก็ไปในพื้นที่อื่นๆ ด้วย แกไปทุกที่


 


ถ้าพูดในมุมคนที่บ้านก็คือ ใช้งานแกหนักเกินไป แกแบกรับภารกิจของประชาชนทั่วประเทศที่มีปัญหาเดือดร้อน ใครๆ ก็ใช้บริการ ปรึกษาแกตลอด ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน พี่ๆ น้องๆ เข้าใจอยู่แล้ว แต่พ่อแม่เป็นห่วงมากโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ


 


เรามีพี่น้อง 7 คน แกสนิทกับน้องชายคนเล็กและน้องสาว แต่เราก็รับรู้ข่าวสารกันตลอดเวลา ปากมูนเวลามีเรื่อง พี่ๆ น้องๆ ก็ไปกันหมด เวลามาประท้วงกันที่ทำเนียบ พี่ๆ น้องๆ ก็เป็นหน่วยสนับสนุน เคยมีคนถามตอนพี่มดถูกกล่าวหาว่ารับเงินว่าไปรับเงินใครมา ก็บอกว่ารับเงินทางบ้าน รับเงินพี่น้อง เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราพอมีกำลังสนับสนุนเขาได้ก็สนับสนุน


 


ผมว่าเขาเป็นแบบอย่างของคนที่ยืนหยัดที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองคิด สิ่งที่ตัวเองเชื่อ และทำมันมาตลอดชีวิต คนแบบนี้มันหายาก แล้วตลอดที่ผ่านมามันพิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้ให้แท้จริง ไม่เคยเรียกร้องอะไร


 


ที่สำคัญที่สุดอีกอย่างคือเขาเป็นคนที่ปฏิเสธความรุนแรงด้วย การต่อสู้ของเขาใช้สันติวิธีมาโดยตลอด ไม่ว่าเขาจะถูกกลั่นแกล้งยังไง เขาก็อดทนมากพอที่จะให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ให้อีกฝ่ายเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง


 



วันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์


บรรณาธิการนิตยสารสารคดี


 


 


 


 


วนิดา เป็นคนซึ่งเกิดมาในตระกูลชนชั้นกลาง มีฐานะดีพอสมควร พี่น้องทุกคนมีการศึกษาดี บิดามารดาก็เป็นคนเชื้อสายจีน แต่ทั้งก๊กจงรักภักดีต่อเมืองไทย บ้านเมืองไทย และพี่น้องแทบทุกคนอุทิศชีวิตเพื่อสังคม แต่มดนี่แหวกแนวมากกว่าพี่น้องคนอื่นด้วยการเริ่มไปทำงานกับกรรมกรที่ถูกเอาเปรียบ เรียกว่าเป็นชนชั้นกลางรุ่นแรกที่ไปทำงานกับกรรมกรที่ถูกเอาเปรียบ หลังจากนั้นก็ไปทำกับชาวไร่ชาวนาปลายอ้อปลายแขม


 


สิ่งที่ต่างจากภาคประชาชนคนอื่นๆ คือ เขาเป็นชนชั้นกลางแต่มาอยู่กับชนชั้นล่างด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียนรู้จากชนชั้นล่างจนรู้ภูมิธรรมชาวบ้าน วัฒนธรรมชาวบ้าน พูดภาษาลาวอีสานไม่ได้แต่เข้าใจวัฒนธรรมลาวอีสานดีที่สุด แล้วคนอีสานทั้งหมดเคารพนับถือน้ำใจมด เขาไม่ได้ตั้งตัวเป็นผู้นำเลย เป็นที่ปรึกษาการชุมนุมต่างๆ ปรึกษาหารือกันโดยสามัคคีธรรม มีขันติธรรม แม้กระทั่งมาอยู่รอบๆ ทำเนียบ จะถูกรัฐบาลรื้อเต็นท์ รื้อบ้าน เขาก็ไม่เคยต่อสู้ด้วยความรุนแรง


 


เช่นเดียวกัน ปากมูนถูกรังแกร้อยแปด มดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาวบ้าน อันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราที่เป็นชนชั้นกลางน่าจะภูมิใจและน่าจะเอาอย่าง เพราะฉะนั้นการสูญเสียมดเป็นการสูญเสียที่สำคัญ และมดนั้นอย่านึกว่าเขาไม่เครียด เพราะส่วนมากมันไม่ได้รับชัยชนะ ส่วนมากแพ้ แต่เขาก็มีขันติธรรม และภายหลังเขามาเจริญสมาธิภาวนาเพื่อให้จิตใจสงบ ซึ่งทำให้หายเครียด


 


แม้มา 2 ปี หลังก็โดนโรคมะเร็งทำร้าย เขาก็เจริญภาวนา รู้เท่าทันโรคาพยาธิ พร้อมที่จะรับความตาย ผมไปเยี่ยมเขา 2 วันก่อนตาย ก็พูดให้เขาฟังเลยว่ามดได้ทำคุณงามความดีมาตลอดชีวิต มดจะไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ปล่อยไปตามความเป็นไปเช่นนั้นเอง จะอยู่หรือตายไม่สำคัญ พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ได้แปลว่าคนอายุยืนจะดีกว่าคนอายุสั้น คนที่มีอายุและมีพลังแห่งชีวิตในการรับใช้ผู้ยากไร้ ธรรมะย่อมจะชนะอธรรม แม้เวลานี้เรายังแพ้ ยังแพ้ผู้ฉ้อฉล แพ้นักการเมือง แพ้ผู้อยู่ข้างบน แต่วันหนึ่งเราจะชนะ ไม่มีที่จะเป็นอย่างอื่น ธรรมะย่อมชนะอธรรม มารจะต้องพ่ายแพ้ ไม่ว่ามารจะในรูปของไอ้หมักหรือมาในรูปทักษิณอะไรอย่างนี้ ก็แพ้ไปทั้งนั้น มดจะตายไปมีความสุข เพราะเขาได้ต่อสู้มาด้วยสันติวิธี  ด้วยอหิงสธรรม ด้วยสันติธรรม


