พวงทอง ภวัครพันธุ์: "ปฏิบัติการสงคราม" ของการรณรงค์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย

ประชาไท - เมื่อวันที่ 19 .. 2550 ที่ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำเสนองานวิจัยในเรื่อง"ปฏิบัติการสงคราม" ของการรณรงค์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย โดยการเสนองานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสัมมนาโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่องสันติวิธี ความรุนแรง และสังคมไทย โดยปีนี้จัดในหัวข้อ "ความรุนแรง:"ซ่อน-หา"สังคมไทย"

 

000

 

งานวิจัยนี้เริ่มจากคำถามว่าทำไมสังคมไทยส่วนใหญ่จึงสนับสนุนนโยบายสงครามกับยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ หรือที่เราเรียกกันว่าการฆ่าตัดตอน เราจะเห็นได้ว่าผลจากการสำรวจทัศนคติของคนไทยออกมา 97% สนับสนุนนโยบายนี้  ซึ่งคำตอบมักจะออกมาว่าเพราะคนไทยชอบความรุนแรง ชอบความเด็ดขาดรวดเร็ว ซึ่งดิฉันคิดว่ามันไม่เพียงพอในการตอบคำถามนี้

 

กรณีฆ่าตัดตอนเป็นกรณีสำคัญ เพราะมีคนเสียชีวิตถึงกว่า 2,500 คน โดยที่สังคมไทยโดยส่วนใหญ่กลับไม่รู้สึกสะเทือนอะไรเลยกับปัญหานี้ คำถามในการวิจัยนี้ก็คือว่า อะไรคือข้อกล่าวอ้างในปัญหายาเสพติดที่ถูกนำเสนอโดยเจ้าหน้าที่รัฐ สื่อ และตัวแสดงทางสังคมอื่นๆ อะไรคือภัยคุกคามของยาเสพติดที่มีต่อสังคมไทยที่ถูกนำเสนอออกมา วิธีนำเสนอปัญหายาเสพติดวางอยู่บนฐานของข้อมูลหลักฐานประเภทไหน

ทั้งอุดมการณ์หรือเกณฑ์ทางศีลธรรมใดที่ถูกใช้รองรับการรณรงค์ปัญหา และวิธีการนำเสนอปัญหายาเสพติดดังกล่าวได้กลายมาเป็นพื้นฐานรองรับความรุนแรงของรัฐอย่างไร

 

กรอบในการวิเคราะห์ดิฉันยืมมาจาก Henry H.Brownstein ซึ่งทำการศึกษาเรื่องความรุนแรงในสังคมอเมริกัน โดยที่เขาเสนอว่านโยบายสาธารณะของรัฐ ทัศนะและการปฏิบัติของสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับความรุนแรงเป็นผลผลิตของการสร้างข้อกล่าวอ้างหรือการเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับความรุนแรงผ่านตัวแสดงต่างๆ ในสังคม

 

ตัวเลขอาชญากรรมและตัวเลขการแพร่ระบาดยาเสพติดเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอเรื่องของความรุนแรง ในสังคมไทยมักจะชอบทำโพลล์ และการทำโพลล์ในหลายครั้งไม่ใช่การวัดทัศนคติ แต่เป็นการวัดความรู้สึก เช่นกรณียาเสพติดเป็นการวัดว่าคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าปัญหายาเสพติดเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ มันเป็นการวัดความกลัวอย่างหนึ่ง

 

นอกจากนี้การนิยามและการวัดความรุนแรงยังมีผลโดยตรงต่อการกำหนดมาตราการในการแก้ไขปัญหาด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการป้องกันและปราบปรามก็ขึ้นอยู่กับคุณค่าและความเชื่อของหน่วยงาน ของตัวแสดงต่างๆ เช่นถ้าคุณเป็นทหาร แนวโน้มที่คุณจะเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาก็อาจเป็นเรื่องของการปราบปราม ถ้าคุณมองว่าปัญหามันเป็นปัญหาในเรื่องของศีลธรรม ไม่ใช่ปัญหาในระดับโครงสร้างสังคม แนวทางการแก้ปัญหาก็จะออกมาอีกแบบหนึ่ง

