Skip to main content
sharethis

ประชาไท - คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศให้วันที่ 23 ธันวาคม 2550 เป็นวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกา เพื่อสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนำไปสู่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาล คณะรัฐมนตรี และสมาชิกวุฒิสภาต่อไปตามลำดับ


 


การเลือกตั้งครั้งนี้กำหนดเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 แบบ คือ (1) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ (2) แบบสัดส่วน ซึ่งจะมีวิธีการลงคะแนนเสียงที่แตกต่างกัน ดังนี้


 


000


 






 


การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต


ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเท่ากับจำนวน ส.ส.ที่มีได้ในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิ เช่น มี ส.ส.ได้ 1 คนก็กา X ได้ 1 เบอร์ มี ส.ส.ได้ 2 คนก็กา X ได้ 2 เบอร์ มี ส.ส.ได้ 3 คนก็กา X ได้ 3 เบอร์


 


การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วน


ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองที่จัดบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ 1 พรรค หรือ กา X ได้ 1 เบอร์


 


 


000


 






 


เขตการเลือกตั้ง ส.ส.แบบ "แบ่งเขต"


 


ในมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบ "แบ่งเขต" มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เท่าจำนวน ส.ส.ที่มีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น ซึ่งพื้นที่ที่เป็นเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แบ่งออกเป็นจังหวัดที่เลือก ส.ส.ได้ไม่เกิน 3 คน และจังหวัดที่มี ส.ส.ได้เกิน 3 คน โดยจังหวัดใดมี ส.ส.ไม่เกิน 3 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ถ้าจังหวัดใดมี ส.ส.ได้เกิน 3 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง และจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวน ส.ส.3 คน


 


กรณีที่แบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่งให้มีจำนวน ส.ส.ครบ 3 คนทุกเขตไม่ได้ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งที่มี ส.ส.เขตละ 3 คนก่อน แต่เขตที่เหลือต้องไม่น้อยกว่าเขตละ 2 คน ถ้าจังหวัดใดมีการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ 4 คน ให้แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 2 เขต เขตหนึ่งให้มี ส.ส. 2 คน หรือถ้ามี ส.ส.ได้ 5 คน ก็แบ่งเป็น 2 เขต โดยเขตหนึ่งมี ส.ส.ได้ 3 คน อีกเขตหนึ่งมี ส.ส.ได้ 2 คน เป็นต้น


 


จังหวัดที่เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ไม่เกิน 3 คน โดยพื้นที่ทั้งจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวนทั้งสิ้น 31 จังหวัด ดังนี้


 


1.จังหวัดกระบี่


2.จังหวัดจันทบุรี


3.จังหวัดชัยนาท


4.จังหวัดชุมพร


5.จังหวัดตราด


6.จังหวัดตาก


7.จังหวัดนครนายก


8.จังหวัดน่าน


9.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


10.จังหวัดปราจีนบุรี


11.จังหวัดพะเยา


12.จังหวัดพังงา


13.จังหวัดพัทลุง


14.จังหวัดเพชรบุรี


15.จังหวัดแพร่


16.จังหวัดภูเก็ต


17.จังหวัดมุกดาหาร


18.จังหวัดแม่ฮ่องสอน


19.จังหวัดยะลา


20.จังหวัดระนอง


21.จังหวัดลำพูน


22.จังหวัดสตูล


23.จังหวัดสมุทรสงคราม


24.จังหวัดสมุทรสาคร


25.จังหวัดสระแก้ว


26.จังหวัดสิงห์บุรี


27.จังหวัดหนองบัวลำภู


28.จังหวัดอ่างทอง


29.จังหวัดอำนาจเจริญ


30.จังหวัดอุตรดิตถ์


31.จังหวัดอุทัยธานี


 


จังหวัดที่เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตได้มากกว่า 3 คน มีจำนวนทั้งสิ้น 45 จังหวัด (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การเลือกตั้งแบบแบ่งแขตเลือกตั้งในจังหวัดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน 3 คน)


 