 



สุลักษณ์ ศิวรักษ์


นักคิด นักวิชาการอาวุโส


 


 


 


 


ผมว่ามันสู้นะ แล้วมันไม่ค่อยคิดเรื่องส่วนตัวเท่าไหร่ มีอัธยาศัยที่กลมกลืนกับชาวบ้าน ค่อนข้างหายาก คนมันจะมีช่องว่างระหว่างตัวเองกับชาวบ้าน แต่ไอ้มดนี่มันเป็นเนื้อเดียว เวลาอยู่กับชาวบ้านมันไม่ค่อยแปลกแยก... ยกเว้นมันใส่แว่นนะ ถ้ามันไม่ใส่แว่นนี่..จะดูไม่ออกว่ามันเป็นคนนอกที่เข้าไปอยู่ท่ามกลางชาวบ้าน ถ้ามันไม่ใส่แว่นนี่.. การคุย อัธยาศัยกับพี่น้องมันกลมกลืนมาก มันสะท้อนวิธีคิดว่าไม่ได้แยกชนชั้น ไม่ได้แยกคนรวยคนจนหรืออะไร มันคล้ายๆ เป็นมนุษยนิยม ซึ่งกว่าจะถึงจุดนี้ได้ แต่ละคนมันยากนะ


 


ผมว่ายังมีหลายคนที่เหมือนมดนะ แต่ไม่อยากให้คิดถึงเฉพาะคนที่ตาย คนที่บุคลิกแบบมดยังมีอีกเยอะ เป็นผู้หญิงที่ยืนหยัด แต่วันนี้มดได้สร้างแบบอย่างที่น่าจะเป็นขวัญกำลังใจให้คนที่ยืนหยัดเพื่อสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ตายเปล่า


 


มดเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับคนทำงานเพื่อประชาชนที่ไม่ได้ทำงานเพราะว่าพรรคยังอยู่ อยากทำงานเพราะอยากเป็นใหญ่เป็นโต แต่อยากจะให้สิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝัน ให้คนที่เสียเปรียบได้มีสิทธิ์ มีเสียง มีโอกาส ในสิ่งที่สังคมเราใฝ่ฝัน ที่เขาใฝ่ฝัน เขาทำแบบนี้ตลอด เช่น นักการเมืองใฝ่ฝันอยากจะเป็นรัฐมนตรี เป็นผู้เลือกตั้ง แต่ความใฝ่ฝันของคนทำงานภาคประชาชนจะฝันอีกอย่าง และมดก็เป็นแบบอย่างตลอดมาไม่เคยเพี้ยน ไม่เคยยุ่งกับพรรคการเมือง ไม่เคยเข้าไปสังกัดคอกโน้นคอกนี้ สังกัดอย่างเดียว ชาวบ้านที่ไหนเดือดร้อน ไปที่นั่น ตอนพี่น้องประมงทางใต้มีปัญหาเรื่องเรือปั่นไฟมันก็ไป เรื่องท่อก๊าซก็ไป ชาวบ้านที่ไหนเดือดร้อนมันไปหมด


 


...มันไปดี เสียดายมันไปเร็วไปหน่อย มันยังทำอะไรได้อีกเยอะ...


 



บรรจง นะแส


ผอ.โครงการการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใ้ต้


 


 


 


 


รู้จักกับพี่มดมาตั้งแต่ปี 2533 แต่ไม่สนิทมาก ตอนนั้นเรายังเป็นเยาวชนในพื้นที่ปากมูน ช่วงนั้นเป็นช่วงสำรวจโครงการระเบิดแก่ง พี่มดแกเป็นนักศึกษาลงไปช่วย แกให้คำแนะนำให้กับเราเยอะ เมื่อก่อนเป็นคนไม่กล้าแสดงออกแกก็แนะนำ สร้างความมั่นใจให้กับเราจนเรากล้าพูด กล้าแสดงออก เริ่มมาสนิทกันจริงๆ ช่วงปี 2542 ที่ตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ช่วงนั้นอยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน ต่อสู้ร่วมกันมา


 


เราประทับใจคุณงามความดี แกเป็นคนมีประสบการณ์เรื่องนี้และพยายามถ่ายทอดวิธีคิด วิธีการทำงานให้ อย่างช่วงที่พี่มดไม่ค่อยลงมาพื้นที่เพราะไม่ค่อยสบาย ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าแกเป็นอะไร แม้แกไม่มาแล้วแต่เราก็คิดถึงเสมอว่าพี่มดเคยแนะนำไว้ยังไง มันเป็นสิ่งที่เตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถ้าภาษาอีสานเขาจะเรียกว่า ภูมิปัญญาในตัวเอง พี่มดถ่ายทอดมันให้ชาวบ้าน พี่ๆ น้องๆ ได้รับรู้มาโดยตลอด


 


ถ้าถามความรู้สึกคนปากมูน เสียพี่มดไปเราเสียใจมากๆ ไม่เคยมีที่จะเสียใจเท่านี้ แต่คนเราเกิดมาก็ต้องมีเจ็บ มีตาย แต่เราไม่คิดว่าพี่มดจะจากไปเร็วขนาดนี้ สำหรับพวกเรา เราคงสานต่อสิ่งที่ร่วมกันทำมาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีวันที่ปัญหาของพวกเราได้รับการแก้ไข


 



ทรรศมัย หวังผล


ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ในพื้นที่ปากมูน


 