 

นอกจากนั้นในทุกสังคมมักจะมีผู้ที่วางตนเป็น "ผู้ทรงศีลธรรม" ซึ่งก็มักจะชี้ให้เห็นว่าสังคมกำลังถูกคุกคาม การเล่าเรื่องของเขาก็จะทำให้สังคมเกิดความตื่นกลัวทางศีลธรรมขึ้น เพื่อทำให้สังคมเกิดความรังเกียจและต่อต้านพฤติกรรมนั้นๆ และบ่อยครั้งก็ทำให้สังคมเห็นถึงว่า บาปที่สังคมไม่มีกฏเกณฑ์ที่ดีพอที่จะจัดการ "ความชั่วร้าย" เหล่านั้น โดยที่กฎเกณฑ์ที่ดีอาจจะไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่ถูกต้องเสมอไปก็ได้

 

ในกรณีของสงครามต่อต้านยาเสพติดที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ดิฉันต้องการชี้ให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลและทัศนะของสาธารณชนที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงเพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติดนั้น เป็นผลมาจากการเล่าเรื่อง ที่เป็นการผสมผสานระหว่างตัวเลขสถิติต่างๆ ที่เป็นตัวชี้ระดับความรุนแรงของปัญหาโดยผ่านสื่อต่างๆ ที่ไม่เพียงส่งผลต่อการผลักดันนโยบาย ทั้งในด้านการป้องกันและปราบปราม แต่ยังส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวต่อภัยยาเสพติดอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน และความหวาดกลัวนี้ยังเป็นผลมาจากข้อกล่าวอ้างเชิงศีลธรรมที่ปนเปื้อนด้วยลัทธิชาตินิยมอย่างรุนแรงอีกด้วย

 

ในส่วนแรกคือภาพรวมของปัญหายาเสพติดในทศวรรษที่ 2540 คือก่อนปี 2539 ปัญหายาเสพติดอันดับหนึ่งคือปัญหาเรื่องเฮโรอีน แต่เปลี่ยนไปเริ่มตั้งแต่รัฐบาลบรรหารประกาศเปลี่ยนชื่อยาม้าเป็นยาบ้า เพื่อทำให้คนเกิดความกลัว รังเกียจมากขึ้น แล้วก็ยกฐานะของยาบ้าจากยาประเภท 5 ซึ่งเทียบเท่ากับกลุ่มกัญชา กระท่อม เป็นยาประเภท 1 เทียบเท่ากับเฮโรอีน ฉะนั้นบทลงโทษก็จะรุนแรงมากขึ้นด้วย

 

หลังจากนั้นนำไปสู่การขาดแคลนเพราะราคายาพุ่งสูงขึ้น ทำให้เกิดกำไรงาม ก็มีผู้หันมาค้ายาบ้ากันมากขึ้น นอกจากนี้ในปี 2538 กลุ่มกองทัพว้าในรัฐฉานก็ผลิตยาบ้าได้สำเร็จด้วย เป็นจุดที่ทำให้ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในพม่าหันมาผลิตเพิ่มขึ้นด้วย การจับกุมยาบ้าจึงเพิ่มขึ้นสูงด้วย ตัวเลขในปี 2542 จำนวนยาบ้าที่จับกุมได้ทั่วประเทศอยู่ที่ 38 ล้านเกือบ 39 ล้านเม็ด

 

ทางด้านภาครัฐและสื่อก็มีการรณรงค์เรื่องปัญหายาเสพติด คงจะคุ้นเคยกับสโลแกนประเภท "ยาบ้าคนเสพตาย คนขายติดคุก" "ยาบ้าอันตรายถึงตาย" "ยาบ้าคือยาพิษ" โปสเตอร์รณรงค์ของภาครัฐก็จะสร้างให้เกิดความกลัวว่าเมื่อคุณใช้ยาบ้าเข้าไปแล้ว มันจะเกิดอันตรายแบบไหนบ้าง นอกจากนี้ความถี่ของข่าวยาบ้า เฉพาะหนังสือพิมพ์มติชนฉบับเดียว ดิฉันเลือกมาเดือนเดียว มีข่าวยาบ้ารายวัน ทุกวัน และข่าวความรุนแรงจากคนเสพยาบ้าเข้าไป คงจะคุ้นเคยการพาดหัวข่าวทำนอง คนคลั่งยาบ้าแล้วก็เที่ยวสร้างความรุนแรงต่างๆ มากมาย