1. ลพบุรี


2. ฉะเชิงเทรา


3. ตรัง


4. นครพนม


5. ปัตตานี


6. พิจิตร


7. ยโสธร


8. ระยอง


9. เลย


10.สระบุรี


11.สุโขทัย


12.กาญจนบุรี


13.กำแพงเพชร


14.นครปฐม


15.นราธิวาส


16.พระนครศรีอยุธยา


17.พิษณุโลก


18.ราชบุรี


19.ลำปาง


20.สุพรรณบุรี


21.กาฬสินธุ์


22.นนทบุรี


23.ปทุมธานี


24.เพชรบูรณ์


25.มหาสารคาม


26.สุราษฎร์ธานี


27.หนองคาย


28.ชัยภูมิ


29.นครสวรรค์


30.สกลนคร


31.สมุทรปราการ


32.ชลบุรี


33.เชียงราย


34.ร้อยเอ็ด


35.สงขลา


36.ศรีสะเกษ


37.สุรินทร์


38.นครศรีธรรมราช


39.บุรีรัมย์


40.อุดรธานี


41.ขอนแก่น


42.เชียงใหม่


43.อุบลราชธานี


44.นครราชสีมา


45.กรุงเทพมหานคร


 


การนับคะแนนจะต้องดำเนินการที่หน่วยเลือกตั้ง และให้ส่งผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งนั้นไปรวมที่เขตเลือกตั้ง เพื่อนับคะแนนรวม แล้วให้ประกาศผลการนับคะแนนโดยเปิดเผย ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งแต่เพียงแห่งเดียวในเขตเลือกตั้งนั้นตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด เว้นแต่เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเฉพาะท้องที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดให้นับคะแนนรวมผลการนับคะแนน และประกาศผลการนับคะแนนเป็นอย่างอื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา


 


 


000


 






 


การเลือกตั้ง ส.ส.แบบ "สัดส่วน"


 


มาตรา 95 ระบุว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกพรรคการเมือง ที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ 1 เสียง


 


พรรคการเมืองหนึ่งจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนทุกเขตเลือกตั้งหรือจะส่งเพียงบางเขตเลือกตั้งก็ได้


 


ทั้งนี้ การกำหนดเขตเลือกตั้งสำหรับ ส.ส.แบบสัดส่วน ให้จัดแบ่งพื้นที่ประเทศออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด ให้แต่ละกลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยแต่ละเขตเลือกตั้งให้มี ส.ส.ได้ 10 คน และการจัดกลุ่มจังหวัดให้จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันอยู่ในกลุ่มจังหวัดเดียวกัน และในกลุ่มจังหวัดทุกกลุ่มจังหวัดต้องมีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกัน โดยให้จังหวัดทั้งจังหวัดอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน


 


พรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด ต้องส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งให้ครบจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น เช่น ถ้าเขตนั้นมี ส.ส.ได้ 3 คน ก็จะต้องส่งผู้สมัครครบ 3 คน จะส่งเพียง 1 คนหรือ 2 คนหรือจะส่งเกินกว่า 3 คนไม่ได้ พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกเขตเลือกตั้งหรือจะส่งเพียงบางเขตเลือกตั้งก็ได้


 


บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนต้องไม่ซ้ำกับรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งและต้องคำนึงถึงโอกาส สัดส่วนที่เหมาะสมและความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย


 


 


 


000


 






 


การคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ในแต่ละเขตเลือกตั้ง


1.ให้คำนวณเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน โดยคำนวณจากจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสี่ร้อยคน


 


2.จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตาม (1) ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้หนึ่งคน จังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน


 


3. เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดตาม (2) แล้ว ถ้าจำนวนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรที่คำนวณได้ยังไม่ครบสี่ร้อยคน ให้จังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณตาม (2) มากที่สุด มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่มจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณตาม (2) ในลำดับรองลงมาตามลำดับ จนได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบสี่ร้อยคน


 


4. การกำหนดเขตเลือกตั้งให้ดำเนินการโดยจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกินสามคน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินสามคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งโดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามคน


 


5. ในกรณีที่แบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่งให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบสามคนทุกเขตไม่ได้ ให้แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็นเขตเลือกตั้งที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตละสามคนเสียก่อน แต่เขตที่เหลือต้องไม่น้อยกว่าเขตละสองคน ถ้าจังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สี่คน ให้แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็นสองเขตเขตหนึ่งให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสองคน


 


6. จังหวัดใดมีการแบ่งเขตเลือกตั้งมากกว่าหนึ่งเขต ต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน


 


 


 


000


 






 


จำนวน ส.ส.


