Skip to main content
sharethis

กานชนะ


            3-4 วันก่อนนี้ ปรากฎข่าวเล็กๆ ในเว็บไซต์ประชาไท เป็นรายงานข่าวสั้นเรื่องการป่วยเป็นมะเร็งของพี่มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ และวันนี้เองที่ผมได้รับข่าวล่าสุดจากเพื่อนว่า พี่มด สิ้นใจแล้วที่โรงพยาบาล


            ผมขออนุญาตคุณผู้อ่านใช้พื้นที่นี้ ร่วมคารวะและไว้อาลัยแก่การจากไปของพี่มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์


            ย้อนความทรงจำของผมกลับไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ในขณะที่ผมและเพื่อนยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย  ผมและผองเพื่อนกลุ่มหนึ่งเรามีความสนใจและความกระหายใคร่รู้ที่ตรงกัน นั่นก็คือไม่ได้ต้องการแค่เรียนไปเพื่อเอาใบปริญญาเท่านั้น แต่ถือว่า นักศึกษาอย่างพวกเราเรียนได้ด้วยเงินภาษีของประชาชน และต้องตอบแทนบุญคุณของประชาชนที่ให้เราเป็น "อภิสิทธิ์ชน" ได้ร่ำได้เรียนในระดับปริญญาตรี


            ข่าวเล็กๆ เรื่องการเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้านคัดค้านเขื่อนปากมูล ทำให้พวกเราสนใจที่จะลงไปศึกษา เรียนรู้ กระทั่งมีบางคนเชื่อว่า จะไปช่วยชาวบ้านได้


            ผมและผองเพื่อนจึงติดต่อรุ่นพี่ของเรา ที่เคยลงไปศึกษากรณีผลกระทบของโครงการเขื่อนปากมูล และยังคงทำงานอยู่กับชาวบ้านในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้


            ครั้งแรกพวกเราโบกรถไปจากรังสิต ถึง อุบลราชธานี เมื่อไปถึง พวกเราเห็นภาพชาวบ้านนั่งอยู่เป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 3-4 คน คล้องแขนกันแน่นเป็นวงกลม พวกเขาไม่ได้นั่งอยู่ที่เก้าอี้ บ้าน หรือ ถนน แต่เขานั่งอยู่บนแก่งหินในแม่น้ำมูล ขณะที่คนงานของ กฟฝ.กำลังระเบิดแก่งหิน เสียงดังลั่น เพื่อเปิดทางแม่น้ำ สำหรับสร้างหัวเขื่อน


            พวกเราได้รู้จัก และได้สัมผัส คำว่าการต่อสู้แบบสันติ (สันติวิธี) จากสนามจริง โชคดีที่วันนั้นไม่มีใครได้รับอันตราย จากการนั่งและนอนยึดแก่งหินไม่ให้ถูกระเบิด สามารถชะลอเวลาและนำไปสู่การเจรจากับหน่วยงานระดับจังหวัดได้


            ในเวลาค่ำ ชาวบ้าน ผู้สนับสนุนจากกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนักสิ่งแวดล้อมในมูลนิธต่างๆ,นักพัฒนา, นักศึกษาอย่างพวกเรา หลังจากกินข้าวเสร็จ ก็นั่งล้อมวงประชุมร่วมกัน เพื่อสรุป ประเมิน และวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อกำหนดประเด็นในการต่อสู้ต่อไป โดยมีพี่มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นผู้กระตุ้นให้ชาวบ้านได้พูด แสดงความคิดเห็น และตัดสินใจด้วยตัวของเขาเอง พี่มดอธิบายกับพวกเราว่า ชาวบ้านต้องกำหนดอนาคตของตัวเอง


            หลังการลงไปเรียนรู้ของพวกผม  เมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขในระดับพื้นที่ ชาวบ้านจึงต้องมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ปักหลัก เรียกร้องให้รัฐบาล ชวน หลีกภัย เปิดการเจรจาและฟังเหตุผลของคนที่ได้รับผลกระทบ และยุติการสร้างเขื่อน


            แต่พวกเขาไม่ฟัง กลับมีการสั่งการให้สลายการชุมนุมข้าง กพ.ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล และเดินหน้าสร้างเขื่อนต่อไป จนเป็นปัญหาที่เรื้อรังกระทั่งในปัจจุบัน