 

นอกจากนี้สิ่งที่เราเข้าใจกันเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของยาเสพติด ก็คือว่าแบบแผนของการแพร่ระบาดก็เริ่มเปลี่ยนไป ยาบ้าไม่ใช่เรื่องของผู้ใช้แรงงานอีกต่อไป และยาเสพติดไม่ใช่ปัญหาของคนยากจนเท่านั้น เราจะเห็นพาดหัวข่าว "แฉเด็กนักเรียนบ้านรวยเป้าหมายหลักแก๊งยาบ้า" อายุของผู้เสพยาก็ลดลงเรื่อยๆ มีข่าวเด็ก 5 ขวบก็ติดยาบ้าแล้ว เพราะพ่อแม่ขายด้วย เสพด้วย  นอกจากนี้ยาบ้ายังระบาดไปทั่วประเทศ ทำให้ชนบทไทยที่เคย "สงบร่มเย็น" ถูกทำลาย

 

ปัญหาก็คือว่าข้อมูลเหล่านี้ที่เรารับรู้กันมีปัญหาอย่างไร งานวิจัยที่ไปสำรวจเกี่ยวกับวัยรุ่นที่เสพยาบ้า รวมถึงคนต่างจังหวัดจำนวนมาก พบว่าจริงๆ แล้วการรณรงค์ที่รัฐพยายามทำให้เห็นพิษภัยของยาบ้า ว่ามันจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อร่างกายคนอย่างไร มันไม่ค่อยเวิร์คเท่าไร ผู้ที่เสพประจำเขารู้ว่าจะเสพแค่ไหน อย่างไร มันก็จะไม่เกิดปรากฏการณ์อย่างนั้นขึ้น เป็นปรากฏการณ์ส่วนน้อยของคนที่เสพไม่เป็นมากกว่า

 

แต่การรณรงค์เรื่องพิษภัยของยาบ้ากลับไม่สามารถทำให้ผู้เสพเกิดความกลัว แต่ยิ่งกลับทำให้ผู้ที่ไม่ได้เสพเกิดความกลัวมากขึ้น เราท่านทั้งหลายที่เห็นข่าวรายวัน ก็เริ่มหวั่นวิตกกังวลเกี่ยวกับชีวิตของตนและลูกหลาน ยิ่งความกลัวสะสมมากเท่าไร ตัวเลขสถิติต่างๆ ข่าวที่ออกมานี้ ก็ยิ่งทำให้ความกลัวนั้นมากยิ่งขึ้น ยิ่งข่าวออกมากลับยิ่งรู้สึกว่ามันไม่มีหนทางที่จะแก้ไขปัญหา ความโกรธต่อบรรดาผู้ค้ายาบ้าก็ย่อมเพิ่มขึ้น

 

การนำเสนอตัวเลขของสื่อหรือบรรดาบุคคลที่รับผิดชอบเรื่องยาเสพติด เวลานำเสนอออมามักจะขาดความชัดเจน คลุมเครือ ขัดแย้งในตัวเอง และหลายครั้งก็เกินจริง ตัวเลขการสำรวจของสำนักต่างๆ ในแต่ละปีก็ไม่ได้มีหลักเกณฑ์เดียวกัน บางครั้งสูง บางครั้งต่ำ สื่อและบุคคลสำคัญก็มักจะเลือกเอามาใช้ และมักจะอ้างตัวเลขที่สูงเข้าไว้ก่อน

 