รวมทั้งสิ้น 480 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนอีก 80 คน


 


ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ที่ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวน ส.ส.ไม่ถึง 480 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 456 คน ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มี ส.ส.ให้ครบจำนวนภายใน 180 วัน และให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของ ส.ส.ที่เหลืออยู่


 


 


 


000


 






 


คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.


 


(1) มีสัญชาติไทย ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี


(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง


(3) มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง


 


ในวันเลือกตั้ง ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้


(1) วิกลจริต หรือ จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ


(2) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช


(3) ต้องคุมขัง โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย


(4) อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง


 


 


000


 






 


หลักฐานที่ต้องใช้ในการลงคะแนนเลือกตั้ง


4.1 บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ


4.2 ใบรับคำขอมีบัตรหรือเปลี่ยนบัตรใหม่ที่ติดรูปถ่ายและประทับตราเจ้าหน้าที่ (ใบเหลือง)


4.3 ใบแทนใบรับคำขอมีบัตรที่ติดรูปถ่าย และประทับตราเจ้าหน้าที่ (ใบชมพู)


4.4 บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับบำเหน็จบำนาญ


4.5 ใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยกรมการขนส่งทางบก (ใบขับขี่) ที่มีหมายเลขประจำตัวประชาชนและรูปถ่าย


4.6 หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีหมายเลขประจำตัวประชาชนและรูปถ่าย


 


 


000


 






 


การลงคะแนนล่วงหน้า


ถ้าผู้ใช้สิทธิ์ไปเลือกตั้งในวันเลือกตั้งไม่ได้ สามารถไป "เลือกตั้งล่วงหน้า" ได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัด มีทุกจังหวัด อย่างน้อย 1 แห่ง เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดที่ตนมีชื่อตามทะเบียนบ้านไ้้ด้ สามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า โดยไม่ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่ต้องยื่นคำร้องขอลงทะเบียนก่อน ด้วยการขอรับแบบพิมพ์ลงทะเบียน และนำไปยื่นต่อนายอำเภอ ปลัดเทศบาล และ ผอ.เขตของ กทม.ในจังหวัดที่อาศัยอยู่ด้วยตนเอง หรือถ้าจะส่งทางไปรษณีย์ก็ได้ หรือทำหนังสือมอบหมายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปดำเนินการแทนก่อนวันลงคะแนนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน


 


การลงคะแนนล่วงหน้าต้องใช้หลักฐาน คือ สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ มีหมายเลขประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือรับรองสถานที่อยู่ปัจจุบันจากบริษัท นายจ้าง สถานศึกษา หรือผู้ให้เช่าบ้าน ฯลฯ (กรณีที่ย้ายทะเบียนบ้านมาแล้ว แต่ไม่ถึง 90 วัน ไม่ต้องมีหนังสือรับรองนี้) พร้อมซองเปล่าติดแสตมป์จ่าหน้าซองถึงตนเอง เพื่อรอคำตอบรับจากอำเภอ หรือ เทศบาล หรือเขต


 


ถ้าผู้ลงคะแนนล่วงหน้าในครั้งนี้ ต้องการกลับไปลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะต้องแจ้งขอเปลี่ยนแปลงการลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอหรือเทศบาลหรือเขตที่ได้เคยแจ้งไว้ ถ้าไม่ไปแจ้ง ชื่อผู้ใช้ิสิทธิ์ลงคะแนนล่วงหน้าจะยังปรากฏในทะเบียนผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดอยู่ ซึ่งในการลงคะแนนล่วงหน้านอกเขตจังหวัดนี้ กกต.จะจัดให้เฉพาะในการเลือกตั้งทั่วไปของ ส.ส. และ ส.ว.เท่านั้น