 


 


 


รู้จักกันเมื่อปี 2534 -2535 หลังจากต่อสู้เรื่องเขื่อนน้ำโจน พี่มดก็ไปพูดเรื่องเขื่อนปากมูล ปี 2536 พี่ไปทำงานที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและไปทำงานกับชาวบ้านเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นเลยคุยกันเรื่องชาวบ้านที่มีผลกระทบจากเขื่อน ตอนหลังมีการคุยกันเรื่องการจัดเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนว่าจะมีแนวทางอย่างไรเมื่อปี 2537 เมื่อคุยกันหลายคน อย่างพี่สุวิทย์ วัดหนู เครือข่ายประมงภาคใต้ หรือคนอื่นๆ ที่เข้ามาด้วย เลยคิดว่าน่าจะเอามารวมกัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนที่ด้อยโอกาสก็คือคนจน จึงมาตั้งเป็นสมัชชาคนจนเมื่อวันที่ 8 เดือนธันวาคม ปี 2538


 


ในสมัชชาคนจน พี่มดก็เหมือนชาวบ้านคนหนึ่งที่แทบไม่ได้พัก อาทิตย์หนึ่งจึงจะกลับบ้าน ถึงแม้แกมีบ้านที่อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ค่อยได้กลับ บางทีเหมือนกับสภาพร่างกายไม่ค่อยได้พักผ่อน


 


หลังสมัชชาคนจนแล้ว บางครั้งชุมนุมที่ปากมูนต่อ ในช่วงเวลาชุมนุมมีหลายเรื่องที่พี่มดสอนพวกเรากับรุ่นน้องที่ทำงาน คือหนึ่งจะต้องฟังชาวบ้านและฟังข้อเสนอของชาวบ้าน อย่าเอาข้อเสนอของเราเป็นหลัก ชาวบ้านเท่านั้นที่เป็นผู้เจรจา เราไม่ได้เป็นผู้เดือดร้อน แต่เราเป็นผู้รู้ปัญหา ต้องวางที่ให้เป็นพี่เลี้ยงที่ดีแก่ชาวบ้านให้ได้ นี่คือสิ่งที่พี่มดทำให้เราเห็น


 


บางครั้งเวลาเจรจากับรัฐบาลมีการพบปะนักการเมือง พบปะรัฐมนตรี ทุกครั้งเวลาพบพี่มดจะวางตัวแบบระมัดระวัง คงเส้นคงวากับการเจรจา ปัญหาที่ต้องคุยคือจะทำอย่างไรให้แก้ไขปัญหาชาวบ้านให้ได้เร็ว พี่มดพยายามกำชับเราเสมอว่าเวลาทำอะไรอย่าไปคิดแต่หวังผลประโยชน์


 


รุ่นน้องหรือเพื่อนที่ทำงาน 40 -50 คน เอาพี่มดเป็นตัวอย่าง พี่มดไม่เคยบ่นว่าเหนื่อยให้พวกเราเห็น ที่พี่มดไม่สบาย พวกเราไม่รู้เลยว่าพี่มดไม่สบายมาตั้งแต่เมื่อไหร่ พวกเราแทบจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าพี่มดไม่สบายตอนไหน


 


สำหรับสิ่งที่พี่มดทิ้งเอาไว้ให้กับวงการสิ่งแวดล้อมคือ การต่อสู้ของชาวบ้านทุกครั้งที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างไร และทุกครั้งที่มีการเจรจาจะทำอย่างไรให้แก้ไขได้ และถ้าเป็นเรื่องของชาวบ้านจำเป็นต้องเร่งรีบ เป็นสิ่งที่พี่มดทำเป็นตัวอย่าง แต่ถ้าถามว่าสิ่งที่สังคมได้รับรู้อะไรมันอธิบายไม่ได้ มันมหาศาล เพราะกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับสมัชชาคนจนมีเป็นร้อยกรณีและมันแตกหน่อมากมาย ชาวบ้านก็ไปตั้งเป็นกลุ่มเยอะแยะ แต่ผลพวงทั้งหมดมันมาจากกรณีของเขื่อนปากมูล


 



หาญณรงค์  เยาวเลิศ


เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม/สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


  


 


 


 


 


เรารู้จักกันในท่ามกลางการต่อสู้ การประท้วงของกรรมกรผู้ใช้แรงงานในโรงงานต่างๆ โดยเฉพาะโรงงานทอผ้า เลยชวนมดมาอยู่ในวงกรรมาชนด้วย เพราะจิตใจที่เด็ดเดี่ยวไม่มีคำว่าถอย ไม่มีคำว่ายอมแพ้ ยังจำภาพเขาได้ดี


 


เขาเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาชนผู้ยากไร้โดยแท้ด้วยความสุขนิยม ผมยังศึกษาจากมดอยู่เสมอว่าทำอย่างไรในการอุทิศตัวเพื่อผองชนผู้ยากไร้จะไม่หดหู่ หรือเครียดกับมันในการทำเพื่อสังคม ผมถือมดเป็นแบบอย่าง


 


ชื่อเขาก็สมตัวแล้ว ผู้หญิงร่างเล็กๆ คนหนึ่ง กินน้อย บริโภคน้อย อยู่กับชาวบ้าน ไม่แสแสร้ง ไม่จอมปลอม มันหายากมากแม้แต่ในหมู่คนที่ต่อสู้ในภาคประชาชนก็ตาม มดเปรียบเสมือนเพชรเม็ดงาม เป็นเพชรเม็ดแท้ที่ได้รับการเจียระไนจากธุลีดิน


 