เช่น มติชนบอกว่าในปี 44 ยาบ้าได้ระบาดเข้าไปในสถานศึกษามากขึ้นและคาดว่ามีผู้เสพยาราว 3-40% โดยไม่บอกว่าข้อมูลมาจากไหน ตัวเลขนี้มีปัญหามาก 3-40 ช่องว่างมันกว้างมาก จนไม่น่าจะเป็นสถิติที่คอนเฟิร์มอะไรได้เลย ถ้าพูดถึง 40%ในปี 44 แปลว่าคุณชี้ไปคนเกือบครึ่งมีใครสักคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไทยรัฐบอกว่าจากการสุ่มสำรวจมีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดประมาณ 8 ล้านคน เช่นกันไม่ได้บอกที่มา ปี 45 กรุงเทพธุรกิจบอกว่าเผยทาสยาเสพติด 1 ล้านคนต่อเดือน แปลว่าอะไร มีคนติดยาเพิ่มขึ้น 1 ล้านคนต่อเดือน  ตัวเลขนี้จะยิ่งสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงของสงครามยาเสพติด

 

ปัญหาคือนับแต่ปี 2539 ภาครัฐทำให้ยาเสพติดในสังคมไทยเท่ากับปัญหายาบ้า เวลาพูดถึงสงครามกับยาเสพติด มันก็คือสงครามปราบยาบ้า แต่ข้อมูลจากการสำรวจที่ทำการสำรวจทุกภาคในปี 2544 ชี้ว่าปัญหายาเสพติดในสังคมไทย ประกอบด้วยสารเสพติดหลายชนิด และไม่ได้รุนแรงเท่าที่สาธารณชนถูกทำให้เข้าใจ รายงานชิ้นนี้ปรากฏอยู่ในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 1 เรื่องยาเสพติด จัดโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ถ้าจะมีการใช้ตัวเลขอะไร เพื่อการรณรงค์ในปัญหายาเสพติดของรัฐบาลทักษิณในปี 46 มันควรจะต้องอยู่บนฐานข้อมูลล่าสุด ซึ่งก็คือกลางปี 2545 แต่ว่าข้อมูลที่ปรากฏในรายงานชิ้นนี้กลับไม่ได้ปรากฏในสื่อเลย

 

จากตัวเลขรายงานนี้ ครึ่งหนึ่งของผู้ที่ใช้ยาเป็นเรื่องของกัญชาบวกกับกระท่อม ซึ่งถ้ารัฐรณรงค์บอกว่าปัญหายาเสพติดที่ร้ายแรงเหลือเกินเป็นปัญหาของกัญชากับกระท่อม ความรุนแรงจะลดลงไปทันที เพราะกัญชาและกระท่อมจัดอยู่ในกลุ่มที่ 5 และเป็นยาที่ในยุโรปเอง อย่างในเนเธอร์แลนด์ก็เป็นยาที่ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร และทั้งกัญชาและกระท่อมก็ไม่ใช่ของแปลกปลอมสำหรับชนบทไทยเลย จริงๆ แล้วชนบทไทยคุ้นเคยกับการใช้ยาพวกนี้มาตลอด

 

ถ้าเราย้อนกลับไปดูตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน ยาเสพติดได้ถูกยกเป็นวาระของชาติ ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 มีการเร่งปราบปรามอย่างมาก ทำให้สถิติการจับกุมเพิ่มมากขึ้น ปัญหาคือยิ่งการจับกุมสูงขึ้น ก็ยิ่งทวีความวิตกให้กับสังคมมากขึ้น ยิ่งพิสูจน์ว่ามาตรการที่มีอยู่ของรัฐไม่ได้ผล ก็มีการเรียกร้องให้รัฐใช้มาตรการที่เด็ดขาด รวดเร็ว มากยิ่งขึ้นในการแก้ปัญหา บุคคลสำคัญก็จะออกมาแสดงความวิตกกังวลด้วยวาทกรรมชาตินิยม

 

