Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาทุจริตฯ ยกคำร้องของ ‘ทรู’ ให้ ‘พิรงรอง’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ กสทช. เนื่องจากไม่พบการกระทำเป็นปฏิปักษ์กับทรูจึงไม่มีเหตุผลพอที่จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างพิจารณาคดีที่ทรูฯ ฟ้องพิรงรองในข้อหาตาม ม.157 แต่หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงศาลอาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

เมื่อวานนี้ (14 พ.ค.2567) ประชาชาติธุรกิจและสำนักข่าวอื่นๆ ได้รายงานข่าวถึงคำตัดสินของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม TrueID ยื่นฟ้อง พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างที่ยังพิจารณาคดีการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

การฟ้องของบริษัททรูฯ มาจากกรณี กสทช. ดำเนินการให้สำนักงานออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุ 127 แห่งให้ตรวจสอบการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านการให้บริการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Internet TV Box) และแอพพลิเคชั่น True ID เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ โดยทางฝ่ายทรูฯ ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดว่าโจทก์กระทำผิดกฎหมาย จนอาจถูกระงับเนื้อหารายการที่ได้ส่งไปออกอากาศ และทรูฯ เห็นว่าการกระทำดังกล่าว มีพฤติการณ์ที่แสดงถึงความมีอคติและความไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ตามรายงานข่าวระบุว่า ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ตัดสินให้ยกคำร้องของทรูฯ เนื่องจากยังไม่สามารถรับฟังได้ว่าพิรงรองมีการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับทรูฯ หรือกลุ่มบริษัทของโจทก์ จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะสั่งให้พิรงรองยุติการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลอาจสั่งเป็นอย่างอื่น พิรงรองจึงยังปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช.ต่อได้

ทั้งนี้ในวันเดียวกัน มีการรายงานข่าวจากทางด้านบริษัททรูฯ ด้วยเช่นกันว่ายอมรับคำตัดสินของศาล แต่การฟ้องครั้งนี้เป็นไปตามปกติเพื่อรักษาสิทธิเพราะทางบริษัทได้รับความเสียหายจากกรรมการบางคนบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อนักลงทุน ผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค และพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นยังส่อเจตนากลั่นแกล้ง แสดงถึงอคติและความไม่เป็นกลางและจากการไต่สวนทั้งพยานบุคคลและเอกสารก็ได้แสดงให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลพอที่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณา

ทั้งนี้ในข่าวระบุว่า ทางบริษัทยังขอสงวนสิทธิ์ไม่แสดงความเห็นใดๆ เนื่องจากคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและเป็นอำนาจของศาลในการพิจารณาพิพากษาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับคำฟ้องของบริษัททรูฯ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2567 ที่ตัวแทนของบริษัทคือ วิศิษย์ศักดิ์ อรุณสุรัตน์ภักดี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพิรงรอง เป็นจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในฐานะที่พิรงรองเป็นคณะกรรมการ กสทช. และเป็นคณะอนุกรรมการที่รับการแต่งตั้งจาก กสทช.

การฟ้องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก กสทช.แจ้งถึงผู้รับใบอนุญาตจำนวน 127 รายให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต จากกรณีที่ กสทช.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ประสบปัญหาการรับชมรายการของช่องโทรทัศน์ดิจิทัลผ่าน Internet TV Box และแอปพลิเคชัน True ID ที่มีโฆษณาคั่นเวลา ขณะเปลี่ยนช่องรายการทำให้ผู้ชมได้รับความเดือดร้อน และทางสำนักงาน กสทช. ได้ส่งต่อให้คณะอนุกรรมการฯ ที่พิรงรองเป็นประธาน

ภายหลังคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าการให้บริการที่นำเอาช่องรายการโทรทัศน์ดิจิทัลของผู้รับใบอนุญาตทั้งช่องไปเผยแพร่ทางบริการ TrueID อาจขัดต่อประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 14 (23) และเงื่อนไขใบอนุญาตของผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิทัล ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตตามประกาศดังกล่าว ต้องเผยแพร่ช่องรายการของตนเองผ่านทางผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายจาก กสทช. เท่านั้น และยังอาจขัดต่อประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการช่องรายการ และผู้ให้บริการโครงข่ายต้องนำพาสัญญาณไปโดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ

เมื่อมีผลพิจารณาแล้วก็ได้ให้ทางสำนักงาน กสทช.มีหนังสือแจ้งต่อผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิทัลให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช.และเงื่อนไขโดยเครงครัด เนื่องจาก TrueID ยังไม่ได้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการ IPTV จาก กสทช.จึงไม่ได้สิทธิตามประกาศ Must Carry ด้วย

ทั้งนี้ทางบริษัททรูฯ เห็นว่า กสทช.ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมการให้บริการภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เนต(OTT) การให้บริการของบริษัทจึงไม่ต้องขอรับอนุญาต แต่จำเลยได้ให้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้รับใบอนุญาตทั้ง 127 ราย ทั้งที่จำเลยเป็นคณะอนุกรรมการฯ มีหน้าที่ต้องนำมติที่ประชุมเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช.เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อแต่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่และไม่เป็นกลาง

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้พิรงรองได้ชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยว่า ทางคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาและให้ความเห็นอย่างรอบด้านโดยอสิระก่อนมีมติให้สำนักงาน กสทช.ดำเนินการแจ้งผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิทัลให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช.และเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต และการกระทำดังกล่าวก็มุ่งหมายหาแนวทางแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคตามี่ได้รับการร้องเรียนมาและเพื่อให้มีการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย และให้ผู้ได้รับอนุญาตได้ตรวจสอบและป้องกันตนเองไม่ให้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์เนื้อหารายการอีกด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net