ในแง่แนวคิดเราอาจแตกต่างกันบ้าง แต่ในแง่เจตนาแล้วไม่แตกต่างกันเลย เราใฝ่ฝันถึงสังคมที่งดงามร่วมกัน แต่ในการเคลื่อนไหว สิ่งที่มดทำอยู่ ผมอาจจะมองแตกต่างกันบางจุด แต่ไม่ขัดแย้งกัน ผมสนับสนุนสิ่งที่เพื่อนต่อสู้โดยไม่ระย่อทุกรัฐบาล มดอาจจะมองการแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น สมัชชาคนจน บ่อนอก จะนะ ฯลฯ ตามที่เขาเคลื่อนไหว ก็เป็นแนวคิดที่ถกเถียงกันในหมู่ปัญญาชนในทิศทางการพัฒนาประเทศว่าจะพึ่งพาตนเอง หรือจะพึ่งพิงภายนอกในอัตราส่วนเท่าไร


 



"จิ้น กรรมาชน" - กุลศักดิ์  เรืองคงเกียรติ


นักดนตรีเพื่อชีวิต


 


 


 


 


เวลานึกถึงพี่มดก็จะนึกถึงนักเคลื่อนไหวหรือปัญญาชนที่ลงไปคลุกอยู่กับชาวบ้านจริงๆ เนื่องจากผมเป็นนักศึกษาในกรุงเทพฯ ก็จะเจอกับกลุ่มคนที่เรียกว่าผู้นำภาคประชาชนเยอะที่ชอบแสดงบทบาทนำ แต่เวลาเห็นพี่มด จะเรียกว่าเป็นผู้นำก็ได้ แต่แกไม่ได้พยายามทำตัวเป็นผู้นำที่ทุกคนต้องมาอยู่ใต้การชี้นำของตัวเอง แกลงไปทำงานกับชาวบ้านจริงๆ ทุ่มเทและศึกษาจากความเป็นจริง


 


สิ่งที่พี่มดเคยพูดแล้วผมยังจำได้ และเป็นข้อคิดที่ดีก็คือ ตอนนี้มันมีคนเยอะที่พูดคำใหญ่คำโต ป่าวประกาศว่าจะสร้างสังคมใหม่แต่ไม่ทำอะไร ไม่ยอมลงไปศึกษาจากความเป็นจริง ไม่ลงไปอยู่กับมวลชน ไม่ยอมศึกษาค้นคว้า สรุปบทเรียน เอาแต่พร่ำพูดว่าเราจะเปลี่ยนแปลง เราจะสร้างโลกใหม่ อันนี้เป็นคำเตือนว่าอย่ามัวแต่พูดคำใหญ่ๆ โตๆ แต่ให้ลงไปหาความเป็นจริงอย่างเอาจริงเอาจัง แม้คุณจะไม่มีเงื่อนไขลงไปอยู่กับชาวบ้านก็ตามก็ควรจะศึกษาค้นคว้า ไม่ใช่แต่จะพูดอะไรลอยๆ เท่ๆ


 



ชัยธวัช  ตุลาฑล


กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน


 


 


 


 


 


วันนี้ มดเขาไปสบายแล้ว มดไปด้วยความอบอุ่น มดเป็นที่รักของคนทั่วไป ไม่ได้เป็นที่รักอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นทั้งที่รักและเคารพ


 


ผมรู้จักมดมาเกือบ 20 ปี และผมถือว่าเป็นบุญของผม ที่ตามปกติแล้วคงจะไม่โคจรมาพบกัน การได้มาพบกับมดนั้น มดเป็น "ผู้ให้" ผมมากกว่าผมเป็นผู้ให้เขา มดอาจจะไม่รู้ตัวว่าให้อะไรแก่ผม แต่ผมรู้ีดี... สิ่งที่มดให้ผม และสิ่งที่ผมยอมรับความดีความงามของมด มันทำให้ชีวิตของผมมีความสุขมากขึ้น มันทำให้ชีวิตของผมมีความสมบูรณ์มากขึ้น


 


มดจากเราไป เมื่อวานผมไปเยี่ยมอยู่ ได้เห็นใบหน้าได้เห็นอากัปกิริยาแล้ว รู้สึกว่ามดเหนื่อยมามากแล้วชีวิตนี้เป็นนักต่อสู้ เป็นนักเคลื่อนไหว นักปฏิบัติ สิ่งที่มดต่อสู้นั้นไม่ใช่ต่อสู้เพื่อทรัพย์สิน ไม่ได้ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ หรือเพื่อครอบครัวเพื่อนฝูง แต่เขายึดถือหลักการ เขายึดถือปรัชญาชีวิต


 


มันเป็นการง่ายสำหรับคนที่ร่ำรวยแต่ให้กับคนจน แต่สิ่งที่มดให้นั้นไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิ่งของ สิ่งที่มดให้กับคนทั่วไปคือ ให้เขายืนหยัดต่อสู้ มดต่อสู้มาตลอดชีวิตในเรื่องสิทธิมนุษยชน ต่อสู้เพื่อคนจน คนยากไร้ คนด้อยโอกาส คนเสียสิทธิ คนถูกรังแก คนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งยังมีอยู่ในประเทศไทยอีกมากมาย


 


วันนี้เรามาเคารพศพของ "วนิดา" หรือ "มด" เพื่อนรักของเรา และเรารำลึกถึงคุณความดีที่เขาทำมาตลอดชีวิต และพวกเราทั้งหลายถ้าสามารถทำได้เพียงครึ่งหนึ่งของที่มดทำมาในระยะ 30 กว่าปี เราก็คงจะไปสบาย ผมขอให้บุญกุศลที่มดทำมาในชีวิตนี้… ทำจนกระทั่งเขาเสียไป… ทำจนหมดแรงไป… ขอให้บุญกุศลนี้ นำมดไปสู่สัมปรายภพ