กลางตุลาคม 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับสั่งกับพลเอกสำเภา ชูศรี ผู้บัญชาการสูงสุดในขณะนั้นว่าให้กองทัพตำรวจตระเวนชายแดน และลูกเสือชาวบ้านเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหายาเสพติด เมื่อรัฐบาลทักษิณเข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 กระแสความวิตกกังวลต่อปัญหายาบ้ากำลังพุ่งขึ้นสูง ราว 2 สัปดาห์หลังรับตำแหน่ง ก็มีการประกาศจะทำสงครามกับยาเสพติด แต่ยังไม่มีการนำไปสู่การใช้ความรุนแรง วิสามัญฆาตกรรม

 

กองทัพและตำรวจตระเวนชายแดนมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามยาเสพติดมานานแล้ว เพราะพื้นที่ชายแดนเกี่ยวข้องกับการค้า การนำเข้ายาเสพติด แต่เมื่อทรงมีพระราชดำรัสทำให้หลายฝ่ายออกมาสนองพระราชดำรัสอย่างกระตือรือร้น จะเห็นบทบาทของเหล่าทัพต่างๆ ออกมาจัดงานรณรงค์แก้ปัญหา ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ระบุว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว ความโลภของผู้ค้า เป็นปัญหาที่ทำลายอนาคตของชาติ มีการนำเอาปัญหาเรื่องยาเสพติดเข้าไปอยู่ในการฝึกร.ด.บ้าง เข้าไปในโรงเรียน ชุมชน ทหารก็จะมีบทบาทเข้าไปรณรงค์ในเรื่องยาเสพติดมากขึ้น รวมถึงยังมีการจัดตั้งหน่วยในการฟื้นฟูและบำบัดผู้ติดยาด้วย

 

ฉะนั้นจะเห็นบทบาทของกองทัพและผู้นำทางสังคมที่ตัวหลักเป็นทหาร รณรงค์ปัญหายาเสพติดมากขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2540 และนโยบายทั้งด้านป้องกันปราบปราม จิตวิทยามวลชน และวาทกรรมที่ใช้จึงมีลักษณะทางทหารและชาตินิยมมากขึ้น คำพูดการรณรงค์อยู่ในรูปของ "คนค้ายาเสพติดเป็นคนทรยศต่อชาติ" "รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ร่วมกันต้านยาเสพติด" ฯลฯ

 

ปลายปี 2545 ทักษิณประกาศว่าปัญหายาเสพติดได้ลดความรุนแรงลงไปแล้ว แต่ถูกสื่อมวลชนออกมาวิพากษ์ ไม่เชื่อ และวิจารณ์ว่าการทำสงครามต่อต้านยาเสพติดที่ผ่านมาไม่มีอะไรใหม่เลย นอกจากเขียนป้ายรณรงค์ ร้องเพลง เดินบ้าง เต้นอาโรบิกบ้าง สื่อมวลชนบอกว่านี่ไม่ใช่การทำสงคราม มันเหมือนมานั่งเย็บปักถักร้อยมากกว่า

 

4 ธันวาคม 2545 พระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสว่าภัยยาเสพติดได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศไทยไปทุกหนแห่ง หลังจากนั้นประมาณ 4 อาทิตย์ทักษิณประกาศทำสงครามขั้นแตกหักกับยาเสพติดภายใน 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2546

 

ในพิธีการประกาศสงคราม มีการให้สัตยาบันต่อพระบรมราชานุสรณ์ของรัชกาลที่ 5 และพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีการระดมมวลชน 2 หมื่น 4 พันคน ทักษิณประกาศว่านี่คือสงครามศักดิ์สิทธิ์ มีพิธีกรรมลักษณะเดียวกันในวันเวลาเดียวกันในต่างจังหวัดด้วย ข้อความตอนหนึ่งของคำสั่งปลัดกระทรวงมหาดไทยถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศบอกว่า "ต้องตระหนักว่าประชาชนคือเพื่อนเรา ชาติคือพวกเรา นายหลวงคือนายเรา ผู้ค้ายาเสพติดเป็นศัตรูเรา ต้องขจัดให้สิ้น..."