            ปัญหาของคนจน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐที่มักลักไก่เสนอ อนุมัติ ไม่ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มีมากมาย จนกระทั่งเกิดการรวมตัวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ กลายมาเป็นการก่อตั้ง "สมัชชาคนจน" ที่เราอาจจะคุ้นหูอยู่ในปัจจุบัน พี่มดเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน และเป็นที่ปรึกษาของผู้คน ผู้ยากจน ที่หาการพึ่งพาจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้


            ไม่ว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาขององค์กรชาวบ้าน จะถูก หรือผิด ผมคิดว่าเราถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้


            แต่ผมเจ็บปวดใจทุกครั้งที่เห็นคนกรุงเทพฯ ที่นั่งอยู่ในรถเก๋ง ติดแอร์ ทำหน้าเซ็งรำคาญ บางครั้งเปิดกระจกออกมาด่า ว่า ชาวบ้าน กลุ่มที่เดินขบวน ว่า "โดนรับจ้างมาหรือ, พวกก่อความวุ่นวาย, พวกไม่รักชาติ"


            และผมจะได้ยินเสียงของพี่มดที่บอกกับนักศึกษาที่ไปช่วยแจกใบปลิวชี้แจง "ทำไมต้องมาเดินขบวน" ว่า เราต้องอดทน สร้างความเข้าใจเพราะช่องว่างของความเป็นคนระหว่างคนชั้นกลาง กับชนบท มันถูกแยกออกจากกันมานานแล้ว


            เมื่อผมเรียนจบ ด้วยเวลาของการทำงานที่บีบบังคับ ทำให้ผมไม่ได้มีเวลาไปมาหาสู่กับชาวบ้าน แต่ผมก็ยังรับรู้มาโดยตลอดว่า ชาวบ้านยังต่อสู้ และพี่มดยังอยู่กับชาวบ้าน และถ้าได้เจอกันในเวลาสั้นๆ พี่มดก็จะถามไถ่เรื่องสุขภาพ และบอกให้ดูแลตัวเอง


            หลังการรัฐประหาร  19 กันยา หลายคนบอกว่านี่เป็นยุคของการแตกเป็นเสี่ยงๆ ของกลุ่มคนทำกิจกรรมทางสังคม, ของ "ภาคประชาชน", ของหมู่ปัญญาชน และนักวิชาการ


            หลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ในช่วงการจัดงานรำลึกวีรชนเดือนตุลา งานใหญ่ในเวลานั้นจัดโดยกลุ่มคนเดือนตุลาที่เข้าร่วมกับเวทีพันธมิตรขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และปูทางให้ทหารทำรัฐประหาร เขาจัดงานกันที่ ม.ธรรมศาสตร์  ในช่วงเวลาที่อาจารย์เกือบ 90 เปอร์เซนต์ในรั้วเหลืองแดงออกมาสนับสนุนการทำรัฐประหาร และเป็นใหญ่เป็นโตได้เป็น สนช.  พวกผมและกลุ่มเพื่อนออกมาต่อต้านการทำรัฐประหาร เราจัดเวทีปราศรัย โดยใช้รถกระบะเป็นเวทีเปิดโปง คัดค้านรัฐประหาร เผด็จการทหาร และเดินขบวนไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในภาวะการคงกฎอัยการศึกในกรุงเทพฯ


            ในขบวนที่เดินไปนั้น นอกจากกลุ่มพี่ๆ และเพื่อนๆ ที่ต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภา ผมยังได้เห็นชาวบ้านจากสมัชชาคนจน และผู้คนผู้รักในประชาธิปไตยอีกจำนวนหนึ่งเดินไปร่วมกัน ผมคุยกับพี่คนหนึ่งที่ทำงานกับสมัชชาคนจน และรู้ข่าวการป่วยของพี่มด


            พี่คนนั้นบอกผมว่า พี่มดไม่ต้องการให้ใครรู้มาก ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะความเกรงใจคนอื่นของพี่มด และการเตรียมตัวเข้าสู่สภาวะการจากไป ที่เราทุกคน ไม่มีใครหนีพ้น


            ผมขอร่วมแสดงความคารวะ และไว้อาลัยต่อการจากไปของวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้หญิงแกร่ง ผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษาในกรณีกรรมกรฮาร่ายึดโรงงาน จากป่าสู่เมือง และจากเมืองสู่ผืนดิน


            โดยจะรำลึกถึงคำพูด และการกระทำของพี่ไว้ในหัวใจเสมอว่า "เมื่อมีการกดขี่ ย่อมมีการลุกขึ้นต่อสู้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net