 


*ผู้ที่ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว ไม่สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้งในวันเลือกตั้งเป็นการซ้ำสองได้ เพราะจะได้รับโทษตามกฎหมาย*


 


 


000


 






 


การลงคะแนนเลือกตั้งในต่างประเทศ


 


ในการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. เป็นการทั่วไป กกต. จัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร ดังนี้


 


(1) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของแต่ละประเทศ ต้องขอลงทะเบียนไว้ก่อน


(2) ไปลงคะแนนล่วงหน้า ณ สถานทูต สถานกงสุลหรือที่เลือกตั้งกลางในประเทศนั้น


(3) เอกอัครทูตหรือกงสุลใหญ่ อาจจัดให้มีการลงคะแนนล่วงหน้าทางไปรษณีย์ ในกรณีที่มีผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศนั้นน้อยกว่า 500 คน หรือในกรณีที่การเดินทางไม่สะดวกหรือมีความจำเป็นอื่น


 


 


000


 






 


การแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง


 


กรณีที่มีเหตุจำเป็นทำให้ไปเลือกตั้งไม่ได้ เช่น มีธุระจำเป็นเร่งด่วนสำคัญต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกลจากที่เลือกตั้ง หรืออาศัยอยู่ไกลจากหน่วยเลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร และไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้ หรือ เจ็บป่วย พิการ สูงอายุ จนทำให้ไม่อาจเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ สามารถแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ อย่างช้าภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง ดังนี้


 


() ขอรับและยื่นหนังสือแจ้งเหตุ (ส.ส.30) ได้ที่นายอำเภอ ปลัดเทศบาลหรือ ผอ.เขตของ กทม. ด้วยตนเองหรือมอบหมายผู้อื่นไปยื่นแทนหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน


 


() กกต. จะประกาศรายชื่อผู้ที่ไม่ไปเลือกตั้ง และไม่แจ้งเหตุล่วงหน้าไว้ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน อบต. ฯลฯ เพื่อให้โอกาสไปแจ้งเหตุอีกครั้งหนึ่งภายใน 60 วันนับแต่วันประกาศรายชื่อ ถ้าครั้งนี้ไม่ไปแจ้งเหตุอีกจะประกาศชื่อเป็นครั้งที่สองและต้องเสียสิทธิทางการเมือง 8 ประการ จนกว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. ในครั้งต่อไป โดยสิทธิทางการเมือง 8 ประการที่เสียไป ได้แก่


 


1. สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ส.ก. ส.อบจ. ส.ท. ส.อบต. และ ส.เมืองพัทยา รวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่น เช่น นายก อบต. นายกเทศมนตรี นายก อบจ. นายกเมืองพัทยา และผู้ว่าฯ กทม. (ถ้าเห็นว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง)


2. สิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเห็นว่าการเลือกไม่สุจริต


3. สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น


4. สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน    


5. สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย


6. สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้ ส.ว. มีมติถอดถอนบุคคลในตำแหน่งสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต


7. สิทธิเข้าชื่อขอให้สภาท้องถิ่น เช่น สภา อบต. สภาเทศบาล พิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น


8. สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น


 


 


000






 


การกระทำที่เป็น "การทุจริตเลือกตั้ง"


 


1.ห้ามจัดทำ/ให้/ เสนอให้/ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด รวมทั้งการให้เงินหรือสิ่งของในวาระต่างๆ เช่นงานวันเกิดงานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญ งานเทศกาล งานศพ เป็นต้น


 


2.ห้ามจัดทำ/ให้/ เสนอให้/ สัญญาว่าจะให้ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ เช่น การบริจาคเงิน การประมูลทรัพย์สิน หรือสิ่งของในงานกุศลต่างๆ


 


3.ห้ามทำการโฆษณาหาเสียง ด้วยการจัดให้มีมหรสพ หรือการรื่นเริงต่างๆ รวมทั้งการแสดงหรือการละเล่นอื่นๆ