 



อานันท์ ปันยารชุน


อดีตนายกรัฐมนตรี


 


 


 


 


รู้จักพี่มดตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาปี 2540 ไปติดตามเรื่องสมัชชา 99 วัน มาสนิทกันอีกทีตอนที่ทำงานกับกลุ่มผู้ป่วย ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่ด้วยกัน


 


แกมีความเชื่อมั่นในเรื่องสิทธิเสรีภาพมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาชุมนุมที่หน้ากระทรวงคมนาคมของกลุ่มสลัม เรื่องเช่าที่การรถไฟ ตอนนั้นพี่มดมาเยี่ยม แล้วจูงมือผมไปบอกว่าไปฟังเขาประชุมกัน ผมก็บอกว่ามันไม่เกี่ยวกับเราเขาจะให้เข้าหรือ แกบอกว่านี่สิทธิของเรา เราฟังได้ แกมั่นใจในเรื่องสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิส่วนบุคคลมาก อย่างน้อยเราก็เชื่อมั่น และมีพี่มดเป็นแบบอย่าง การไปติดต่อประสานงานหน่วยงานรัฐ เราก็ยึดถือแบบนี้ หน่วยงานรัฐไม่ใช่เจ้านายที่เราจะเข้าไม่ถึง มันต้องเอื้อกับเรา มีหน้าที่ช่วยเหลือเรา มันเปลี่ยนวิธีมองโลกของเรา


 



คมสัน จันทร์อ่อน


กองเลขาฯ เครือข่ายสลัม 4 ภาค


อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง


 


 


 


 


 


การสูญเสียพี่มดมันไม่ใช่เรื่องของพวกเราอย่างเดียว เขามีบทบาทในฐานะผู้นำการเคลื่อนไหวหลายเรื่องด้วยกัน คือ แกเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่คนไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญนักคือเรื่องสิทธิของผู้หญิง แต่เป็นสิทธิของผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปากท้อง เรื่องความเป็นธรรม ดังที่พี่มดได้ต่อสู้ร่วมกับพี่น้องปากมูน


 


นอกจากนี้ พี่มดยังเป็นผู้นำนักเคลื่อนไหวที่ลงไปทำงานกับชาวบ้าน คนจน ที่ปากมูนก็ดี สมัชชาคนจนก็ดี มันคือขบวนเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ หลังจากที่ขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์มันหายไป พี่มดมีคุณูปการในการทำให้เครือข่ายเป็นเครือข่ายแบบเสมอหน้า และไม่เป็นผู้นำเดี่ยว เพราะพี่มดพูดเสมอว่าผู้นำเดี่ยวไม่ตายก็ขายตัว เราจะเห็นว่าแกไม่ค่อยได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ไม่ได้ชี้นำชาวบ้าน แบบอย่างการเคลื่อนไหวแบบนี้เกิดจากประสบการณ์แบบขบวนการสังคมนิยมที่แกสั่งสมมา รวมถึงการจัดตั้งทั้งหลาย


 


อย่างไรก็ดี ในส่วนของขบวนการเคลื่อนไหวก็มีผู้นำใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ ช่วงพี่มดป่วยก็ไม่ได้ทำงานตั้ง 1 ปีเต็ม ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าพี่มดป่วยมาก แต่แกบอกตลอดว่ามันต้องไปได้ ขบวนการซึ่งไม่มีผู้นำที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมันก็ต้องพิสูจน์ว่ามันจะไปได้ไหม ผ่านมาซักพักแกก็บอกว่ามันไปได้จริงๆ เรื่องปากมูนแม้จะอยู่ในช่วงเผด็จการทหารยังไงก็แล้วแต่ ชาวบ้านก็ยังลุกขึ้นมาสู้ น้องๆ รุ่นใหม่ๆ ก็มาทำงานกับชาวบ้านแทนแก


 



ประภาส ปิ่นตบแต่ง


อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


 


 


พี่มดพูดกับเราตลอดเวลาว่า ทุกอย่างชาวบ้านกำหนด ทุกอย่างเกิดจากชาวบ้านเอง ในการประชุมตอนกลางคืน หลังกินข้าวเสร็จ พี่มดก็พยายามกระตุ้นชาวบ้านพูด ทุกครั้งที่เป็นการตัดสินใจในการเคลื่อน การกำหนดต่างๆ มาจากชาวบ้าน


 


แกเคยพูดกับเราว่า แกเคยเข้าป่า บทเรียนที่ได้หลังออกมาจากป่าแล้ว คือ แนวทางการต่อสู้โดยใช้การยึดอำนาจรัฐนั้นไม่ใช่แล้ว มันจะเป็นการต่อสู้ลักษณะที่เป็นสันติวิธี และพี่มดก็เชื่อเรื่องประชาชนต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตตัวเอง เราจะเห็นลักษณะการต่อสู้ที่สันติวิธี แต่บางคนอาจจะตีความว่าเป็นความรุนแรงก็ได้ การต่อสู้ของชาวบ้านที่ผ่านมาอาจจะถูกหรือผิดก็ถกเถียงกันได้ แต่สำหรับพี่มดแล้วคือแรงบันดาลใจว่าเป็นนักต่อสู้จริงๆ และอยู่กับชาวบ้านจริงๆ พี่มดจะพูดเสมอว่าที่ไหนมีการกดขี่จะมีการลุกขึ้นสู้ของประชาชน และพี่มดพูดเรื่องโครงสร้างด้วยว่าคนที่จนไม่ใช่เพราะเกิดมาแล้วจน แต่โครงสร้างมันทำให้จน


 


