Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2550 พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำหนังสือถึงคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ กรณีที่มีการตัดสินว่า หนังสือซึ่งออกโดย คมช. (หนังสือ สปค.ศปศ.คมช. ลับ-ด่วนมาก ที่ คมช ๐๐๐๓.๕/๔๘๐ ลง ๑๔ กันยายน ๒๕๕๐) เข้าข่ายความผิด "เจ้าหน้าที่ของรัฐวางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้ง" ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา๕๗


 


ทั้งนี้ เนื้อความในจดหมายระบุว่า ขอให้มีการทบทวนบทบาทของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน เนื่องจากการออกหนังสือลับ-ด่วนมาก ฉบับดังกล่าวของ คมช.เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีใจความว่า (การดำเนินการของ คมช.) "ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๔๙ มาตรา ๓๔ วรรค ๑ และมาตรา ๓๗ และัรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มาตรา ๒๙๘ และมาตรา ๓๐๙ ให้ถือว่าการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.๒๕๕๐) เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ"


 


การลงมติในสัดส่วน 4 ต่อ 3 ของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน จึงอาจถูกยกเลิก ด้วยเหตุผลดังกล่าว นอกจากนี้ พล.อ.สมเจตน์ยังได้ร้องเีรียนให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนดำเนินการพิจารณาหลักฐานที่ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน (พปช.) นำมาเสนอต่อสื่อมวลชนและคณะกรรมการสืบสวนฯ ด้วย เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาเพิ่มเิติมนอกเหนือจากที่ปรากฎในเอกสารลับ จึงเกรงว่านายสมัครจะทำเอกสารปลอมขึ้นมา โดยหวังผลประโยชน์ทางการเมือง (ดาวโหลดเอกสาร คมช. ๐๐๐๒/๑๗๗๐ เรื่องขอให้ทบทวนบทบาทการพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ที่นี่)


 



 



 



 






 


คณะทำงานพิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์


เลขที่รับ.......1214..................................................


วันที่.............30/11/50........................................


 


 


ที่ คมช ๐๐๐๒/ ๑๗๗๐                                                         สำนักเลขาธิการ


                                                                                       คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ


                                                                                       ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร


                                                                                       กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐


 


๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๐


 


เรื่อง          ขอให้ทบทวนบทบาทการพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน


 


กราบเรียน   ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง


 


            ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อสาธารณะว่า คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนได้มีมติเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ว่าหนังสือ สปค.ศปศ.คมช. ลับ-ด่วนมาก ที่ คมช ๐๐๐๓.๕/๔๘๐ ลง ๑๔ กันยายน ๒๕๕๐ มีเนื้อหาที่น่าจะเข้าข่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐวางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้ง ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา๕๗ นั้น


 


            สำนักงานเลขาธิการ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้กรุณาพิจารณาทบทวนการพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน โดยมีเหตุผลดังนี้


 


            ๑. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้แปรสภาพมาจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้สึกสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย, การบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงานองค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจึงมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และแก้ไขปัญหาความมั่นคงของชาติดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหตุแห่งการยึดอำนาจสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้


            อนึ่ง เป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไป ทั้งจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน และจากการแถลงของหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองคนสำคัญพรรคหนึ่งว่าพรรคการเมืองนั้นก่อตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกยึดอำนาจ ทั้งยังมีการกระทำอีกหลายประการที่แสดงให้เห็นว่าอดีตนายกรัฐมนตรีคนดังกล่าวอยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองนั้น เช่น การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคนั้นถ่ายภาพคู่กับอดีตนายกรัฐมนตรีมาหาเสียงเลือกตั้ง การประกาศโดยหัวหน้าพรรคการเมืองนั้นว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล จะยกเลิก คตส. และตนพร้อมที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญที่สุด คนใกล้ชิดของอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคนสำคัญ ประกาศชัดเจนว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลก้พร้อมที่จะกลับมา "คิดบัญชี" กับผู้เกี่ยวข้องอันเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และสร้างความแตกสามัคคีให้สืบเนื่องต่อไป


            การกระทำทั้งหมดนี้เป็นการขัดอย่างชัดแจ้งต่อเจตนารมณ์แห่งการยึดอำนาจดังที่ปรากฎอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ และขัดต่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันเป็นกฎหมายทีมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับคณะรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการป้องปรามมิให้มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ


            ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้เกิดความมั่นคงของชาตินั้น ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๔๙ มาตรา ๓๔ วรรค ๑ และมาตรา ๓๗ และัรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มาตรา ๒๙๘ และมาตรา ๓๐๙ ให้ถือว่าการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.๒๕๕๐) เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ


           


            ๒. ข้อกล่าวหาที่ว่าหนังสือ สปค.ศปศ.คมช. ลับ-ด่วนมาก ที่ คมช ๐๐๐๓.๕/๔๘๐ ลง ๑๔ กันยายน ๒๕๕๐ มีเนื้อหาที่จะเข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐวางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้งนั้น หากพิจารณาจากต้นฉบับแล้วจะพบว่าเป็นการนำเอาข้อความหรือข้อเท็จจริงที่สังคมได้รับทราบโดยทั่วไป โดยผ่านการวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ และสื่อมวลชนอื่นที่แพร่หลายอยู่แล้วมากล่าวถึงเท่าั้นั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแ่ก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองตามมาตรา ๕๗ วรรค ๑ แห่งพระราชบัญญัิติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ ทั้งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติพร้อมที่จะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบเอกสารต้้นฉบับนี้ได้


 


            ๓. อนึ่ง เอกสารซึ่งหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมือง พรรคหนึ่งนำมากล่าวอ้าง ดังที่ปรากฎอยู่ในสื่อมวลชน มีการเพิ่มเติมข้อความในสาระสำคัญหลายที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจงใจทำลายพรรคการเมืองของตน โดยหวังผลประโยชน์ทางการเมือง อันเป็นการปลอมเอกสารหรือใช้เอกสารปลอม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนจึงน่าจะนำประเด็นที่มาของเอกสารมาพิจารณาก่อนว่าเอกสารที่ผู้ร้องนำมาใช้เป็นการทำหรือใช้เอกสารปลอมหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบครบถ้วนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย


 


            จึงเรียนมาเพื่อทราบเพื่อโปรดพิจารณา


 


ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง


 


พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม


 


ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ


คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ


                       


 


 


 


หมายเหตุ: ข้อความที่ขีดเส้นใต้จัดทำโดยประชาไท


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: โยนเผือกร้อนใส่มือ กกต. ตัดสิน "เอกสารลับ" มัด คมช. ไม่เป็นกลางหรือไม่

เอกสารประกอบ

หนังสือคมช๐๐๐๒/๑๗๗๐ขอให้ทบทวนบทบาทการพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net