Skip to main content
sharethis

‘ชัยธวัช’ แถลงต่อสื่อถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมฯ และข้อเสนอส่วนตัวถึงฝ่ายบริหาร ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนต่อ ตร.ในคดีการเมือง และใช้ช่องทาง ม. 21 พ.ร.บ.อัยการ ให้อัยการไม่ส่งฟ้อง


2 พ.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก The reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (2 พ.ค.) ตั้งแต่เวลา 15.51 น. เป็นต้นมา หลังจากชูศักดิ์ ศิรินิล สมาชิกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ แถลงต่อสื่อหลังประชุม กมธ.เสร็จสิ้นแล้ว ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ขึ้นมาแถลงต่อสื่อมวลชน 2 ประเด็นหลัก คือความก้าวหน้าเรื่องการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม และ ข้อเสนอส่วนตัวระหว่างสุญญากาศกฎหมายนิรโทษกรรมฯ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ชัยธวัช กล่าวว่า เรื่องนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง อยากย้ำว่าเรื่องที่มีนัยสำคัญก็คือการมีความเห็นว่า กมธ.มีความเห็นว่าเราน่าจะใช้แนวทางในการตั้ง คณะกรรมการเพื่อมาพิจารณาคดีที่จะนิรโทษกรรม แทนที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมในการกำหนดฐานความผิด หรือคดีใดคดีหนึ่ง หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นการเฉพาะ เพราะแนวทางออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยกำหนดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นการเฉพาะ ฐานความผิดใดความผิดหนึ่ง คดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะ ไม่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงของลักษณะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่สืบเนื่องมาจากปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีคดีความเยอะแยะมาก เนื่องจากมีฐานความผิดหลากหลายและซับซ้อน ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าต้องมีการใช้กลไกขึ้นมาพิจารณา ซึ่งหลังจากนี้ กมธ.จะพิจารณาว่า ถ้าจะใช้รูปแบบคณะกรรมการ พิจารณา ที่มา องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควรจะเป็นอย่างไร รวมถึงควรมีคดีความหรือฐานความผิดประเภทใดไหมที่ควรจะมีการยกเว้นที่จะไม่นิรโทษกรรมหรือนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข ประเด็นนี้จะมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีที่มีข้อยุติในเรื่องนี้

ข้อเสนอช่วงระหว่างยังไม่มี กม.นิรโทษกรรมคดีการเมือง

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัว โดยในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งไม่เกี่ยวกับ กมธ.นิรโทษกรรมฯ เราเห็นสถานการณ์คดีทางการเมืองไม่ได้ดีขึ้นมากนัก มองว่าฝ่ายบริหารในขณะที่สภาฯ ยังไม่ได้พิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม มันมีมาตรการ หรือกลไกที่ฝ่ายบริหารทำได้ ที่รัฐบาลควรพิจารณาเพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมือง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประชาชนคาดหวังหลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่ ที่นายกฯ ไม่ได้มาจากคณะรัฐประหาร

ชัยธวัช กล่าวว่า ควรมีแนวทางที่ชัดเจนในฝ่ายตำรวจ โดยแนวทางปฏิบัติต่อประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองที่ควรต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน เคารพกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด หรือไม่ควรใช้อำนาจนอกกฎหมาย พยายามที่จะไม่ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเข้มงวดจนตึงเกินไป จนมีคดีความมากขึ้น หรือประเภทที่ว่ามีการไปแจ้งความตั้งข้อกล่าวหากับประชาชนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต และกลับมาแจ้งข้อกล่าวหาใหม่หรือเพิ่มเติม มันไม่ควรจะเกิดขึ้น

ชัยธวัช ระบุว่า รัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจนว่า คดีความทางการเมืองและคดีความที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง หรือแสดงความเห็นต่างทางการเมือง ควรมีนโยบายอย่างไร ควรมีการกลั่นกรอง ไม่ควรมีการฟ้องร้องดำเนินคดีหากไม่ได้เป็นกรณีที่ไม่สมควรกว่าเหตุ หรือรุนแรงเกินไปอย่างนี้เป็นต้น เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง

ใช้ พ.ร.บ.อัยการ มาตรา 21 ให้อัยการไม่สั่งฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ

ชัยธวัช กล่าวต่อว่า ขณะที่คดีที่ยังไม่ขึ้นสู่ชั้นศาล รัฐบาล โดย ครม. สามารถมีมติ ส่งความเห็นไปยังอัยการได้ เพราะ มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.อัยการ สามารถที่จะไม่สั่งฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือเป็นคดีนโยบายได้ จริงๆ ประเด็นนี้ก็มีการพูดถึงอยู่ใน กมธ.นิรโทษกรรมฯ ว่าฝ่ายบริหารสามารถใช้ช่องทางนี้ได้ เพราะว่าแม้แต่อัยการที่เข้ามานั่งเป็น กมธ.อยู่ ก็เสนอว่าฝ่ายบริหารควรจะพิจารณาเรื่องนี้เพื่อส่งสัญญาณไปยังอัยการ เพื่อให้อัยการสามารถใช้ช่องทางตาม ม.21 ในการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้ 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net