นอกจากนี้ ระยะแรกของการเคลื่อนไหวพี่มดจะเซ้นส์เรื่องของชนชั้นกลางมาก เมื่อชาวบ้านออกมาเคลื่อนในนามของสมัชชาคนจนหรือปากมูน ส่วนหนึ่งที่มีการกำหนดหรือพูดคุยร่วมกันคือจะทำอย่างไรให้สื่อเข้าใจ ให้ชนชั้นกลางเข้าใจว่ามีการชุมนุมเดินขบวนในกรุงเทพฯ วิธีคิดเรื่องความเข้าใจร่วมกันก็มาจากพี่มดเป็นหลัก คือเชื่อมปัญหาระหว่างคนชนบท ความเป็นเมืองและชนชั้นกลาง


 



ชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์


นักศึกษาปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ


 


 


 


 


พี่มดสมถะ ติดดินมาก และพยายามจะคงไว้ซึ่งอุดมคติ ตั้งแต่แกออกมาจากป่าก็พยายามเลือกทำงานที่จะดูแลชีวิตตัวเองแล้วก็ยังรักษาความฝันของตัวเองไว้ ดังนั้นก็ต้องพยายามทำงานอะไรที่มันไม่ติดกับระบบมาก แต่ก็ต้องพยายามเลี้ยงตัวเอง


 


แกทำงานกับชาวบ้านกับชุมชน แกจะกลมกลืนกับความเป็นชาวบ้านมาก แล้วก็เข้าไปนั่งอยู่ข้างในหัวใจชาวบ้าน ชาวบ้านอาจจะมีข้อขัดแย้งหรือมีสถานการณ์ที่ลำบากแต่เขาจะเคารพและฟังพี่มดมาก


 


ในท่ามกลางกระบวนการต่อสู้ แน่นอนมันมีหลายแนวทาง มีหลายจังหวะก้าวที่อาจจะมีปัญหามาก ทั้งความขัดแย้ง ความท้อแท้ แต่พี่มดเหมือนเป็นพี่ใหญ่ที่ช่วยประคับประคอง นี่คือข้อใหญ่ที่เด่นชัดมาก


 


ผมอยากให้อ่านบทปาฐกถาที่แกเป็นองค์ปาฐกของโกมล คีมทอง แกพยายามหามุมมองจากคนตัวเล็กๆ นี่เป็นสิ่งสำคัญที่คนในสังคมมองไม่ค่อยเห็น แกเข้าไปคลุกกับชาวบ้านมาก แกพิเศษกว่าคนอื่นมาก เรื่องที่ไปเป็นเพื่อนกับชาวบ้านนี้เป็นเรื่องยากๆ ทั้งนั้น อย่างเรื่องเขื่อนปากมูล แล้วแกก็ร้อยใจของชาวบ้านได้ นี่เป็นจุดแข็งมาก


 


 


กระรอก - วีรพงษ์ เกรียงสินยศ


มูลนิธิสุขภาพไทย


 


 


 


 


มด สมเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ เพราะท่านอดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์พูดเรื่อง "ความดี ความงาม ความจริง" ผมคิดว่ามดมีสิ่งเหล่านี้หมด มดสู้เพื่อความจริง สู้เพื่อความดี และมีความงาม ผมแทบจะหาที่ตำหนิไม่ได้ หายากมากสำหรับผู้หญิงนักต่อสู้ที่ผมรู้จักที่จะไม่มีตำหนิเลย



คำว่าไม่มีตำหนิคือ การต่อสู้ของเขาเกี่ยวกับสิทธิของประชาชน สิทธิของชาวบ้าน สิทธิของชุมชน เรื่องเขื่อน เรื่องสิ่งแวดล้อม มดไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง มดไม่มีผลประโยชน์ใดๆ แต่ทุกจุดที่มีประชาชนเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ถูกรังแก มดจะไปอยู่ตรงนั้น


 


มดเป็นคนที่มีความดี ความงาม และความจริง ถ้าผมเป็นคริสตศาสนิกชน ผมคิดว่า มดเป็นนักบุญได้ ความดีของมด ความงามของมด และการเข้าถึงความจริง คือความพร้อมของผู้หญิงคนนี้ ถ้าเป็นไทยก็เรียกวีรสตรี ผมคิดว่าผมพูดความจริงเพราะผมรู้จักผู้หญิงที่เป็นนักต่อสู้หลายคน มดสะอาด และทุ่มเททั้งชีวิตในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน


 


ความสะอาดของมดดูได้จากทุกคนที่มดขอให้ช่วยเพื่อคนจน ไม่มีใครปฏิเสธมด ไม่ว่าคุณอานันท์ ปันยารชุน อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อ.ประเวศ วะสี อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ หมอเสม พริ้งพวงแก้ว และผม เราไม่เคยกล้าปฏิเสธมดเลยไม่ว่าโทรมาดึกดื่นแค่ไหน เพราะมดจะโทรมาเพื่อขอให้ช่วยคนยากจน ช่วยประสานงาน การที่มีคนคนหนึ่งมาขอให้เราช่วย หลายครั้งหลายครา แล้วเราไม่เคยคิดที่จะปฏิเสธเลย แสดงว่าเราต้องมีความรู้สึกกับคนคนนี้พิเศษมากใช่หรือเปล่า


 


คนที่ต่อสู้เพื่อประชาชน บางคนเรารู้สึกรำคาญ บางคนเรารู้สึกว่ามีผลประโยชน์อยู่บ้าง แต่สำหรับมด มันคลีนมาก กล้าหาญด้วย และเป็นห่วงแม่ เป็นห่วงพ่อ มดรักษาน้ำใจของพ่อแม่ ไม่เคยบอกว่าตัวเองไปทำอะไร ตัวเองทำงานกับประชาชนอย่างเต็มที่ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งความรักและความอบอุ่นที่พ่อแม่ให้กับตัว และที่แปลกคือ ตระกูลนี้เป็นนักต่อสู้เกือบทั้งตระกูล แต่มดคงเด่นที่สุด ตรงที่เขาเสียสละ ผมเชื่อว่าผมไม่ได้พูดเว่อร์เกินไป


 



พิภพ ธงไชย


ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)


 


 


 


 


 


ช่วงไล่ทักษิณ พวกเราก็คิดกันเยอะมากว่าจะทำยังไงถึงจะชนะ พี่มดเขาก็จะแนะว่าอย่าไปคิดแบบแพ้ชนะ การทำงานแบบนี้มันต้อง "สั่งสมชัยชนะ"


 


เท่าที่เห็น พี่มดทำงานเพื่อคนจน เรายังทำงานกับผู้บริโภคซึ่งอาจจะเป็นคนชนชั้นกลางที่อาจจะบริโภคมากเกิน แต่พี่มดทำงานกับคนจน คนในชุมชนแออัด คนที่เรียกว่าโอกาสน้อยกว่าคนอื่นมากมาตลอดชีวิต


 


รู้สึกเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญมาก แต่เรียกว่าพี่เขาไปอย่างสงบ พวกเราอยากจะบอกว่า เราจะสานต่อเจตนารมณ์ของแก ทำให้คนจน คนที่ด้อยโอกาส อย่างน้อยมีปากมีเสียงมากขึ้นในสังคม ซึ่งพี่มดทำส่วนนี้มาก และทำตลอดชีวิตของแก


 


แกเป็นนักสู้ สมมติว่าแกจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วแกเชื่อว่าสิ่งนั้นถูกต้อง บางคนอาจจะไม่เห็นด้วย องค์กรอาจจะไม่เห็นด้วย แต่เชื่อว่าพี่มดพร้อมที่ออกจากองค์กรเพื่อไปทำในสิ่งที่แกเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง


 


นี่นับเป็นการสูญเสียคนในเอ็นจีโอครั้งสำคัญ


 



สารี อ๋องสมหวัง


ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


 


 


 


 


 


ในจุดที่ระลึกถึง "มด" นั้น เคยอยู่ด้วยกันในสมัยที่อยู่ในป่า จังหวัดสงขลา และอยู่เขตงานเดียวกัน ตลอดเวลารู้สึกว่าเขาเป็นนักสู้ และไม่ได้ใช้อารมณ์ แต่ใช้หัวใจ เขาใช้หัวใจทุกครั้งที่เขาสู้และคิดเรื่องอะไร นี่คือจุดที่เคารพเขา เคารพในสิ่งที่มดเป็น และรู้ว่ามดคิดในสิ่งที่ดี


 


แต่เสียดาย ในช่วงสุดท้ายที่มีโอกาสได้คุยโทรศัพท์กับมดก่อนที่จะไปต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่รู้สึกก็คือ เราคุยกันด้วยความเข้าใจกัน แล้วก็ไม่ได้มองกันอย่างตัดสิน ไม่ได้มองกันอย่างที่มีการตัดสินในสังคมใหญ่ ช่วงเวลานั้นเราเข้าถึงความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เราเคารพความเป็นเรา และวิธีที่อาจจะมีมุมคิดที่แตกต่างกัน สิ่งที่สัมผัสได้ในช่วงสุดท้ายคือ มิตรภาพของความเป็นมนุษย์ซึ่งมดมีตรงนี้สูงมาก และมดมีความเคารพในผู้คนที่อาจจะมีความคิดความเห็นที่แตกต่าง สิ่งนี้มันจำเป็นสำหรับการอยู่ในสังคมปัจจุบันที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน


 


การคุยกันครั้งสุดท้าย เรากับเขาซึ่งต่างก็กริ่งเกรงกันไปมาว่าเราคิดต่างกันหรือเปล่า แต่ถึงที่สุดแล้ว เราคุยกันเรื่องธรรมะ ตรงนั้น พี่รู้สึกว่ามดเขาได้วางอะไรหลายๆ อย่างไว้ให้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความตาย แม้ว่าเราอาจจะไม่กล้าพูดกันเรื่องความตาย แต่เรารู้ว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องสุดท้ายของชีวิตเรา ถึงที่สุดแล้ว ตรงนี้มันคือมิตรภาพ


 



อภิญญา เวชยชัย


อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


 


 


 


พี่มดจริงใจและสม่ำเสมอ แกเป็นพวกกัดไม่ปล่อย คุณสมบัติพวกนี้สำหรับนักต่อสู้แล้วเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นจะต้องมีอยู่ เพราะถ้าไม่มี บางทีชาวบ้านถูกดึงออกมาเสร็จแล้วปล่อยกลางคัน ชาวบ้านก็งงเหมือนกัน พี่มดแกอยู่ยาว จนบางทีคนก็มองว่าทำไมแกอยู่ยาวขนาดนั้น


 


ประทับใจในความเป็นนักสู้ ความเป็นคนให้ สังคมต้องการคนมีเมตตา และความมีเมตตานี่แหละ.. ความเป็นคนให้นี่แหละ ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่คนจะมองแก และเอาแกเป็นตัวอย่างได้


 



"เอี้ยว ณ ปานนั้น" -  ชัยพร นามประทีป


ศิลปินอิสระ


 


 


 


 


มดเขาต่อสู้มานาน ตอนที่เป็น ส.. ปีแรกได้ลงไปที่ปากมูลเป็นเรื่องแรกเลย และได้เห็นการต่อสู้ด้วยธรรมะและหลักศาสนาของมด ก็ประทับใจเหมือนเป็นพี่น้องกัน พอรู้ว่ามดป่วยพยายามาเยี่ยมแต่ทางบ้านอยากให้มดพัก เมื่อรู้ก็เสียใจมาก เพราะรู้ว่ามดเป็นผู้สร้างสะพาน เป็นผู้สร้างตำนานการต่อสู้ด้วยหลักสันติวิธีและยืนหยัดต่อสู้อย่างต่อเนื่องทำให้เป็นแบบอย่างของกระบวนการต่อสู้ภาคประชาชน


 


อาจจะเรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสมัชชาคนจน ชีวิตของมดเป็นชีวิตที่งดงาม เป็นชีวิตที่ทำให้คำว่าอำนาจต่อรองของประชาชนเกิดขึ้นได้ สมัชชาคนจนก็เกิดขึ้นได้เพราะการทุ่มเทชีวิตจิตใจของมดซึ่งมดศึกษากระบวนการต่อสู้ภาคประชาชนทั่วโลก


 


แม้ว่าร่างกายมดจะดับสูญไปแล้ว แต่ผลงานการต่อสู้ของมดซึ่งได้พูดเอาไว้เป็นปาฐกถาของมูลนิธิโกมล คีมทองจะอยู่ในความทรงจำที่จะจารึกไว้ในการต่อสู้ของคนในระดับรากหญ้าโดยเฉพาะการต่อสู้เรื่องของเขื่อน เรื่องของการคุ้มครองรักษาแม่น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ อยากให้ประเทศไทยและโลกทั้งโลกมีคนอย่างมดเยอะๆ เพื่อที่จะอยู่เคียงข้างกับพี่น้องประชาชนที่จะต่อสู้ด้วยความไม่เกรงกลัวต่ออำนาจ


 



เตือนใจ ดีเทศน์


อดีต ส.ว. และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


 


 

 


 


ผมรู้จักมดมา 30 กว่าปี มดเป็นแบบอย่างที่ดีมากของการทำงานให้กับผู้ด้อยโอกาสและผู้ยากไร้ทุกส่วน  ในส่วนตัวนั้นลำบาก แต่มดไม่เคยท้อถอย ผมเจอมดหลายครั้งก็ได้แต่ถามสารทุกข์สุกดิบ ช่วยเหลือบ้างเท่าที่โอกาสจะทำได้ แต่มดไม่เคยเอ่ยปากกับผมแม้แต่คำเดียว


 


ผลงานของมดเป็นที่ประจักษ์ และนานไปก็ยิ่งประจักษ์ชัดยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่ทำไปให้กับสังคมไทยมันมีคุณค่าขนาดไหน ผมเชื่อว่ามดจะเป็นตำราเล่มใหญ่ที่อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงชีวิตเพื่อจะเป็นแบบอย่างให้กับคนทำงาน ให้กับสังคมต่อไปได้ในอนาคตอย่างทรงคุณค่ายิ่ง


 


มดเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเองสูง ผมถือว่าเป็นพี่เขาคนหนึ่ง แต่หลายเรื่องก็ไม่ชนะเขา เขาจะเอาในสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้อง ซึ่งก็เป็นด้านดีและเป็นคนยืนหยัด จะยากลำบากเท่าไรก็จะทำ หลายกรณีที่มดต่อสู้ ใหม่ๆ คนก็อาจจะไม่เข้าใจ แต่นานไปคนก็จะเข้าใจมากขึ้น อย่างเรื่องเขื่อนปากมูล ถ้าไม่มีมด สาธารณะก็ไม่รู้หรอกว่ามันเกี่ยวกับชีวิตคนเยอะแยะ


 


นี่ก็ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสังคมไทยที่มีคนอย่างมดอยู่ อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าสังคมต้องการคนอย่างมดมากขึ้นนะ ต้องการคนที่มาเยียวยาปัญหาสังคมมากกว่านี้ เมื่อสังคมเศรษฐกิจพัฒนาก็ทิ้งคนที่ตามกระแสไม่ทันมากขึ้นเรื่อยๆ คนด้อยโอกาส คนชายขอบ ก็ถูกถีบออกจากกระแสการพัฒนาของประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณมากขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น เราต้องให้มดเป็นแบบอย่าง และสร้างคนแบบมดมากขึ้น นักการเมืองก็เช่นเดียวกัน


 



ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์


อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 


 


 


 


ครั้งนี้เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของขบวนภาคประชาชน พี่มด เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ แม้ว่าสองปีที่ผ่านมา ด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วยทำให้ต้องพักมาดูแลรักษาสุขภาพ แต่เชื่อว่าคนอย่างพี่มดไม่ได้มีง่ายๆ ร้อยปีจะมีสักหนึ่งคนที่กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ และอุทิศตัวให้คนทุกข์คนยากอย่างแท้จริง


 


จิตใจที่กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ และอุทิศตัวของพี่มด จะเป็นแบบอย่างให้กับคนทำงานในวงการเอ็นจีโอคนอื่นๆ และเรื่องของพี่มดจะเป็นตำนานให้คนรุ่นหลังๆ ได้เรียนรู้ต่อไป


 


พี่มดเป็น 'คนจริง' มาก แทบไม่มีสักครั้งที่พี่มดทำเพื่อตัวเอง ทุกครั้งที่พี่มดโทรหาเราก็คือเรื่องปากท้องของพี่น้องสมัชชาคนจน พี่น้องปากมูนตลอด ไม่เคยสักครั้งที่พี่มดขอให้ช่วยในเรื่องของตัวเอง มันทำให้ ไม่้กล้าปฏิเสธทุกครั้งที่พี่มดออกปากว่าช่วยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้หน่อย เพราะรู้ว่าสิ่งที่มดขอ ไม่ได้ขอให้ตัวเอง


 


สุนทรี เซ่งกิ่ง


อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net