 


4.ห้ามเลี้ยงหรือรับจัดเลี้ยงผู้ใด รวมถึงการจัดเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงการประชุม อบรมสัมมนา ทัศนศึกษาดูงาน เป็นต้น


 


5.ห้ามหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคามใส่ร้าย หรือจูงใจให้เข้าใจผิด ในเรื่องใดอันเกี่ยวกับผู้สมัครใด


 


6.ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง


 


7.ห้ามอาศัยตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง


 


8.ห้ามโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีทา พ่น หรือระบายสีซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ หรือโดยวิธีการปิดประกาศ ณ ที่รั้ว กำแพง ผนัง อาคาร สะพาน เสาไฟฟ้า หรือต้นไม้ บรรดาซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการ หรือ ณ บริเวณที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินมิได้อนุญาต เว้นแต่เป็นการปิดประกาศโฆษณาในสถานที่ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองกำหนด


 


9.ห้ามเล่นหรือจัดให้มีการเล่นพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง


 


10.ห้ามรวบรวมบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นที่ใช้แสดงตนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้อื่นตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ในระหว่างวันประกาศให้มีการเลือกตั้งถึงวันถัดจากวันเลือกตั้ง


 


11.การโฆษณาหาเสียงโดยการกล่าวถึงนโยบายในการที่จะเข้าไปบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้กระทำได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นงานที่ได้กำหนดว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย และการดำเนินงานตามนโยบายนั้นจะต้องใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมีความเป็นไปได้จริง โดยพิจารณาถึงงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ


 


12.กรณีที่ผู้สมัครขึ้นป้ายหาเสียงโดยมีชื่อพร้อมรูปภาพของ ส.ส.และข้อความ "ขอสนับสนุนผู้สมัครกลุ่ม…… เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น" นั้น ไม่เป็นการกระทำฝ่าฝืนลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง วิธีการหรือลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งฯ แต่ข้อความดังกล่าว หากไม่เป็นความจริง ก็อาจเป็นความผิด ตามมาตรา 57 (5) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภา ท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ. ศ.2545 ประกอบข้อ 3 (5) ของประกาศคณะกรรมการการ เลือกตั้ง เรื่อง วิธีการหรือลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งฯได้


 


13.ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดจัดทำป้ายโฆษณาหรือแผ่นปลิวหาเสียงที่มีลักษณะหรือภาพเหมือนบัตรเลือกตั้ง รวมทั้งห้ามแสดงการลงคะแนนของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดลงในเอกสารหรือตัวอย่างบัตรที่ทำขึ้น ผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 -200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี


 


14.ห้ามมิให้ผู้สมัครจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งเพื่อการเลือกตั้งหรือนำกลับจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งเพื่อการเลือกตั้งหรือนำกลับจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือกลับจากที่เลือกตั้งโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ


ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไปลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครผู้ใด (บทบัญญัติในวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่การที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง)


ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี


 


15.ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดๆ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร นับตั้งแต่เวลา 18.00 นาฬิกาของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง


 


16.ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี


 ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกลั่นแกล้งให้ผู้สมัครนั้นถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง หรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี


ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสน 4 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 20 ปี


ถ้าการกระทำตามวรรคสองหรือวรรคสามเป็นการกระทำ หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจของหัวหน้าพรรคการเมือง ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง


 


17.ผู้ใดขาย/ จำหน่าย/ จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกาของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


 


18.การเรียก รับ หรือยอมจะรับเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่ได้แจ้งต่อ กกต.หรือ กกต.จังหวัด อย่างช้าในวันเลือกตั้งไม่ต้องรับโทษ


 


19ใการจงใจทำลายบัตรเลือกตั้งให้ชำรุดเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย หรือทำบัตรเสียให้เป็น บัตรที่ใช้ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี


 


20.ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวาง หน่วงเหนี่ยวหรือไม่ให้ความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควรในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


 


21.ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี


 


 


 


ข้อมูลจาก: เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net