 

ทั้งหมดที่กล่าวมา ต้องการชี้ให้เห็นว่าทักษิณเข้ามาในช่วงของกระแสสงครามยาเสพติดขึ้นสูง ตัวเขาเองก็เล่นกับกระแสเหล่านี้

 

ก่อนสงครามปราบยาเสพติดจะเริ่มขึ้น ข่าววิสามัญฆาตกรรมผู้ค้าเสพติด ปรากฏบ่อยครั้งมาก โดยปราศจากการวิพากษ์ของสาธารณชน รวมทั้งจากสื่อมวลชน ภาษาที่สื่อใช้พาดหัวข่าวก็ชี้ว่าสื่อมวลชนเชื่อว่าผู้ที่ถูกวิสามัญเหล่านั้น ล้วนกระทำผิดอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องพิสูจน์อะไร

 

ทั้งมีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้น เพราะในปี 2545 รัฐบาลทักษิณได้เพิ่มโทษผู้ค้ายาเสพติด โดยหากมีปริมาณสารเสพติดบริสุทธิ์คำนวณได้เกิน 100 กรัม ถือเป็นการมีไว้เพื่อจำหน่าย ดิฉันเข้าใจว่า 100 กรัม นี่ประมาณ 10 เม็ด ก็มีสิทธิ์ที่จะถูกโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือถึงประหารชีวิตได้

 

ข่าวการวิสามัญฆาตกรรมและการตัดสินประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพติดรายวันก่อนปี 2546 เป็นเสมือนสิ่งที่ทำให้สังคมไทยคุ้นเคยชาชินกับความตายของพ่อค้ายาเสพติด ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศสงครามของทักษิณเสียอีก ฉะนั้นเมื่อสงครามถูกประกาศขึ้นมันก็จบลงด้วยความตายของคน 2,500 กว่าคน คนไทยส่วนใหญ่จึงไม่ได้รู้สึกรับไม่ได้ รู้สึกเป็นเรื่องปกติ คุ้นเคยกับความตายของคนเหล่านี้มาก่อนหน้านี้แล้ว

 

สรุปคือการนำเสนอ "พิษภัย" และ "ตัวเลข" ที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของยาบ้า ที่มีลักษณะเกินจริง เป็นประเด็นสำคัญของการสร้างข้อกล่าวอ้างหรือการเล่าเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติดของไทย การรณรงค์ของภาครัฐและสื่อทำให้สังคมโดยรวมเกิดความกลัว วิตกกังวล และโกรธแค้นต่อผู้ค้ายาเสพติดมากขึ้น นำไปสู่การพร้อมที่จะสนับสนุนมาตรการเด็ดขาดเพื่อจัดการกับ "คนทรยศของชาติ"

 

และเมื่อการรณรงค์มีลักษณะทางทหารมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งแง่ของมาตรการป้องกันปราบปราม แนวคิดต่อสาเหตุของปัญหาที่มองว่าเป็นเรื่อง "ความเลว"ของบุคคล "ความโลภ" "ความไม่รักชาติ" ปัญหาศีลธรรมของปัจเจก ไม่ใช่ปัญหาในเชิงโครงสร้างของสังคม ทำให้ปัญหายาเสพติดซึ่งโดยเนื้อแท้เป็นปัญหาสังคม ถูกทำให้กลายเป็นปัญหาความมั่นคงขึ้นมา ฉะนั้นแนวทางการแก้ไขจึงต้องมีลักษณะทางทหารในทุกด้าน บุคคลสาธารณะ หน่วยงานของรัฐ และสื่อ ล้วนมีบทบาทในปฏิบัติการสงครามเพื่อต่อต้านยาเสพติดทั้งสิ้น

 

รัฐบาลทักษิณได้หยิบฉวยกระแสสังคมเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับรัฐบาลของตนเอง และเมื่อประกาศว่ามันคือสงคราม แนวทางต่างๆ จึงต้องมีลักษณะทางทหาร รัฐบาลทักษิณได้ทำให้ลักษณะทางทหารของการรณรงค์เรื่องปัญหายาเสพติดเข้มข้นขึ้น และย้ำว่ารัฐมีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับพลเมือง แม้ว่าความรุนแรงนั้นจะเป็นสิ่งที่ขาดความชอบธรรม และขัดต่อหลักกฎหมายก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท